xs
xsm
sm
md
lg

“สุรชัย” แจงการถอดถอน “นิคม-สมศักดิ์” เริ่มหลังปีใหม่ เหตุ สนช.เร่งดัน กม.สำคัญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย (แฟ้มภาพ)
รองประธาน สนช.แจงขั้นตอนพิจารณาถอดถอน “นิคม” เริ่ม 27 พ.ย.เจ้าตัวแถลงเหตุผลขอเพิ่มพยาน ก่อนที่ ปงป.ช.จะแถลงคัดค้านหรือไม่ ส่วนกระบวนการถอดถอนเริ่มหลังปีใหม่ เพราะ สนช.ต้องการผลักดันกฎหมายสำคัญให้เสร็จในเดือน ธ.ค. ส่วนการตั้ง กมธ.ศึกษาร่างแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช. เหตุไม่ได้ผ่านขั้นตอน ครม. กฤษฎีกา ต้องพิจารณาให้รอบคอบ

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการพิจารณาสำนวนถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.โดยมิชอบด้วยกฎหมายในวันพรุ่งนี้ (27 พ.ย.) ว่าจะมีการแยกพิจารณาเป็น 2 สำนวน เริ่มจากกรณีที่นายนิคมยื่นให้มีการสอบพยานเพิ่มเติม โดยจะให้ผู้ถูกกล่าวหาแถลงเหตุผลที่ขอระบุพยานเพิ่ม เท่าที่ทราบนายนิคมจะเดินทางมาด้วยตนเอง แต่ถ้าจะให้คนอื่นแถลงแทนต้องมีหนังสือมอบอำนาจที่ชัดเจน จากนั้นให้ ป.ป.ช.แถลงว่าจะคัดค้านหรือไม่ ก่อนที่สมาชิกจะตัดสินใจลงมติเป็นรายประเด็นว่าเข้าหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.และข้อบังคับของ สนช.ที่กำหนดว่าต้องเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่ ป.ป.ช.ไม่ทราบว่ามีอยู่ หรือทราบว่ามีแต่ ป.ป.ช.ไม่อนุญาต หากเข้าตามหลักเกณฑ์ก็ต้องอนุญาตให้มีการเพิ่มเติมพยานหลักฐานเข้ามา

นายสุรชัยให้เหตุผลที่กำหนดการแถลงเปิดสำนวนคดีในเดือน ม.ค.ว่า เป็นเพราะ สนช.ต้องการผลักดันกฎหมายสำคัญให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม เช่น กฎหมายภาษีการให้ ภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และกฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะ ดังนั้นเรื่องการถอดถอนจึงเห็นว่าควรจะเริ่มหลังปีใหม่

ส่วนที่ วิป สนช.มีมติตั้งกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ป.ป.ช.ก่อนที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมนั้น นายสุรชัย กล่าวว่า เป็นเพราะกฎหมายดังกล่าวไม่ได้เสนอโดย ครม. ทำให้ไม่ผ่านการให้ความเห็นของกฤษฎีกา วิปรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ ป.ป.ช.ใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เสนอมายัง สนช.ในฐานะเป็นองค์กรอิสระที่รักษาการกฎหมายส่งเข้ามา ซึ่งเป็นช่องทางที่ไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาของ ครม. วิปรัฐบาลและกฤษฎีกา เป็นช่องทางลัด วิป สนช.เห็นว่ามีประเด็นแก้ไขมากจึงตั้งกรรมาธิการฯเพื่อรับฟังความเห็นหน่วยงานทีเกี่ยวข้องโดยเฉพาะหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ตกผลึกก่อน โดยใช้เวลา 30 วัน จากนั้นส่งข้อมูลให้ สนช.พิจารณาในวาระที่ 1

“การตั้งกรรมาธิการฯพิจารณาไม่ได้ทำให้เกิดความล่าช้าเพราะถ้าส่งไปที่ ครม.ก็จะมีกระบวนการอีกหลายขั้นตอนกว่าที่จะส่งมายัง สนช. แต่องค์กรอิสระส่งมา สนช. เป็นทางลัด สนช.ก็สามารถทำกระบวนการที่ทำให้ประเด็นชัดเจนเพื่อลดเวลาการอภิปรายวาระ 1 ลง จึงถือว่าช้าเร็วคนละขั้นตอนกัน แต่การแก้กฎหมาย ป.ป.ช.สามารถทำได้เลยไม่จำเป็นต้องรอให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จก่อน เพราะหลังจากมีรัฐธรรมนูญใหม่แล้วหากมีประเด็นใดไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญก็สามารถแก้ไขใหม่ได้ เป็นหน้าที่ของ สปช.จะพิจารณา”


กำลังโหลดความคิดเห็น