ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ว่าด้วยเรื่องของสัตว์เลี้ยง หลายวันก่อน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบในวาระ3 ผ่าน ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ... ด้วยคะแนน 188 ต่อ 1 งดออกเสียง 4 เสียง โดยร่างดังกล่าวมีสาระสำคัญเพื่อคุ้มครองสัตว์มิให้ถูกทารุณกรรม อีกทั้งจะต้องมีการจัดสวัสดิภาพให้แก่สัตว์ ให้มีความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับสภาวะของสัตว์แต่ละชนิด และเป็นการป้องกันมิให้ใช้ข้ออ้างการทารุณกรรมสัตว์เป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ จะมีประกาศเป็นกฎหมายในเร็วๆนี้
หลังจากมีการผลักดัน จากองค์กรเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ต่าง ๆ กว่า 10 องค์กร นำรายชื่อประชาชน114,000 คน ที่เรียกร้องให้ สนช. ออกกฎหมายคุ้มครองสัตว์ผ่าน www.change.org/protectanimals
“กฎหมายฉบับนี้มีการปรับปรุงแก้ไขในหลายมาตราให้ดีขึ้นกว่าร่างเดิมมาก รวมถึงนิยามสัตว์ที่สามารถครอบคลุมสัตว์ป่าที่ใช้ในการจัดแสดงและที่อยู่ในธรรมชาติ”
กฎหมายฉบับนี้ยังมีบทลงโทษที่รุนแรงกว่าเดิม และยังครอบคลุมสัตว์มากประเภทขึ้น ทั้งสัตว์ป่า และสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม
ขณะที่บทลงโทษผู้ที่กระทำการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร จะได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตั้งแต่ 1 ถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 หมื่นบาท ถึง 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยได้เว้นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
อีกด้านเป็นสัตว์เลี้ยงในปศุสัตว์เพื่อการค้า โดยเมื่อวันอังคารที่ 18 พ.ย.57 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบกฎกระทรวงฉบับหนึ่งเกี่ยวกับสัตว์เช่นกัน
เป็น “ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยโรคระบาดสัตว์เพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …” เสนอโดยกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ เป็นการขยายบัญญัติให้กับโรคระบาดที่เกิดจากสัตว์
กระทรวงเกษตรฯ ชี้แจงต่อ ครม.ว่า จากเดิมพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499 มาตรา 4 วรรคสอง ที่บัญญัติให้โรคระบาด (เป็นศัพท์เฉพาะ)ซึ่งประกอบไปด้วย โรครินเดอร์เปสต์ โรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย โรคแอนแทรกซ์ โรคเซอร่า โรคสารติก โรคมงคล่อพิษ โรคปากและเท้าเปื่อย โรคอหิวาต์สุกรและโรคอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ต่อมาได้มีการออกกฎกระทรวงว่าด้วยโรคระบาดสัตว์เพิ่มเติม พ.ศ. 2554 กำหนดโรคระบาดสัตว์เพิ่มเติม รวม 69 ชนิด
ขณะที่ ในปัจจุบันได้รับรายงานว่ายังมีการระบาดของโรคอื่น ๆ นอกจากที่กำหนดไว้ข้างต้น พบว่า สถานการณ์การระบาดของโรคมีความรุนแรงและกระทบต่ออุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ และบางโรคส่งผลต่อความปลอดภัยของมนุษย์เนื่องจากเป็นโรคสัตว์ติดต่อสู่คนและมีการแพร่ระบาดจากคนสู่คน
และที่ส่งผลกระทบและสามารถเห็นได้ชัดเจน คือ การระบาดของโรคตับวายเฉียบพลัน (AHPND) ในกุ้งทะเล การระบาดของโรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (PED) และการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในลิง
ประเทศไทยจึงสมควรกำหนดให้โรคดังต่อไปนี้ รวม 7 ชนิด เป็นโรคระบาดสัตว์เพื่อให้สามารถนำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 มาดำเนินการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้สามารถขอการรับรองสถานภาพปลอดโรคจากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organisation for Animal Health : OIE) ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกได้ด้วย
โรคระบาดสัตว์ 7 ชนิดประกอบไปด้วย
1. โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร Porcine Epidemic Diarrhea (PED) มีการระบาดของโรคดังกล่าวในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร เนื่องจากเชื้อไวรัส PEDVทำให้เกิดโรคในสุกรได้ทุกช่วงอายุมีอัตราการป่วยได้ถึงร้อยละ 100 มีการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในลูกสุกรอายุต่ำกว่า 3 สัปดาห์ จะแสดงอาการรุนแรงมีอัตราการตายสูงถึงร้อยละ 50-100 ซึ่งลูกสุกรมักตายภายใน 2-7 วัน หลังจากแสดงอาการ ทำให้เกิดความสูญเสียในการผลิตสุกร
2.โรค Peste des Petits Ruminants (PPR) ในแพะ แม้ประเทศไทยได้รับการรับรองสถานภาพปลอดโรค PPR จากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) แต่เนื่องจากมีรายงานการระบาดของโรคดังกล่าวในประเทศเพื่อนบ้านและประเทศใกล้เคียง เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าว
3. โรค Contagious Bovine Pleuropneumonia (CBPP) ในโค เป็นโรคที่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ให้การรับรองสถานภาพปลอดโรค ซึ่งประเทศสมาชิกที่ต้องการได้รับการรับรองสถานภาพปลอดโรค จะต้องแสดงข้อมูลเฝ้าระวังโรคทั้งทางอาการและทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงข้อมูลในด้านการป้องกันและควบคุมโรค
4. โรคตับวายเฉียบพลัน (Acute Hepatopancreatic Necrosis Disease (AHPND) มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชนิด Vibrio parahaemolyticus ในกุ้งทะเล ซึ่งพบการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลของไทย ทำให้ผลผลิตกุ้งทะเลมีปริมาณลดน้อยลงและ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกกุ้งทะเลของไทย ซึ่งมีมูลค่านับแสนล้านบาท
5. โรค African Swine Fever (ASF) ซึ่งยังคงมีรายงานการระบาดอยู่ในต่างประเทศ และเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากเกิดการอุบัติของโรคขึ้นในประเทศไทย และเพื่อขอการรับรองสถานะปลอดโรค ASF จากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE)
6. โรคบลูทัง (Bluetongue) เนื่องจากมีรายงานการเกิดโรคในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริการ ยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย และในช่วงที่ผ่านมาได้มีการนำเข้าแพะ แกะ จำนวนมาก เพื่อมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ในโครงการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงแพะ แกะ ในภาคใต้ ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่โรคจะแพร่กระจายมายังประเทศไทย
สุดท้าย 7. โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola Virus Disease) ในลิง โรคนี้จัดเป็นโรคสัตว์ติดต่อสู่คน (Zoonosis) โดยมีหลักฐานการติดเชื้อครั้งแรกเกิดจากมุนษย์ สัมผัสสัตว์ที่มีเชื้อจากสัตว์จำพวกลิงหรือค้างคาว จากนั้นได้มีการระบาดของโรคจากคนสู่คน ด้วยวิธีการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ และปัจจุบันไม่มีวิธีการรักษาที่ได้ผลทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 50 - 90 ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้ประกาศให้โรคนี้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ
ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเสนอเป็นกฎหมายให้ผลักดัน “อีโบลา”เข้าสู่พ.ร.บ.ระบาดสัตว์ 2499 ด้วย
เขียนถึง “โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา”นำข้อมูลเบื้องต้นในส่วนของประเทศไทย ที่รองรับสถานการณ์ของเชื้อที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน แม้จะมีการยีนยันว่า ยังไม่มีผู้ป่วยที่ติดเชื่อโรคนี้ในประเทศไทย ซึ่งหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบทั่วประเทศมีการเคลื่อนไหวรับมือกับบ้างแล้ว หลายสถาบันเสริมกำลังวิจัยโรคนี้อย่างเข้มข้น เช่น กระทรวงสาธารณสุขก็ดึงสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาหลายแห่งเสริมกำลังแล็บตรวจหาเชื้อ ข่าวโรงพยาบาลของรัฐ เช่น โรงพยาบาลศิริราชผลิตแอนติบอดีต้นทางสู่วัคซีน 'อีโบลา' สำเร็จครั้งแรกของไทย ในส่วนของผู้แทนอนามัยโลก ก็ได้ประเมินว่าประเทศไทยสอบผ่านในการรับมืออีโบลา
เมื่อหลายเดือนก่อน “กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์” ยังได้เปิดตัวชุดตรวจหา 'เชื้ออีโบลา' ระบุว่ารู้ผลได้ทันทีใน 5-8 ชั่วโมง แถมแม่นยำกว่า 90%
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังมีโครงการที่ได้ของบกลาง โดยเสนอ กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาของบประมาณ 57 ล้านบาท เพื่อจัดสร้างอาคารสำหรับห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 4 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มี เนื่องจากห้องระดับ 4 ต้องมีการก่อสร้างอาคารจำเพาะ เพราะเป็นห้องที่สามารถเพาะเชื้อไวรัสที่มีความรุนแรง และมีอัตราการเสียชีวิตสูง ที่สำคัญยังไม่มียาหรือวัคซีนในการป้องกันโรค
ผู้บริหารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ความเห็นไว้ว่า หากรัฐเห็นด้วยกับการก่อสร้าง ขั้นตอนต่อไปก็จะต้องมีการประชาพิจารณ์ สอบถามความคิดเห็นจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้าง เนื่องจากเรื่องนี้บางกลุ่มก็อาจไม่เห็นด้วย โดยการก่อสร้างจะต้องมีพื้นที่ภาพรวม 100 ตารางวา เป็นอาคาร 50 ตารางวา อีก 50 ตารางวา เป็นพื้นที่รอบนอก ซึ่งอาคารจะมีระบบความปลอดภัยสูง หากเกิดอุบัติเหตุ จะมีระบบป้องกันและทำลายตัวเองเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสเล็ดลอด ซึ่งไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนควรต้องมี เพราะหากเกิดการระบาดขึ้นจริง และต้องการเพาะเชื้อหรือยืนยันผลอย่างรวดเร็ว จะได้ทันการณ์ เพราะหากเป็นเชื้อที่รุนแรง จะยากมากหากจะส่งไปตรวจยืนยันในต่างประเทศ เนื่องจากไม่มีสายการบินยอมขนส่ง
ห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 4 ยังสามารถค้นคว้า “โรคระบาดสัตว์”ข้างต้นได้ด้วย ขณะที่ “กฎหมายคุ้มครองสัตว์”นี้ ยังครอบคลุม “สัตว์ปศุสัตว์” โดยไม่สามารถทารุณกรรมและเลี้ยงดูโดยขาดสวัสดิภาพได้ สัตว์ที่ถูกเลี้ยงดูแบบขาดสวัสดิภาพและเชือดอย่างทารุณ ในประเทศไทย เป็นตัวเกิด โรคต่างๆ ในมนุษย์ นี่เป็นเหตุผล