ศูนย์ข่าวภูมิภาค - กระแสต่อต้านโครงการคอนโดฯ ยักษ์เมืองพัทยาลุกลามสุดขีดในโลก Social Network ล่าสุด มีการล่าระดมรายชื่อคัดค้านการก่อสร้าง ระบุฉงนที่ตั้งโครงการริมหาดผ่าน EIA ได้อย่างไร แถมบดบังภูมิทัศน์ และพระบรมราชานุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันการดำเนินการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ สูงกว่า 50 ชั้น บริเวณริมเชิงเขา สทร.5 พัทยา ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ในชื่อ “Waterfront Suites & Residence Pattaya” กำลังเป็นกระแสอย่างรุนแรงในโลก Social Network โดยร้องขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.เข้ามาตรวจสอบ และปรับปรุงโครงสร้างของอาคารดังกล่าว ผ่านเว็บไซต์ change.org เนื่องจากมีการระบุว่า โครงการดังกล่าวมาทำการก่อสร้างในบริเวณที่เชิงเขา สทร.5 พัทยา ซึ่งติดกับทะเลในระยะห่างไม่เกิน 100 เมตร และมีขนาดสูงที่น่าจะเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
ตามประกาศของกระทรวงทัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องการกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พ.ศ.2553 ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะข้อกำหนดเรื่องของความลาดชันซึ่งระบุว่า พื้นที่ที่ความลาดชันร้อยละ 20-35 นั้น อาคารที่สร้างได้จะต้องมีความสูงไม่เกิน 12 เมตร ขนาดแปลงที่ดินมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 120 ตารางวา(ตร.ว.) มีพื้นที่อาคารคลุมดินต่อหลังไม่เกิน 80 ตร.ว. ต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 เนื่องจากพื้นที่ของโครงการนั้นติดกับเชิงเขาเป็นอย่างมาก ที่สำคัญการจัดสร้างโครงการดังกล่าวมีขนาดความสูงกว่า 50 ชั้น
ส่งผลให้ชาวพัทยาส่วนใหญ่ต่อต้านการก่อสร้าง เนื่องจากเห็นว่าโครงสร้างของอาคารบดบังสภาพภูมิทัศน์บริเวณหน้าอ่าว และป้าย Pattaya City ที่เมืองพัทยาสนับสนุนงบหลายสิบล้านบาทเพื่อจัดทำให้เป็นจุด Landmark สำคัญในด้านการท่องเที่ยว อีกทั้งโครงสร้างอาคารยังบดบังบริเวณด้านหน้าของพระบรมราชานุสาวรีย์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ บนเขา สทร.5 พัทยา ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนโดยทั่วไป
กรณีดังกล่าวมีการระบุว่า เคยมีการสอบถามผ่านไปยังเมืองพัทยาว่า มีการให้อนุญาตการก่อสร้างได้อย่างไร ก็ได้รับคำตอบเพียงแค่อนุมัติตามหลักการทางวิศวกรรมของโครงสร้างอาคารที่มีความแข็งแรง สมบูรณ์ตามมาตรฐาน ขณะที่ขั้นตอนของการอนุญาตการปลูกสร้างนั้น เป็นเรื่องของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ต้องมีการนำผัง และแบบเข้าสู่การพิจารณาเพื่อขอจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือ EIA ตามขั้นตอนของกฎหมาย
กรณีนี้มีข้อมูลว่า อาคารดังกล่าวเป็นอาคารเก่าที่เคยมีการนำเสนอขอรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปแล้วในปี 2553 ขณะเดียวกัน ในช่วงระหว่างปี 2548-2553 มีการโอนภารกิจในการพิจารณารายงานสิ่งแวดล้อมให้แก่คณะกรรมการผู้ชำนาญการเมืองพัทยาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ ภายใต้ประกาศการเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งทาง สผ.กำลังตรวจสอบว่าอาคารชุดแห่งนี้มีการขออนุญาตก่อสร้างในปีไหน และมีการพิจารณาเห็นชอบ อีไอเอหรือยัง
กระทั่งล่าสุด มีการระบุชื่อของ นายเกษมสันตฺ จิณณวาโส เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยระบุว่า มีการเรียกตรวจสอบเอกสารของการขอทำอีไอเอต่อ สผ.
พร้อมระบุว่า หากตรวจสอบว่าเป็นการเทกโอเวอร์โครงการเก่ามาที่เคยขออนุญาตไว้ที่ความสูง 8 ชั้น กับของเก่า และมาต่อเติมเป็นอาคารสูง 50 ชั้น ตามที่เป็นข่าว ก็เข้าข่ายว่ายังไม่ได้ทำอีไอเอ หรือหากทำไว้แต่เดิมก็ต้องมีการสอบถามกลับไปยังคณะกรรมการฯของท้องถิ่นว่า อนุญาตผ่านมาได้อย่างไร ซึ่งเรื่องของทาง สผ.จะเร่งตรวจสอบอีกครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีกระแสว่าปัจจุบันกรณีดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง กระทั่งล่าสุด ทาง คสช.ได้มอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วนแล้ว ซึ่งถือเป็นกรณีที่มีการเฝ้าติดตาม และจับตาดูกันอย่างใกล้ชิดว่าจะมีความคืบหน้าอย่างไร
สำหรับโครงการ “Waterfront Suites & Residence Pattaya” ก่อนหน้านี้เคยมีปัญหากับผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวเมืองพัทยามาแล้วหลายครั้ง เนื่องจากสแลนด์ตาข่ายที่ทางโครงการใช้บังตัวอาคารในขณะก่อสร้างนั้นมีปัญหา ส่งผลให้เศษคราบปูนซีเมนต์ และวัสดุจำนวนหนึ่งปลิวหล่นใส่เรือท่องเที่ยวที่จอดเทียบท่าอยู่บนลานจอดเรือจนได้รับความเสียหายนับสิบลำ
ต่อมา ได้มีการร้องเรียนผ่านไปยังนายศักดิ์ชัย แตงฮ่อ นายอำเภอบางละมุง ซึ่งก็ได้เข้าทำการเจราจรไกล่เกลี่ย โดยทางผู้รับเหมาจะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ก็พบว่ายังคงมีปัญหาเกิดขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เตรียมเปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว เวลา 14.00 น. วันนี้