xs
xsm
sm
md
lg

เปิดข้อมูล ส.ส.บินฟรีร้อยล้าน ไร้ระบบตรวจสอบ “เยี่ยวปนฝน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานพิเศษ

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ - สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนฯ ยอมเปิดข้อมูลปิดลับการใช้สิทธิ์เดินทางฟรีของเหล่าผู้ทรงเกียรติหลังจากยื้อเรื่องไว้นาน 14 เดือน มีตั้งแต่ใช้จ่ายเพียงหลักหมื่นไปจนถึงล้านบาทต่อคนต่อปี ทั้งๆ ที่ในแต่ละปีมีนัดหมายประชุมรวมไม่ถึง 100 นัด

สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ยินยอมเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดการใช้ใบเบิกทางโดยสารรถไฟ รถยนต์ และเครื่องบินของส.ส. ประจำปีงบประมาณ 2553-2556 จำแนกรายบุคคล เมื่อ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ผู้สื่อข่าวเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ได้ยื่นขอไปตั้งแต่ปีที่แล้วและผ่านการร้องเรียนเรียกร้องให้เปิดเผยต่อเนื่องมาอีกหลายรอบ

โดยเริ่มจากผู้สื่อข่าวได้ยื่นขอข้อมูลตามสิทธิที่ พรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการกำหนดไว้รอบแรกเมื่อ 9 พฤษภาคม 2556 แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบใด ๆ ผู้สื่อข่าวจึงยื่นร้องเรียนไปยังคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2556 จากนั้นคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการได้พิจารณาและมีคำตอบมาเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2557 ระบุว่ายินยอมเปิดเผยระเบียบกฎหมายเรื่องสิทธิประโยชน์ของส.ส. แต่สำหรับข้อมูลเรื่องการเดินทางนั้น “ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ” คำตอบดังกล่าวก็คือการยื้อคำขอออกไปเรื่อยๆ ไม่มีกำหนด

ต่อจากนั้นเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ได้มีบทความเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลรวมทั้งการเชิญชวนประชาชนร่วมลงชื่อเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรเปิดเผยข้อมูลผ่านเว็บไซต์ www.change.org ในช่วงต้นปี 2557 แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จนกระทั่งเกิดเหตุประท้วงของประชาชนยืดเยื้อข้ามปีจนเกิดการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 และคณะรัฐประหารมีคำสั่งย้ายนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรออกจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลข่าวสารของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ติดต่อมาให้ไปรับข้อมูลที่ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ผู้สื่อข่าวเดินทางไปรับข้อมูลตามที่ได้รับแจ้งเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2557 แต่ปรากฏว่าข้อมูลที่ได้รับมีเพียงตารางสรุปยอดค่าใช้จ่ายใบเบิกทางเดินทางของ ส.ส.ประจำปีงบประมาณ 2552-2555 เพียง 1 แผ่น และสำเนาพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ฯ พ.ศ.2555 ซึ่งไม่ได้ขอไว้และเป็นกฎหมายทั่วไปที่สามารถหาได้จากเว็บไซต์หรือในราชกิจจานุเบกษาอยู่แล้ว เมื่อเห็นว่าทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเจตนาจะไม่ให้ข้อมูลด้วยวิธีโยกโย้ หลบเลี่ยงเบี่ยงประเด็นผู้สื่อข่าวจึงได้โทรศัพท์หารือกับฝ่ายกฎหมายเพื่อจะฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ได้รับแนะนำว่าให้ขอยื่นแบบขอใช้บริการข้อมูลข่าวสารฯ ซ้ำไปอีกรอบโดยใช้ถ้อยคำที่รัดกุมเพื่อจะเป็นหลักฐานมัดให้แน่นหนา ผู้สื่อข่าวจึงได้ขอแบบฟอร์มเพื่อกรอกรายละเอียดการขอข้อมูลโดยยืนยันว่าขอ “จำแนกเป็นรายบุคคล” เพื่อเป็นบรรทัดฐานการบังคับใช้พรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ในวันเดียวกันนั้น (23มิ.ย.)

จนที่สุดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจึงยินยอมเปิดเผยข้อมูลที่ยื่นขอไว้ มีจำนวนทั้งสิ้น 16 แผ่น (ตามเอกสารประกอบ)

ข้อมูลชวนฉงน

ประเด็นแรกชุดข้อมูลที่สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเปิดเผยให้มาขัดแย้งกันเอง โดยตารางสรุปที่ให้มาครั้งแรกเมื่อ 23 มิถุนายน 2557 ระบุว่ายอดค่าใช้จ่ายใบเบิกทางโดยสารพาหนะของ ส.ส.ประจำปี 2553 = 131,238,141.61 บาท ประจำปี 2554 = 115,191,749.85 บาท ประจำปี 2555 = 138,576,209.03 บาท แต่ในเอกสารชุดหลังที่ได้รับมาเมื่อ 31 กรกฎาคม 2557 ระบุว่า ยอดใช้จ่ายใบเบิกทางพาหนะของ ส.ส.ประจำปี 2554 = 19,448,135.14 บาท และประจำปี 2555=122,968,399.61 บาท ความคลาดเคลื่อนของตัวเลขที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเปิดเผยออกมาแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะข้อมูลของปี 2554 ที่ต่างกันกว่า 90 ล้านบาทเลยทีเดียว

สภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดนัดหมายประชุมในสมัยประชุมสามัญและสมัยนิติบัญญัติปีละประมาณ 7-8 เดือนทั้งนี้มีวันประชุมสภาฯ เพียง 1 วันในแต่ละสัปดาห์ ที่เหลือ ส.ส.แต่ละคนอาจจะมีประชุมกรรมาธิการบ้างแต่ก็ไม่บ่อยขนาดที่ต้องเดินทางมาทำงานทุกวัน ข้อมูลจากเว็บไซต์ของสภาผู้แทนราษฎร http://www.parliament.go.th ระบุว่าในปี 2556 มีการประชุมสมัยสามัญของสภาผู้แทนราษฎร 28 ครั้ง และประชุมร่วมกันของรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไป (ร่วมกับวุฒิสภา) 17 ครั้ง และประชุมร่วมสมัยนิติบัญญัติ 5 ครั้ง รวมแล้ว 50 ครั้ง

เมื่อมาพิจารณาระเบียบกฎเกณฑ์เรื่องสิทธิประโยชน์ของ ส.ส.ตามพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานสภาฯ ระบุไว้ชัดเจนในมาตรา 8 เรื่องสิทธิในการได้ใบเบิกเดินทางของ ส.ส. “เพื่อใช้ในการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่” แสดงชัดเจนว่า ส.ส.ไม่มีสิทธิ์เดินทางฟรีหากเป็นเรื่องส่วนตัวหรือไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ส.ส. ไม่ว่าจะเป็นการไปเที่ยวหรือไปงานของพรรคการเมือง

จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า ส.ส.บางรายเหตุใดจึงมียอดค่าใช้จ่ายในการใช้สิทธิ์เดินทางฟรีมากถึงปีละกว่า 1 ล้านบาท และเมื่อพิจารณาจากผู้ที่ใช้สิทธิ์เบิกจ่ายมากกว่า 5 แสนบาท/คน/ปี มีมากถึงประมาณ 60 คนจากจำนวนทั้งสิ้น 500 คน

ข้อมูลที่เปิดเผยออกมาไม่ลงรายละเอียดจำนวนเที่ยวและรายละเอียดของเส้นทาง ทำให้จำแนกแยกแยะว่า ส.ส.คนใดเดินทางเพื่อ “ปฏิบัติหน้าที่” จริง อีกทั้งอัตราค่าโดยสารเครื่องบินชั้นธุรกิจของเส้นทางบางเส้นมีราคาแพงเพราะมีระยะทางไกลกว่าเส้นทางอื่น แต่อย่างไรก็ตามเมื่อนำยอดค่าใช้จ่ายของ ส.ส.ในจังหวัดเดียวกันมาเปรียบกลับแตกต่างกันถึงหนึ่งเท่าตัวยิ่งทำให้ข้อมูลชุดนี้สร้างความกังขามากขึ้น

ตัวอย่างเช่น นายกฤษดาภรณ์ เสียมภักดี ส.ส.เชียงใหม่ ใช้งบเดินทางปีละมากกว่า 1 ล้านบาท แต่ น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ กับนายศรีเรศ โกฏคำลือ ส.ส.เชียงใหม่ร่วมพรรคใช้จ่ายเพียงไม่เกิน 5 แสนบาท/คน/ปี และหากคำนวณการเดินทางเป็นจำนวนเที่ยวนายกฤษดาภรณ์ได้เดินทางไปกลับกรุงเทพ-เชียงใหม่ประมาณ 190 ครั้ง ทั้งๆ ที่มีวันประชุมเพียงประมาณ 50 วัน หรือเท่ากับเดินทางไปกลับกรุงเทพ-เชียงใหม่วันเว้นวันโดยไม่หยุดทั้งๆ ที่สภาผู้แทนราษฏรมีช่วงปิดสมัยประชุมนานถึง4-5 เดือน/ปี

หรือหากพิจารณาการใช้สิทธิ์ของ ส.ส.สงขลา ซึ่งแม้จะมีระยะทางไกลและค่าโดยสารแพงกว่าเส้นทางอื่นโดยเฉลี่ยแต่ ส.ส.บางรายก็มีค่าใช้จ่ายน้อย แต่ก็ต่างกันหลักแสนบาท เช่น นายเจือ ราชสีห์ ใช้ไป 7.3 แสนบาท(2555) กับ 8.7 แสนบาท (2556) ขณะที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริใช้ไปกว่า 1 ล้านบาท

นอกจากนั้น ส.ส.ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี เช่น นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล ก็มีรายชื่อขอใช้สิทธิ์เดินทางของ ส.ส. ทั้งๆ ที่ระเบียบระบุว่าให้ใช้ใบเบิกทางนี้เพื่อการ “ปฏิบัติหน้าที่” ของ ส.ส. กรณีดังกล่าวก็เป็นอีกประเด็นข้อกังขาของการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินที่คาบเกี่ยวระหว่างสิทธิประโยชน์ตามหน้าที่และผลประโยชน์ส่วนตัว

โปรดติดตามอ่าน "20 อันดับ ส.ส.เบิกงบฯ ค่าเดินทางมากสุด ปีงบประมาณ 2554-2556"














กำลังโหลดความคิดเห็น