“เด็กไทยต้องสอบไปตลอดชีวิตหรือ?” กลายเป็นคำถามแกมประชดเมื่อสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ออกนโยบายจัดสอบ U-net วัดผลคะแนนหลังจบมหาวิทยาลัยเพื่อเข้าทำงานส่งผลให้เกิดกลุ่มขัดค้านมากมาย ทั้งนักศึกษาและสถาบันการศึกษา แต่ สทศ.ก็ยังคงเดินหน้าจะจัดสอบดังกล่าวต่อไป ส่งผลให้การเคลื่อนไหวคัดค้านยิ่งเข้มข้นขึ้นทุกขณะ
หลากสถาบันต่อต้าน
ทันทีที่การจัดสอบ U-NET เป็นข่าวออกไปในวงกว้างก็จะกลุ่มคัดค้านการสอบดังกล่าวทันที และมีผู้ไม่เห็นด้วยต่อการจัดสอบดังกล่าวมากมาย มีการตั้งเพจ “ต่อต้านการสอบ U-NET จาก สทศ.” ที่ยอดผู้กดไลค์มากกว่า 1 แสนคน
แต่ ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธาน บอร์ด สทศ. ก็ยังคงยืนกรานจะทำให้การสอบดังกล่าวเกิดขึ้นให้ได้โดยให้เหตุผลว่า การที่ สทศ.จัดสอบ U-NET เพราะทำตามพันธกิจและหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ว่า สทศ.จะต้องดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำระบบ วิธีการทดสอบและพัฒนาเครื่องมือวัดและประเมินผลตามมาตรฐานการศึกษาในทุกระดับ
ท่ามกลางเสียงขัดค้านจากหลายฝ่ายทั้งส่วนขององค์กรนักศึกษาจากสถาบันระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ จนถึงตัวผู้บริหารสถาบัน ตัวอย่างเช่น รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา
ล่าสุดได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมกันและยื่นให้ สทศ.พิจารณายกเลิกการจัดสอบ นั้น ขณะนี้มีสถาบันอุดมศึกษา 5 แห่ง ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยทักษิณ และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกจากนี้เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒก็ประชุมหารือพร้อมออกแถลงการณ์อีกด้วย ในวันเดียวกันนั้นสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็มีการจัดเสวนา เรื่อง U-NET กับอนาคตเด็กไทย ขึ้นอีกด้วย
ร่วมลงชื่อคัดค้าน
การแสดงออกในการคัดค้านที่เป็นรูปธรรมที่สุดทางหนึ่งก็คือการรวบรวมรายชื่อแสดงความเห็น ล่าสุดที่เว็บไซต์ change.org ได้มีการตั้งแคมเปญรณรงค์ในชื่อ “ยกเลิกจัดสอบ U-NET” โดยเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ต้องการรายชื่อทั้งหมด 5 หมื่นรายชื่อ จนถึงตอนนี้มีการลงชื่อแล้วทั้งสิ้น 48,000 คน
โดยเนื้อหาของแคมเปญระบุว่า การสอบ U-NET ไม่ได้ช่วยวัดความรู้และมาตรฐานของบัณฑิตระดับปริญญาตรีได้จริงๆ และไม่สามารถชี้วัดอะไรได้เลยกับตัวนักศึกษา เพราะแต่ละสถาบันหรือมหาวิทยาลัยต่างๆก็มีหลักสูตรในการสอนที่ต่างกัน ที่สำคัญหลังจากสอบมาแล้วบริษัทไม่มีความสำคัญที่จะต้องนำคะแนนส่วนนี้มาใช้รับคนเข้าทำงาน
สิ่งที่ สทศ. กำลังทำนั้นกำลังทำให้ทุกอย่างมันซับซ้อนมากยิ่งขึ้น นักเรียน นิสิต หรือ นักศึกษา ยังคงวนเวียนอยู่กับการสอบ ไม่มีเวลาในการคิดสิ่งสร้างสรรค์และทำประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่น และที่สำคัญที่สุด ตัวนิสิต นักศึกษาไม่ยินยอมแก่ระบบการสอบดังกล่าว และ เป็นการเปลืองระบบงบประมาณโดยใช่เหตุ
ทั้งนี้ รายชื่อทั้งหมดจะมีการส่งถึง สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.), รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ,นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ,นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ,นายชาญยุทธ เฮงตระกูล, เลขานุการรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ และศาสตราจารย์ธเนศวร์ เจริญเมือง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการ
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ร่วมลงชื่อได้ที่นี่คลิ๊ก