xs
xsm
sm
md
lg

จี้ สมศ.-สทศ.ทบทวนอีกครั้งจัดสอบ U-NET

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สกอ.ค้านสอบ U-NET จี้ สมศ. ตัดออกจากตัวบ่งชี้ประเมินคุณภาพตามกรอบ TQF จนนำไปสู่การจัดสอบดังกล่าว “ทศพร” ยันเคยทักท้วงแต่ได้รับชี้แจงขึ้นอยู่กับบอร์ด สมศ. ชี้หากมีการจัดสอบสุดท้ายก็ไม่ต่างอะไรกับการบังคับให้มหา’ลัย จัดเตรียสข้อมูล หรือบังคับให้เด็กสอบ ด้าน ผอ.สมศ. ระบุการสอบ U-NET เกิดเพราะมหา’ลัยต้องการ พร้อมนำประเด็นดังกล่าวหารือในบอร์ด สมศ. พรุ่งนี้ ด้าน อธิการ มฟล. ยันไม่ร่วมสอบและ สทศ. ควรทบทวน
ศ.(พิเศษ) ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์
วันนี้ (28 เม.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ศ.(พิเศษ) ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) แถลงข่าวกรณีกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมกลุ่มกันออกมาคัดค้านการจัดสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา หรือ U-NET ของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ขณะที่ผู้บริหาร สทศ. ก็ระบุว่าจะเดินหน้าจัดสอบ U-NET เนื่องจากเป็นพันธกิจ สทศ. ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย และการจัดสอบ U-NETก็อิงตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ หรือ TQF ที่กำหนดโดย สกอ. นั้น ว่า โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับการสอบ U-NET เพราะเป็นเรื่องดี เพื่อจะได้มีการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของมหาวิทยาลัย แต่ขณะเดียวกัน ก็มีความกังวล เนื่องจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กำหนดตัวบ่งชี้ของการประเมินภายนอกของมหาวิทยาลัย รอบ 4 (พ.ศ.2559-2563) โดยจะวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา โดยใช้ U-NET ของ สทศ. เป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ ขณะเดียวกัน สทศ. ก็ได้พัฒนาข้อสอบ U-NET โดยระบุว่าได้อิงตาม TQF ของ สกอ. ซึ่งความจริงแล้วเป็นตัวบ่งชี้ที่ สกอ. ต้องการนำมาใช้เพื่อการประเมินภายในสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 5 ด้าน คือ คุณธรรมจริยธรรม ความรู้ทักษะทางปัญญา ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ ทักษะด้านการวิเคราะห์ตัวเลข ทักษะด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ

เลขาธิการ กกอ. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ TQF ของแต่ละสาขาวิชาก็มีความแตกต่างกัน หากวัดเป็นการทั่วไปก็จะไม่ได้ผลอะไร เช่น ระดับการคิดวิเคราะห์ตัวเลขของสาขารัฐศาสตร์ก็แตกต่างกับสาขาเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น ผลลัพธ์ที่ได้ก็คงไม่สะท้อนอะไร และที่ผ่านมาเมื่อ สมศ.ดำเนินการยกร่างตัวบ่งชี้ของการประเมินรอบที่ 4 นั้น สกอ. ก็มีความห่วงใยและได้ทักท้วงต่อ สมศ. ว่า ตัวบ่งชี้นี้อาจไม่เหมาะสม หากนำ U-NET มาเป็นตัววัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา จะกลายเป็นการบังคับให้มหาวิทยาลัยไปโดยปริยายต้องจัดเตรียมข้อมูลให้ สมศ. ซึ่งก็คือ บังคับให้เด็กสอบ U-NET แต่หากจะใช้ U-NET วัดผลเป็นการทั่วไปเพื่อดูสถานะ ว่า บัณฑิตที่จบมาในภาพรวมเป็นอย่างไรก็น่าจะเหมาะสมกว่า

ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา สกอ. หารือร่วมกับ สมศ. ผมก็ได้ย้ำว่าไม่เห็นด้วยไปอีกครั้งพร้อมทั้งทำหนังสือยืนยันไปที่ สมศ. ขอให้มีการทบทวนและให้ยกเลิกตัวบ่งชี้หลายตัวที่อาจจะเกิดปัญหาซึ่งรวมถึงตัวบ่งชี้เกี่ยวกับการสอบ U-NET ด้วย แต่ สมศ. ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงตัวบ่งชี้ดังกล่าวต้องขึ้นกับคณะกรรมการบริหารสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ซึ่งหาก บอร์ด สมศ. ยกเลิกตัวบ่งชี้นี้ สทศ. ก็ไม่จำเป็นต้องสอบ U-NET ส่วนที่มีข้อเสนอให้ใช้คะแนน U-NET เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานนั้น ส่วนตัวเห็นว่า สถานประกอบการคัดเลือกคน ไม่ได้ดูจากคะแนน U-NET เพียงอย่างเดียว คงต้องมีการสอบสัมภาษณ์ บางแห่งก็ใช้วิธีดูโหวงเฮ้ง U-NET ไม่ใช่ยาวิเศษ ที่ตอบปัญหาได้ทุกเรื่อง เป็นแค่กุญแจเบื้องต้น”เลขาธิการ กกอ. กล่าวและว่า ส่วนที่ สทศ. กำหนดว่าการจัดสอบ U-NET เป็นไปตามพันธกิจที่กฎหมายกำหนดนั้น โดยปกติองค์การมหาชนส่วนใหญ่จะกำหนดพันธกิจไว้ หากไม่สามารถทำได้ครบ ก็สามารถแก้ไขพระราชกฤษฎีกาได้ เพราะมีความยืดหยุ่น ส่วนการเคลื่อนไหวของนักเรียน นิสิต นักศึกษา คัดค้านการสอบ U-NET นั้น ตนคิดว่าเป็นเหตุผลของเด็ก เพราะทุกวันนี้เด็กก็สอบค่อนข้างมากอยู่แล้ว

ด้าน ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวว่า สมศ. เป็นหน่วยงานประเมินคุณภาพภายนอกโดยรวมของสถาบันการศึกษา โดยนำผลประเมินที่มีอยู่แล้วมาเป็นตัวบ่งชี้หนึ่งในการประเมิน โดยการประเมินคุณสภาพภายนอก รอบ 3 ที่ผ่านมา สมศ. ก็ใช้ TQF ของ สกอ. เป็นตัวบ่งชี้หนึ่งในการประเมินความรู้ความสามารถตามหลักสูตร แต่เมื่อมีการประเมินไประยะหนึ่งก็มีเสียงสะท้อนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ว่า หากใช้ TQF ของ สกอ. อาจจะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะมหาวิทยาลัยต่างคนต่างทำจึงอยากให้มีหน่วยงานกลางมาทำหน้าที่วัดประเมินผลตรงนี้ ซึ่งเมื่อ สทศ. จะจัดสอบ U-NET สมศ. จึงเห็นว่าน่าจะนำผลสอบมาใช้ เพื่อให้การจัดสอบมีประโยชน์ และเกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง

“ส่วนที่ สกอ. เสนอให้ยกเลิกการนำคะแนน U-NET มาเป็นตัวบ่งชี้หนึ่งในการประเมินภายนอก รอบ 4 นั้น ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร สมศ. วันที่ 29 เมษายน ผมจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือ เพื่อขอความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงจะดูด้วยว่าหากไม่หยิบ U-NET ที่ สทศ. จัดสอบมาใช้แล้ว จะมีตัวประเมินตัวใดที่จะสะท้อนคุณภาพบัณฑิตได้ดีกว่า” ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) กล่าวว่า มฟล. ไม่ได้กลัวเรื่องการสอบ แต่ไม่เห็นด้วย และไม่สนใจกับการจัดสอบ U-NET เพราะการผลิตบัณฑิตของแต่ละมหาวิทยาลัยมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน อีกทั้งการจัดสอบด้วยข้อสอบเดียวกันทั้งประเทศก็ไม่ได้ช่วยชี้วัดคุณภาพของนักศึกษา กลับทำให้เกิดความวุ่นวาย สิ้นเปลือง เป็นภาระแก่นักศึกษา และเกิดความซ้ำซ้อน ซึ่งในส่วนของ มฟล. มีการประเมินคุณภาพของนักศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานอยู่แล้ว โดยแต่ละปีจะมีการจัดสอบก่อนเรียน และหลังเรียน ซึ่งจะทำให้ทราบว่าเด็กคนใดมีคุณภาพเป็นอย่างไร และต้องแก้ไขในจุดใด จึงอยากให้มีการทบทวนเรื่องดังกล่าว แม้ สทศ. จะระบุว่าเป็นอำนาจตามกฎหมาย แต่ควรดูความเหมาะสม และความจำเป็นด้วย ทั้งนี้ ขณะนี้ก็ยังไม่มีประเทศใดที่ให้นิสิต นักศึกษาสอบ U-NET เพื่อวัดผลคุณภาพการศึกษาเหมือนประเทศไทย

ด้าน ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ทปอ.ยืนยันไม่รู้เรื่องที่สทศ.จะจัดสอบ U-NET และตนได้ติดตามข่าวที่มีนิสิต นักศึกษาออกมาคัดค้านการสอบยูเน็ต ดังนั้นเร็ว ๆนี้ตนจะเชิญ สทศ.มาหารือถึงเรื่องดังกล่าวว่าเป็นอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น