กระแสต่อต้านในสังคมมออนไลน์โหมหนัก หลังบอร์ด สทศ. ตีธง! ประกาศทราบโดยทั่วกันว่าจะมีการจัดสอบU-NET (การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา) หรือ การสอบวัดความรู้ของนิสิตนักศึกษาในระดับปริญาตรีชั้นปีสุดท้าย เพื่อนำคะแนนในส่วนนี้ไปยื่นประกอบการพิจารณาเข้าทำงาน
“เราว่า สทศ. ควรยุบไปได้แล้ว !! ให้องค์กรใหม่ ๆ คนรุ่นใหม่ ๆ มาทำหน้าที่แทนเถอะ อยู่ไปก็เปลืองงบรัฐบาลใช่เหตุ รัฐให้งบมามากมาย จัดสอบแค่ไม่กี่ปี ยังทำให้สมบูรณ์ไม่ได้เลย โอเน็ตที่ภูมิใจกันนักหนา ก็ผิดพลาด มีข้อให้ร้องเรียนกันทุกปี จุดยืนก็หาไม่เจอ โอเน็ตเริ่มต้นมาเพื่อวัดระดับนักเรียนทั้งประเทศ อยู่ๆ ก็ไปผูกกับการสอบเข้ามหาลัย สอบเข้าเด็กมัธยม อยู่ก็มาอยากพัฒนาการคิดวิเคราะห์เด็ก มาปราบปรามการกวดวิชา หลงประเด็นไปไหนต่อไหน แกทแพท ออกมาแยกเด็กอ่อนเด็กปานกลางเด็กเก่ง ให้ใช้เป็นคะแนนสอบคัดเรื่องเข้ามหาวิทยาลัย ถามว่าวันนี้ข้อสอบแกทแพท แยกระดับเด็กอะไรได้บ้าง แค่เด็กอ่อน กับ เด็กเก่งมาก หรอ? พิจารณาตัวเองกันมั่งเถอะครับ จะเหนี่ยวรั้งความเจริญของประเทศไปถึงไหน ..” ข้อความจากคุณ มะม่วงเขียว
โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียน นิสิตนักศึกษา และผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษา จำนวนมากพากันวิพากษ์วิจารณ์ระบบการสอบวัดความรู้ดังกล่าวอย่างดุเดือด เพราะเท่าที่ผ่านมาการสอบวัดความรู้ในระบบการศึกษาไทยนั้นก็มีมากเสียจนเกิดคำถามทำนองว่า การสอบวัดความรู้ทางวิชาการเป็นเครื่องการันตีความรู้ความสามารถชี้วัดศักยภาพของบุคคลคนหนึ่งได้จริงหรือไม่?
“อยากรู้ว่า คนถูกประเมินเช่นนักเรียน พ่อ แม่ ผู้ปกครอง อยากจะประเมินคุณภาพ สทศ บ้างได้ไหม สทศ. เคยมีการประเมินหน่วยงาน คุณภาพงาน ข้อสอบ ตัวเองบ้างหรือไม่ ควรทำด้วย (must do) และต้องประกาศให้สาธารณชนรับทราบด้วย ทุกปี บางเรื่องควรทำก็ไม่ทำ บางเรื่องทำแล้วได้ประโยชน์คุ้มหรือไม่ เคยถามคนที่เกี่ยวข้องบ้างไหม ทำเรื่องที่ทำอยู่ให้จ๊าบก่อนดีไหม” ข้อความจากคุณ ผู้ปกครอง
ตามข้อมูลเปิดเผยว่า สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ องค์การมหาชน (สทศ. ) จะจัดให้มีการสอบ U-NET หรือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา ในปีการศึกษา 2557 โดยนิสิตนักศึกษาสามารถร่วมเข้าสอบได้ตามความสมัครใจ แต่ทาง สทศ. จะทำการประสานไปยัง หน่วยงาน องค์กร บริษัท ต่างๆ ให้ใช้เกณฑ์คะแนนของ U-NET ในการคัดเลือกบัณฑิตป้ายแดงเข้าทำงาน
ซึ่งทำการสอบทั้งหมด 4 วิชา 1. การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร 2.การใช้สารสนเทศและเทคโนโลยีเพื่อการดำรงชีวิต 3.การรู้เท่าทันสื่อ การคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา (Media Literacy) และ 4.การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking)
ด้าน อ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงทัศนะต่อประเด็นการจัดสอบ U-NET ว่าเป็นการสอบวัดความรู้ที่จัดขึ้นมาซับซ้อนและไม่มีเสถียรภาพในชี้วัดคุณภาพเพราะนิสิตนักศึกษาแต่ละสาขาวิชานั้นร่ำเรียนมาต่างกัน ตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องควรพิจารณากันอีกรอบ
"ในคณะแต่ละคณะแต่ละสาขาวิชามันมีธรรมชาติต่างกัน บางสาขาเน้นการทำวิทยานิพนธ์/ภาคนิพนธ์ หรือศิลปนิพนธ์ ดนตรีนิพนธ์ บางสาขาเป็นการสอบแบบประมวลความรู้ (comprehensive) ซึ่งต้องเขียนคิด วิเคราะห์ และอาจมีการสอบปากเปล่าด้วย บางสาขาไม่มีสอบหรือต้องทำรายงานเล่มใหญ่ แต่มันจะเรียนผ่านได้ก็มาจากการพัฒนาทักษะ (skill) อย่างมากจนอาจารย์ให้ผ่าน
“ถ้าอธิบายระบบสอบ U-NET ว่าดีมันก็คงดีสำหรับคนคิดเท่านั้น เพราะความคาดหวังว่ามันจะยกระดับคุณภาพการศึกษา แต่คุณภาพของนักศึกษามันต้องมาจากการสั่งสมความรู้ U-NET จึงเป็นระบบที่ซ้ำซ้อน ไม่มีหลักประกันที่เห็นผลได้จริง เพราะไม่เคยทดลองด้วยหลักสถิติมาก่อน ไม่มีใครรู้คุณภาพของข้อสอบ ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ เพราะมองว่าเด็กคิดไม่เป็น และทำให้นักศึกษาต้องเสียเวลาเปล่า แทนที่จะเอาเวลาไปพัฒนาตัวเองในทางอื่น"
เช่นเดียวกัน ในกลุ่มเยาวชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อในประเด็นดังกล่าวโดยตรง ร่วมกันแสดงความคิดเห็นผ่านสังคมออนไลน์
“ทำไมต้องสอบอะไรให้มันมากมาย วันๆ เอาแต่สอบ แต่การสอนไม่ได้เรื่อง #UNET” ข้อความจาก fang_dobhjd 55m
“เอาจริงๆนะคือมาฝึกงานนี่เค้าไม่ถามถึงคะแนนo-net a-net gat pat อะไรสักอย่าง แล้วคุณยังคิดว่า #UNET ยังจำเป็นอยู่มั้ย? ขอถาม!” ข้อความจาก yasupas 58m
“การทำงานมีการคัดมากพอแล้ว ไม่ว่าจะการสอบเพื่อรับใบประกอบวิชาชีพ สอบใบอนุญาต สอบสัมภาษณ์เข้าทำงาน ฯลฯ น่าจะพอสำหรับการคัดกรองแล้ว #UNET #สทศ” ข้อความจาก kottykung
…................................
เรื่องโดย Astv ผู้จัดการ Live