xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“U-NET” ทดสอบนี้วัดกึ๋นใคร !?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ดังเป็นพลุแตก!! กรณี สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)ประกาศเตรียมดำเนินการจัดทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา หรือ U-NET ในปีการศึกษา 2557 โดยจะเริ่มนำร่องทดสอบนิสิต นักศึกษา ระดับปริญญาตรีชั้นปีสุดท้ายของทุกสาขาวิชาชีพยกเว้นวิชาชีพที่มีสภาวิชาชีพกำกับดูแล อาทิ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ฯลฯ จะไม่มีการจัดสอบเพื่อลดความซ้ำซ้อน ซึ่งจะทดสอบกับมหาวิทยาลัยที่มีความสมัครใจ รวมทั้งจะประสานไป ยังสถานประกอบการต่างๆ เพื่อขอให้ใช้ผลการทดสอบ U-NET เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาคัดเลือกพนักงานด้วย

ทันทีที่ข่าวจัดสอบU-NET แพร่สะพัด โลกโซเชียวเน็ตเวิร์กก็เต็มไปด้วยกระแสต้าน คัดค้านการจัดทดสอบ กระทั่งมีการตั้งเฟซบุ๊กแฟนเพจในชื่อว่า “ต่อต้านการสอบ U-NET จาก สทศ.” เพื่อติดตามโครงการและร่วมต่อต้านการสอบ ซึ่งขณะนี้ยอดไลค์พุ่งสูงกว่า 1 แสนไลค์และตั้งเป้ารณรงค์ให้ผู้ไม่เห็นด้วยลงชื่อให้ได้ 50,000 คน เพื่อเสนอต่อ สทศ.ให้ยกเลิกการสอบ U-NET

สำหรับที่มาที่ไปของการจัดสอบ U-NET นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร สทศ. และนายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สทศ.ชี้แจงตรงกันว่าการจัดสอบนี้เป็นไปตามพันธกิจและหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ว่า สทศ.จะต้องจัดทำระบบทดสอบและพัฒนาเครื่องมือวัดและประเมินผลมาตรฐานการศึกษาในทุกระดับ ซึ่งที่ผ่านมา สทศ.ได้จัดการทดสอบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และการศึกษานอกโรงเรียน ผ่านการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET)การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา (V-NET) และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติการศึกษานอกระบบโรงเรียน (N-NET) ยกเว้นการจัดประเมินระดับอุดมศึกษาที่ยังไม่เคยดำเนินการมาก่อน

ทั้งนี้ U-NET จัดสอบเพื่อประเมินมาตรฐานบัณฑิต โดยจะยึดตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ TQF ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งจะถูกกำหนดให้เป็น 1ในตัวชี้วัดของการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษารอบสี่ (2559-2563)สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ด้วยว่าผลิตบัณฑิตออกมามีคุณภาพเช่นไร ไม่ได้ดูแค่การมีงานทำเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งแนวคิดของ สทศ.ในปี 2557 จะเน้นการวัดทักษะพื้นฐาน 4 วิชา การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร การใช้สารสนเทศและเทคโนโลยีเพื่อการดำรงชีวิต :การรู้เท่าทันสื่อ การคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา (Media Literacy) และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ(Critical Thinking)

ต่อจากนั้นในปีการศึกษา2558 สทศ.จะเพิ่มการทดสอบอีก 2 ด้าน ได้แก่ ด้านคุณธรรม จริยธรรม และด้านทักษะวิชาชีพเฉพาะสาขาวิชา จากนั้นจะจัดทดสอบในระดับปริญญาโท และเอกต่อไปซึ่ง สทศ.ยืนยันว่าสอบด้วยความสมัครใจไม่มีการบังคับแน่นอน

อย่างไรก็ตาม นอกจากเพจต่อต้านเชิงสัญลักษณ์ก็มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มเครือข่ายผู้นำนิสิตนักศึกษา 27 สถาบัน ออกแถลงการณ์ค้านหัวชนฝาต้านการจัดสอบ U-NET และต่างไม่เห็นด้วยที่จะใช้ข้อสอบเดียวในการวัดมาตรฐาน เนื่องจากแต่ละวิชาชีพมีการสอบวัดระดับมากมายอยู่แล้ว และไม่มั่นใจมาตรฐานการวัดผลของ สทศ. เห็นได้จากข้อสอบ O-NET ที่ผ่านมา อีกทั้งแต่ละวิชาชีพก็มีความถนัดไม่เหมือนกัน พร้อมย้อนถาม สทศ.ว่ากรณีการวัดคุณธรรม จริยธรรมในอนาคตจะเอาข้อสอบใดมาวัด จึงไม่เห็นด้วยที่จะใช้ข้อสอบเดียวกันในการวัดมาตรฐาน

นอกจากนี้ยังรู้สึกไม่สบายใจที่ สทศ.จะขอให้เอกชนนำผลคะแนนสอบ U-NET เกี่ยวโยงไปสู่การสอบเข้าทำงานกับบริษัทเอกชนเช่นนี้ก็ไม่ต่างกับการบังคับให้ทุกคนเข้าสอบ ไม่ใช่สอบตามสมัครใจเท่ากับสร้างภาระการสอบให้เด็ก

ขณะเดียวกันอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคนก็แสดงความไม่เห็นด้วย หรือกระทั่งอธิการบดี อาทิ นายวันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นายมณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดี ม.พะเยา ที่นั่งเก้าอี้ประธานกรรมการบริหาร สมศ.ก็ออกมายืนยันชัดว่ามหาวิทยาลัยจะไม่ร่วมสอบ U-NET ทั้งพยากรณ์ไว้ล่วงหน้าด้วยว่าถ้าการจัดสอบเกิดขึ้นจริงนิสิต นักศึกษาต้องแห่เรียนกวดวิชาสอบ U-NET ซึ่งประเด็นนี้สอดคล้องกับผลโพลของสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สำรวจความเห็นนิสิตต่อการสอบ U-NET จำนวน 1,010 คน โดยส่วนใหญ่เชื่อการทดสอบดังกล่าวจะเอื้อให้เกิดผลประโยชน์ทางธุรกิจของสถาบันกวดวิชา และมองว่าการประเมิน การทดสอบจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำอยู่นั้นก็ไม่สร้างความซ้ำซ้อน และเป็นที่ยอมรับทำให้ เป็นผลให้มี นิสิต 71%ไม่เห็นด้วยการจัดสอบ ค่อนข้างไม่เห็นด้วย 22% เฉยๆ 5%ค่อนข้างเห็นด้วย 1% และเห็นด้วย 1% เท่านั้น

ในประเด็นที่ U-NET จะถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดการประเมินรอบสี่ของ สมศ.นั้น นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ กกอ.ได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องดังกล่าวว่า เคยทักท้วง สมศ.ไปแล้วว่าไม่เหมาะสมเนื่องจากการพัฒนาข้อสอบ U-NET ที่อิงกับ TQF ที่ สกอ.ใช้เพื่อประเมินคุณภาพภายในของมหาวิทยาลัยในแต่ละสาขาวิชาที่แตกต่างกันหากนำไปวัดผลทั่วไปผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่สะท้อนอะไร แต่หากจะทดสอบ U-NET เพื่อวัดคุณภาพมาตรฐานบัณฑิตในภาพรวมนั้นก็เป็นเรื่องที่เหมาะสมและเห็นด้วยมากกว่า

ฟาก สมศ.ก็ออกมาชี้แจงหลังได้หารือภายในบอร์ดแล้วยืนว่าไม่ได้มีนโยบายให้จัดสอบ U-NET เพื่อใช้ในการประเมินรอบสี่และยังไม่เห็นด้วยว่าข้อสอบU-NET จะสอดคล้องตามกรอบ TQF ทั้ง 5 ด้านด้วยหรือไม่แต่หากพบว่าสอดคล้อง สมศ.ก็ยืนยันที่จะนำผลมาใช้ในการประเมินฯรอบสี่ แต่ที่สุดแล้วก็มีความเห็นในที่ประชุมว่าไม่อยากให้ยูเน็ตใช้วิธีการจัดสอบเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ของเด็กควรเน้นการประเมินคุณลักษณะมากกว่า พร้อมเรียกร้องให้ ศธ. สกอ. สทศ.และ สมศ.หารือร่วมกันให้ได้ข้อสรุปการใช้ U-NET

สรุปสถานการณ์ล่าสุดของวิกฤตU-NET ในเวลานี้ในแง่มุมของผู้บริหารยังมองว่า การจัดสอบ U-NET เป็นเพียง “ตัวอ่อน” เช่นที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ เปรียบเปรยไว้และระบุว่า “สทศ.ยืนยันชัดว่าการจัดสอบU-NET ทั้ง 4 วิชายังไม่มีขึ้นเพราะยังต้องใช้เวลาอีกมากในการพัฒนาข้อสอบที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับหรือแม้แต่วิชาภาษาอังกฤษที่น่าจะพัฒนาได้ง่ายสุดก็อาจจะทำไม่ทันเพื่อจัดสอบและนำไปผลไปใช้ประเมินภายนอกรอบสี่ ที่จะเริ่มในต.ค.2558 อีกทั้งข้อสอบที่พัฒนาเสร็จก็จะต้องนำไปสู่กระบวนการประชาพิจารณ์และให้เกิดความเห็นชอบจากสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งต้องใช้เวลาอีกมาก

แต่เบื้องต้นในปี 2557 จะนำร่องทดสอบวิชาภาษาอังกฤษวิชาเดียว โดยจะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการทดสอบ และจะดำเนินการผ่านสถาบันการศึกษาโดยไม่มีการบังคับ ไม่มีการสร้างสภาพบังคับหรือกึ่งบังคับใด ๆ และจะมีผู้สอบเท่านั้นที่จะรู้ผลสอบของตนเอง แต่สถาบันที่ประเมินผลทั้งภายนอก และภายในจะรู้ผลโดยรวม เพื่อดูในเชิงคุณภาพ ส่วนในเรื่องเกณฑ์ตัวชี้วัดของการประเมินรอบสี่ ได้ให้ สกอ.ไปหารือกับ สมศ.เพื่อหาทางผ่อนคลายเกณฑ์การนำU-NET มาใช่ประเมินเพื่อลดปัญหาต่าง ๆ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้ใหญ่คิดทำและเด็กออกมาต่อต้าน อีกทั้งความผิดพลาดของ สทศ.ที่ผ่าน ๆ มาก็สร้างความไม่วางใจ ความไม่เชื่อมั่นให้เกิดขึ้น และแม้จะทำหน้าที่ในฐานะผู้ให้บริการจัดสอบก็ต้องคำนึงความต้องการของผู้รับการทดสอบด้วยโดยเฉพาะเมื่อเกิดแรงต้านวงกว้างเช่นนี้ ถึงเวลาหรือยังที่ สทศ. หรือกระทั่ง สมศ.เองก็ตามจะหยุดมองแต่สิ่งที่ตนเองแล้วหันมาตั้งใจฟังเสียงรอบตัวบ้าง




กำลังโหลดความคิดเห็น