ศธ. เตรียมปรับสูตรระบบลงทุนการศึกษาครั้งใหญ่ หลังทุ่มงบมหาศาลเพื่อการศึกษาแต่ไม่ช่วยให้คุณภาพดีขึ้น เหตุงบไม่ถึงตัวเด็ก ขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางฐานะมีผลต่อการศึกษา เหตุเด็กยากจนเข้าถึงการศึกษาได้น้อยกว่าเด็กที่มีฐานะ
วันนี้ (30 เม.ย.) ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “การบริหารจัดการทรัพยากรการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ” โดย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และธนาคารโลก พร้อมกล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง “นโยบายการศึกษาเพื่อสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการอย่างมีคุณภาพ” มีใจความตอนหนึ่ง ว่า ศธ. ได้มีแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณารูปแบบและแนวทางการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการศึกษาขึ้น โดยขอให้คณะกรรมการไประดมความคิดเห็นและวางแผนการทำงานร่วมกันว่าจะมีการปฏิรูปการศึกษาอย่างไรที่จะส่งผลให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมทางการศึกษามากที่สุด ที่ผ่านมาประเทศไทยทุ่มงบประมาณ 1 ใน 4 ของงบประมาณแผ่นเดินเพื่อใช้ในการศึกษา นับเป็นสัดส่วนที่สูงแต่กลับพบว่าแม้ ศธ. จะได้รับงบประมาณที่สูงแต่การปฏิรูปการศึกษากับไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ดีเท่าที่ควร เนื่องจากไม่มีการนำงบประมาณไปลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เพราะงบประมาณส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในเรื่องการก่อสร้างอาคารเรียน จ่ายเงินเดือนครู เป็นต้น
“แม้จะมีนโยบายเรียนดี เรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง แต่นโยบายนี้ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์การยกระดับคุณภาพการศึกษาได้ เพราะมีข้อเสียที่ส่งผลให้การระดม
ทรัพยากรทางการศึกษาทำได้น้อยลง ขณะเดียวกันการให้เงินอุดหนุนรายหัวเด็กก็ยังไม่เกิดความเท่าเทียม ซึ่งอยาก
ให้มีการลงทุนทางการศึกษามากขึ้น โดยต้องการให้มีการใช้ทรัพยากรไปยังเด็กที่มีฐานะยากจน และการให้เงินอุดหนุนรายหัวโรงเรียนเอกชนเท่าเทียมกับโรงเรียนภาครัฐ รวมถึงนโยบายเพิ่มผู้เรียนสายอาชีวะแต่กลับพบว่างบลงทุนของอาชีวศึกษายังได้รับน้อยกว่าสายสามัญ ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเป็นข้อมูลที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการลงทุนทางการศึกษาครั้งสำคัญอย่างแน่นอน” นายจาตุรนต์ กล่าว
ด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า แม้ ศธ. จะได้รับงบประมาณทางการศึกษาสูงขึ้น แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษากลับสวนทาง เพราะหากดูผลสอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการประเมินนักเรียนระดับนานาชาติ (PISA) หรือการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ที่ผ่านมาของเด็กจะพบว่า เด็กที่มาจากครอบครัวฐานดีจะทำคะแนนการสอบได้ดีกว่า แต่เด็กที่มีฐานะยากจนกลับได้คะแนนต่ำกว่า ซึ่งยอมรับว่าฐานะทางครอบครัวมมีผลต่อการเรียนของเด็ก โดยปัญหาเหล่านี้ถือเป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและงบประมาณที่ได้รับจัดสรรมาไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้เด็กที่มีฐานะยากจนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ทั้งนี้ ธนาคารโลกจึงได้เสนอสูตรการจัดสรรงบประมาณขึ้น ซึ่งสูตรดังกล่าวจะคำนวณเงินอุดหนุนรายหัวที่สะท้อนต้นทุนการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยจะพิจารณาจากผลการเรียนที่คาดหวัง ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียน ซึ่งเชื่อว่าการจัดทำสูตรงบประมาณใหม่นี้จะตอบโจทย์ความเท่าเทียมทางการศึกษาได้อย่างแน่นอน