xs
xsm
sm
md
lg

สทศ.เดินหน้าสอบ U-NET ไม่สนเสียงค้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์
ไม่สนเสียงค้าน! สทศ. เดินหน้าสอบ U-NET ย้ำเป็นพันธกิจที่ต้องทำ ย้ำไม่บังคับเอกชนต้องใช้คะแนน U-NET ขณะที่กลุ่มค้านตั้งแฟนเพจต้าน พร้อมล่ารายชื่อ 5 หมื่นชื่อ สทศ

วันนี้ (25 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) หรือ บอร์ด สทศ. ให้จัดทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา หรือ U-NET ในปีการศึกษา 2557 โดยจะเริ่มนำร่องทดสอบนิสิต นักศึกษา ระดับปริญญาตรีชั้นปีสุดท้ายของทุกสาขาวิชาในมหาวิทยาลัยที่มีความสมัครใจ และ สทศ. จะประสานไปยังสถานประกอบการต่างๆ เพื่อขอให้ใช้ผลการทดสอบยูเน็ตเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาคัดเลือกพนักงานด้วยนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ล่าสุดในสังคมออนไลน์ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านการสอบ U-NET และตั้งแฟนเพจในเฟซบุ๊ก ชื่อ “ต่อต้านการสอบ U-NET จาก สทศ.” เพื่อติดตามโครงการและร่วมต่อต้านการสอบน โดยภายหลังเปิดเพจไม่กี่ชั่วโมงมีคนกดไลค์จำนวน 36,000 กว่าคน และตั้งเป้ารณรงค์ให้ผู้ไม่เห็นด้วยลงชื่อให้ได้ 50,000 คน เพื่อเสนอต่อ สทศ.ให้ยกเลิกการสอบ U-NET

ทั้งนี้ มีการแสดงความเห็นถึงเหตุผลการต่อต้านหลากหลาย อาทิ เห็นว่าจะทำให้ระบบการศึกษาไทย กลายเป็นระบบเรียน เพื่อสอบมากยิ่งขึ้น, แต่ละวิชาชีพมีการสอบวัดระดับ สอบใบอนุญาต เยอะแยะอยู่แล้ว แต่ก็ยังทำให้หลายคนไม่สามารถทำได้ เพราะมีระบบอุปถัมภ์ การเลือกคนทำงานควรจะเลือกที่ “คุณภาพ” ไม่ใช่ “เส้นสาย” หรือ “ตัวเลข” และยังมีผู้แสดงความคิดเห็นว่าในยุคสมัยนี้ จบมาหางานก็ยาก มาสอบวัดความรู้อีก ยิ่งหางานยากขึ้นไปอีก และมีข้อเสนอ สทศ. ว่า น่าจะเอาเวลาไปพัฒนาระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน อย่าใช้แต่วิธีสอบวัดผลเพียงอย่างเดียว เป็นต้น

ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธาน บอร์ด สทศ. ชี้แจงว่า การที่ สทศ. จัดสอบ U-NET เพราะทำตามพันธกิจและหน้าที่ที่กฏหมายกำหนดไว้ว่า สทศ.จะต้องดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำระบบ วิธีการทดสอบและพัฒนาเครื่องมือวัดและประเมินผลตามมาตรฐานการศึกษาในทุกระดับ และที่ผ่านมา สทศ. จัดทดสอบการศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน สายอาชีพ และการศึกษานอกระบบแล้ว แต่การประเมินผลระดับอุดมศึกษายังไม่เคยจัดสอบ และ U-NET จะเป็นการประเมินมาตรฐานบัณฑิตตามที่กฎหมายกำหนด โดยยึดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ TQF เพราะฉะนั้น สทศ. ยืนยันที่จะเดินหน้าจัดสอบ U-NET ต่อไป

ทั้งนี้ จะจัดสอบใน 4 วิชาได้แก่ การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร การใช้สารสนเทศและเทคโนโลยีเพื่อการดำรงชีวิต : การรู้เท่าทันสื่อ การคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา (Media Literacy) และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) ต่อจากนั้นในปีการศึกษา 2558 สทศ. จะเพิ่มการทดสอบอีก 2 ด้าน ได้แก่ ด้านคุณธรรม จริยธรรม และด้านทักษะวิชาชีพเฉพาะสาขาวิชา จากนั้นจะจัดทดสอบในระดับปริญญาโท และเอกต่อไป ในกรณีที่เด็กอ้างว่าที่ผ่านมามีการจัดสอบมากอยู่แล้ว และถ้ามาจัดสอบอีกเป็นภาระกับเด็ก อีกทั้งในแต่ละวิชาชีพก็มีการจัดทดสอบความรู้อยู่แล้ว สทศ. ไม่จำเป็นต้องมาสอบอีก นั้นขณะนี้การจะเข้าเรียนต่อหรือทำงานจะมีการจัดสอบอยู่แล้ว แต่เครื่องมือที่นำมาใช้ในการวัดเป็นคนละตัวกัน แต่ถ้าให้ สทศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางจัดสอบให้น่าจะดี เพราะเป็นการใช้เครื่องมือตัวเดียวกันมาวัดว่าบัณฑิตทั่วประเทศมีคุณภาพเป็นอย่างไร

“ขณะนี้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ก็จะนำผล U-NET ใช้ในการประเมินมหาวิทยาลัยด้วยว่าผลิตบัณฑิตออกมาเป็นอย่างไร ไม่ใช่มาดูแต่เพียงว่าบัณฑิตจบออกมาทำงานได้มากน้อยแค่ไหน เพราะการได้งานทำนั้นบางครั้งไม่สามารถบอกได้ว่าเด็กมีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นจะทำให้รู้ด้วยว่าสถาบันอุดมศึกษาผลิตบัณฑิตออกมาเป็นอย่างไร ส่วนที่ว่า สทศ. ดึงภาคเอกชนให้นำผลสอบ U-NET ไปใช้ในการคัดคนเข้าทำงานด้วย เป็นการบังคับให้เด็กต้องมาสอบทุกคนนั้น จริงๆ ภาคเอกชนส่วนใหญ่จะมีการสอบเพื่อคัดคนเข้าทำงานอยู่แล้ว ถ้า สทศ. จัดสอบให้เองภาคเอกชนไม่จำเป็นจะต้องไปสอบอีก อาจจะแค่สอบสัมภาษณ์ก็เพียงพอ หรือจะไม่ใช้ผลสอบ U-NET เพราะ สทศ. ไม่ได้ไปบังคับ” ศ.ดร.สมหวัง กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น