เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ - ผู้ริเริ่มล่าชื่อค้านเขื่อนแม่วงก์ แฉมีแหล่งข่าวเตือนถูกนักการเมืองผู้เสียประโยชน์สั่งเก็บพร้อม “ศศิน” หวั่นชีวิตไม่ปลอดภัย รับผุดแผนหลังอึดอัดเห็นเพื่อนสู้เดี่ยว ยันสร้างแล้วช่วยป้องท่วม-ชลประทานไม่ได้ แนะเอางบทำฝายแทน จวกรัฐจัดนิทรรศการน้ำโกหกชาวบ้านว่าโครงการผ่าน EHIA แล้ว แย้มรับไม้ต่อเลขาฯ มูลนิธิฯ สืบ นัดเดินเท้ายื่นแสนชื่อส่งนายกฯ, ยูเอ็น วันปิยะ หวังรัฐฟังเสียงประชาชน
วันนี้่ (3 ต.ค.) นายสมิทธิ์ ตุงคะสมิต อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เริ่มระดมล่ารายชื่อคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ผ่านทางเว็บไซต์ change.org/maewongdam เปิดเผยว่า มีแหล่งข่าวจากใน อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ได้แจ้งกับตนว่าให้ระวังตัวไว้ เนื่องจากมีนักการเมืองผู้เสียประโยชน์จากโครงการได้ตั้งค่าหัวนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิ สืบ นาคะเสถียร, เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ และตนเอาไว้แล้ว โดยไม่ทราบว่าเป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งตนมีความกังวลว่าจะไม่มีความปลอดภัยในชีวิตอย่างมาก หลังจากมีกระแสข่าวดังกล่าว
“ผมกังวลว่ามันจะเหมือนเป็นบรรทัดฐานของประเทศเราหรือเปล่า ว่าหากไปคิดคัดค้านโครงการต่างๆ ก็จะต้องเจอกับความรุนแรง จนทำให้คนส่วนใหญ่ไม่กล้าที่จะต่อสู้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม” นายสมิทธิ์ กล่าว
นายสมิทธิ์กล่าวว่า ตนได้เริ่มโครงการล่ารายชื่อผ่านทางเว็บไซต์ change.org มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้ร่วมลงพื้นที่สำรวจข้อมูลในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ กับนายศศิน จึงมีความรู้สึกอึดอัดใจและอยากจะช่วยงาน เลยเป็นที่มาของการสร้างแคมเปญดังกล่าว เพื่อให้คนไทยได้ร่วมรณรงค์ ซึ่งตอนแรกได้ตั้งเป้าไว้เพียงแค่ 1 หมื่นรายชื่อ แต่หลังจากเกิดกระแสของนายศศินก็ได้มีผู้เข้ามาร่วมลงชื่อจำนวนมาก ซึ่งตนก็ได้แจ้งกับทางเว็บไซต์ให้ไม่จำกัดจำนวนจนล่าสุดยอดอยู่ที่ 110,237 คน
นายสมิทธิ์อธิบายว่า อุทยานแห่งชาติแม่วงก์อยู่ในเขตของผืนป่าตะวันตก เป็นหน้าด่านของอุทยานแห่งชาติห้วยขาแข้ง ซึ่งไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรม เป็นลักษณะป่าที่ราบลุ่มน้ำ โดยล่าสุดได้พบจำนวนการแพร่กระจายของเสือ และกวางในพื้นที่ด้วย ซึ่งที่ตนค้านเพราะการสร้างเขื่อนอยู่ในบริเวณริมป่ากั้นลำน้ำแม่วงก์ที่เป็นแม่น้ำสายเล็กและสาขาย่อยของแม่น้ำสะแกกรัง ซึ่งหากมีการสร้างเขื่อนน้ำก็จะท่วมในตัวอุทยาน นอกจากนี้ก็ยังป้องกันน้ำท่วมไม่ได้ การชลประทานก็ไม่ตอบโจทย์ กับงบ 1.3 หมื่นล้าน แทนที่จะเอาไปทำฝายเล็กๆ คั่นตามลำน้ำที่จะไหลลงลุ่มน้ำสะแกกรัง ก็จะได้หลายฝาย หรือไปสร้างจุดที่อยู่นอกอุทยานก็จะได้ปริมาณน้ำที่มากกว่า ซึ่งตนเชื่อว่าที่เขาอยากสร้างกันเพราะคิดว่ามันสร้างง่ายเนื่องจากมีการศึกษามานาน จึงนำเข้าสู่แผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน แต่เอาเข้าจริงกลับยากกว่า เพราะที่ผ่านมาจากการศึกษาผลกระทบไม่ผ่านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ มาตลอด
ผู้เริ่มระดมล่ารายชื่อคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์กล่าวต่อว่า โดยตอนแรกมีการศึกษาว่าจะสร้างในพื้นที่เขาชนกัน แต่ก็กระทบหมู่บ้านในพื้นที่จึงสร้างไม่ได้ พอจะมาสร้างในป่าก็ไม่ได้อีก แต่ล่าสุดเมื่อปลายปี 55 ก็ได้มีการเปลี่ยนตัวเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จากนายวิจารย์ สิมาฉายา เป็นนายสันติ บุญประคับ และในเดือน ก.พ.ปีนี้ ก็ได้มีการเปลี่ยนตัวคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ด้านพัฒนาแหล่งน้ำ หรือ คชก. ซึ่งเป็นนักวิชาการชำนาญการจริงๆ ยกชุดด้วย จึงไม่มั่นใจว่า คชก.ชุดใหม่จะเป็นกลางทางวิชาการ ขณะที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย กบอ.ก็ได้หลอกว่าจะยกเลิกผลรายงานการ วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทาง ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ หรือ EHIA ชุุดเดิม แล้วศึกษาขึ้นมาใหม่ก็จะยิ่งแย่กว่าเดิมอีก นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า การจัดนิทรรศการการบริหารจัดการน้ำเมื่อต้น ก.ย.ได้มีการโกหกประชาชนด้วยว่า คชก.ได้เห็นชอบ EHIA เรียบร้อยแล้ว ทั้งๆ ที่ความจริงยังไม่ผ่านแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีการใช้แคมเปญยกเหตุการณ์มหาอุทกภัย 54 มาแสดงชี้นำให้คนรู้สึกกลัวว่าหากไม่มีการสร้างเขื่อนน้ำจะท่วมแน่ๆ
“อย่างล่าสุดมันก็มีการสร้างสถานการณ์ให้เกิดน้ำท่วม ชาวบ้านเขาก็รู้แต่พูดไม่ได้ พอรู้มากก็กลายเป็นเป้า” นายสมิทธิ์ กล่าว
นอกจากนี้ นายสมิทธิ์ยังเปิดเผยถึงแผนการเคลื่อนไหวในอนาคตด้วยว่า ก็ได้มีการก่อตั้งเครือข่ายสื่ออาสาภาคประชาชนเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือกรีนมูฟไทยแลนด์ ขึ้น โดยเป็นการรวมตัวกันของอาสาสมัคร ทั้งนักศึกษา และประชาชนทั่วไป โดยตั้งเป้าหมายว่าจะผลิตสื่อเพื่อย่อยข้อมูลให้เข้าถึงชาวบ้านในพื้นที่ได้ง่ายขึ้น อาจจะมีการทำรายการโทรทัศน์ออกฉายทางเคเบิลทีวีท้องถิ่น ทั้งนี้ก็ได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิสืบฯ และองค์กรสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งไม่ใช่แค่กรณีของเขื่อนแม่วงก์ แต่เป็นการรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมของไทย ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่นายศศิน เดินทางมาถึงกทม.ตามภารกิจเดินเท้า 388 กม.ในวันที่ 22 ก.ย. พอจบเหตุการณ์อาสาสมัครก็เห็นว่าเราจะหยุดแค่นี้ไม่ได้ จึงเกิดเครือข่ายนี้ขึ้นมา
นายสมิทธิ์กล่าวด้วยว่า ทางเครือข่ายก็ได้เตรียมจัดแคมเปญสานต่อเจตนารมย์นายศศิน ด้วยการเดินขบวนและขี่จักรยานนำรายชื่อที่เปิดให้ประชาชนมาลงชื่อทางเว็บไซต์ดังกล่าวกว่า 110,000 ชื่อ ไปยื่นให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ,องค์การสหประชาชาติ, องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก และสถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย เพื่อคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ในเขตอุทยานฯ ในวันที่ 23 ตุลาคมนี้ โดยจะเริ่มต้นขบวนจากหอศิลป์กรุงเทพมหานคร ไปตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งจะแจ้งให้ทราบทางเว็บไซต์กรีนมูฟไทยแลนด์ต่อไป เพื่อหวังแสดงสัญลักษณ์ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงพลังต่อรัฐบาล และองค์กรนานาชาติว่า หากจะทำโครงการใหญ่ต้องฟังเสียงประชาชนบ้าง
ล่าสุด (4 ต.ค.) มีรายงานว่า เครือข่ายสื่ออาสาภาคประชาชนเพื่อสิ่งแวดล้อม เตรียมที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 ต.ค.นี้ ส่วนการเดินไปยื่นหนังสือดังกล่าวนั้น ได้ร่นขึ้นมาเป็นวันที่ 19 ต.ค.แทน