xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยน! “นักเลงคีย์บอร์ด” เป็น “นักรบไซเบอร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โพสต์-แชร์-ไลค์... ใครๆ ก็ทราบถึงพลังของโซเชียลมีเดียทุกวันนี้ สำหรับคนไม่ดัง ถ้ารู้จักใช้ให้ดีก็ช่วยให้โด่งดังได้ ส่วนคนดัง ถ้าใช้ไม่ระวังก็อาจดับได้ชั่วข้ามคืนเช่นกัน

ในอีกมุมหนึ่ง อำนาจการสื่อสารบนโลกออนไลน์ยังส่งให้คนธรรมดาในสังคม คนที่อยู่หลังแป้นพิมพ์ “คนตัวเล็กๆ” ที่อาจไม่เคยมีใครได้ยินเสียงในโลกความจริง ได้กลายเป็น “คนเสียงดัง” ก้องสังคมในทันที เพียงแค่มองเห็นปัญหาและออกมาเรียกร้อง เคลื่อนไหวให้เกิด “การเปลี่ยนแปลง”



คนตัวเล็กแต่เสียงดัง
คัดค้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก, ยุติการฉายหนังรุนแรงบนรถทัวร์, เปลี่ยนฝาท่อเพื่อความปลอดภัยของนักปั่น, เราอยากให้มักกะสันเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์, โรงแรมห้าดาว ถอดเมนูหูฉลาม, ทวงคืนต้นไม้ทางขึ้นเขาใหญ่ ฯลฯ

หลายคนคงคุ้นหูคุ้นตากับแคมเปญรณรงค์ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นอย่างดี เพราะเป็นโครงการที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงเป็นประเด็นร้อนอยู่ในสังคมพักใหญ่ๆ ร้อนถึงผู้ใหญ่ในสังคมที่เกี่ยวข้องให้ออกมาร่วมแก้ไขปัญหากันเป็นพัลวัน มองย้อนกลับไปยังเบื้องหลัง จะเห็นว่าการรณรงค์ทั้งหมดนี้คือหัวข้อรณรงค์ที่เกิดขึ้นบน Change.org ตลอดระยะเวลา 1 ปีแห่งการก่อตั้งเว็บไซต์ ซึ่งถือว่าทำหน้าที่ได้ตรงตามคอนเซ็ปต์ที่ตั้งใจเอาไว้ให้เป็นพื้นที่สำหรับ “คนตัวเล็ก” ในสังคมที่เห็นเรื่องราวขัดหูขัดตา ให้มีที่ปลดปล่อย เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปถึง “คนตัวใหญ่” ในบ้านเมือง

แน่นอนว่าการที่จะมี “ความกล้า” ลุกขึ้นมาบอกเล่าความคิดของตัวเองเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่นักรณรงค์เหล่านี้ก็มองว่าไม่ได้ยากจนเกินไปเหมือนกัน อย่างที่ ปุญลาภ ปุณโณทก นักออกแบบกราฟิก ผู้ริเริ่มการรณรงค์ “เราอยากให้มักกะสันเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์” หนึ่งในแกนนำผู้ทำให้โครงการ “มักกะสันคอมเพล็กซ์” ของทาง ร.ฟ.ท. (การรถไฟแห่งประเทศไทย) ซึ่งเข้ามากินพื้นที่สีเขียว-ปอดของคนกรุงเทพฯ ถูกยับยั้งเอาไว้ชั่วคราว บอกเอาไว้ว่าทุกคนสามารถเป็น นักรบไซเบอร์ ได้ทั้งนั้น ถ้าคิดจะทำ!


ฮีโร่บนโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กมันเกิดขึ้นไม่ยาก และไม่จำเป็นว่าเราจะต้องเป็นคนดีทุกกระเบียดนิ้ว ทุกคนมีดาร์กไซด์ มีพื้นที่ส่วนตัว แต่บนโลกออนไลน์ ทุกคนสามารถเป็นฮีโร่ได้ แล้ว Change ก็เป็นอุปกรณ์หนึ่งที่ช่วยให้คนที่มีความคิดดีๆ ต่อสาธารณะ ลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เพียงแต่ขอให้ความคิดเหล่านั้นเป็นไอเดียที่ดีจริงๆ ผมอยากจะเรียกร้อง อยากจะเชิญ อยากจะท้าทายทุกคนเลย ใครก็ตามที่คิดว่าตัวเองมีไอเดียที่ดีพอ ให้เข้ามาช่วยรณรงค์กัน ถ้าเราอยากจะเปลี่ยน อยากให้ประเทศดีขึ้น ให้เริ่มต้นที่ตัวเรา เราทำได้ตอนนี้เลยครับ


นนลนีย์ อึ้งวิวัฒน์กุล นักปั่นสาว เจ้าของแคมเปญ “ล้อติดท่อ กทม. ช่วยที” เป็นตัวอย่างของคนตัวเล็กๆ อีกคนหนึ่งที่เห็นปัญหาเรื่องตะแกรงฝาท่อตามถนนว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้จักรยานเกิดอุบัติเหตุ เพราะฝาท่อวางเป็นแนวตั้ง แนวเดียวกับล้อวิ่งผ่าน เธอจึงไม่ยอมนิ่งดูดาย ออกมาตั้งหัวข้อรณรงค์เรียกร้องให้ กทม. ออกมาเปลี่ยนฝาท่อเป็นแนวขวางรอบกรุง เกิดเป็นกระแสให้ผู้ใหญ่หันมาสนใจ และทำให้เสียงเล็กๆ ของเธอดังขึ้นในสังคม


“ตอนแรกก็คิดอยู่เหมือนกันว่าคนตัวเล็กๆ อย่างเราจะออกมาเรียกร้องกับทางรัฐ จะเป็นอะไรหรือเปล่า ที่บ้านก็กลัว บอกว่ามันเสี่ยงนะ (หัวเราะ) แต่ก็คิดว่าถ้าเราลุกขึ้นมาทำ อาจจะช่วยคนได้อีกเยอะ ถ้าเราไม่สนใจ มองว่าช่างมัน มันก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง

มันไม่ใช่แค่เรื่องฝาท่ออย่างเดียวด้วยนะ ทุกๆ เรื่องเลย เรื่องฟุตปาธด้วย ตอนนั้นเราผ่านไปที่กองไปรษณีย์กลาง เจอกองภูเขาอันนึง เขาขุดท่อแล้วก็กองไว้ วันที่เราเห็นยังมีคนงานทำอยู่ เราคิดว่าเดี๋ยวคนงานกลับไปก็คงจะกลบเรียบ ปรากฏว่า 1 เดือนผ่านไป เราไปอีกครั้งหนึ่ง กองภูเขาอันนั้นก็ยังอยู่ ก็เลยถ่ายรูปแล้วก็ร้องเรียนผ่านทางเฟซบุ๊ก “Bangkok Eyes” ที่ทาง กทม.ดูแลอยู่ตอนนี้ โพสต์บอกเขาปุ๊บ เชื่อมั้ยว่าไม่ถึง 24 ชั่วโมงเลย ฟุตปาธตรงนั้นกลับมาเรียบเหมือนเดิม”



รายชื่อคนลงนาม = คำขู่ที่นิ่มนวลที่สุด
ทุกโครงการที่ประสบความสำเร็จมักเกิดจากการมีประชาชนให้ความสนใจและร่วมมาลงชื่อสนับสนุน เมื่อได้จำนวนรายชื่อตรงตามเป้าและมีน้ำหนักพอที่จะใช้อ้างเสียงส่วนใหญ่ได้ รายชื่อเหล่านี้ก็จะกลายเป็นอาวุธสำคัญในการเรียกร้องให้คู่กรณีหันมาสนใจฟังหรือลุกขึ้นมาเปลี่ยนตามที่ผู้รณรงค์ต้องการ

ในตอนแรกเริ่มนั้น ซินดี้ สิรินยา บิชอฟ นางแบบชื่อดัง ผู้ริเริ่มแคมเปญ “ถอดหูฉลามออกจากเมนู” ยอมรับว่าเธอก็หนักใจเหมือนกัน เพราะการรณรงค์อาจสุ่มเสี่ยงให้เกิดคู่อริและความขัดแย้ง “แต่ซินดี้คิดว่าถ้าเรามีสิ่งที่รู้สึกว่าไม่ควรจะเป็น เราก็มีหน้าที่พูด ถ้าเราทำในทางที่เป็นเชิงบวก ขอความร่วมมือจากเขา ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับใคร ถ้าใครเต็มใจมาเป็นส่วนหนึ่ง เป็นอีกหนึ่งโรงแรมที่ยกเลิกเมนูหูฉลามก็เข้ามาร่วมกับได้ เราไม่ได้ไปบังคับเขาค่ะ”


“แต่ก็ต้องยอมรับว่า Change เป็นเครื่องมือขู่กลายๆ นะ (หัวเราะ) ช่วยให้คู่กรณีที่เราอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หันมาสนใจและอยากมาเข้าร่วมกับเรา” ชนัดดา ธานีกุลภัทร์ นักรณรงค์ประจำองค์กร Fin Free Thailand ผู้ร่วมงานกับซินดี้เสริมเอาไว้อย่างนั้น “เราไม่ได้เอารายชื่อไปตบหน้าเขาแล้วบังคับเขาว่าคุณต้องเอาเมนูหูฉลามออกนะ แต่เราเอารายชื่อไปให้เขาดูแล้วถามเขาว่า คุณแคร์รายชื่อเหล่านี้มั้ยคะ เพราะถ้าคุณยังเสิร์ฟเมนูหูฉลามอยู่ แสดงว่าคุณไม่แคร์พวกเขา สรุปแล้ว ทางโรงแรมเขาก็แสดงออกว่าเขาเห็นแก่ลูกค้า เห็นแก่การอนุรักษ์ เลยกลายเป็นการร่วมมือกันในแง่บวก ทุกวันนี้มีโรงแรมเข้าร่วมกว่า 60 แห่งแล้วค่ะ”


เช่นเดียวกับกรณีของ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ คุณครูผู้ออกมารณรงค์ “คัดค้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก” จนกลายเป็นแรงกระเพื่อมขนาดใหญ่ในสังคม มีคนเข้ามาร่วมลงชื่อกว่า 2 หมื่นรายภายในเวลาเพียง 2 อาทิตย์ และพลังแห่งรายชื่อเหล่านี้เองที่ทำให้รัฐบาลต้องระงับนโยบายนี้ไป


“โรงเรียนเล็กเป็นปลายเหตุที่สุดและสะท้อนปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมได้ชัดมากๆ เพราะฉะนั้น เราก็เริ่มจากเรื่องเล็กๆ อย่างนี้แหละ ในที่สุด เราต้องไปเปลี่ยนแปลงการศึกษา เพื่อให้การศึกษาไทยดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีทักษะการใช้ชีวิต คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ มีจิตอาสา ทำเพื่อสาธารณะ ระบบการศึกษาต้องปลูกฝังอะไรแบบนี้ ไม่ใช่เรียนในห้อง ท่องจำ ทำไม่เป็น ทุกคนเห็นแก่ตัว แข่งขันกัน คุณภาพของสังคมในอนาคตมันจะแย่ไปกว่านี้อีกเยอะเลย”




มากมายปัญหา รอการเปลี่ยนแปลง!
โครงการรณรงค์ที่เกิดขึ้นและถูกกล่าวถึงเป็นเพียงปัญหาสังคมส่วนหนึ่ง ยังมีอีกหลายส่วนที่อยู่ตามซอกหลืบและยังไม่ถูกพูดถึง ลองให้ยกตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาเพิ่มเติมอีกสักหน่อย คุณครูชัชวาลย์ เจ้าของแคมเปญ “คัดค้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก” จึงขอแตกประเด็นเอาไว้ให้ผู้บริหารประเทศร้อนๆ หนาวๆ ไปตามๆ กัน

1.ยกเลิกโอเน็ต เพราะมันเป็นการวัดมาตรฐานจากศูนย์กลาง ตัดสินทั่วประเทศ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีการศึกษาที่แตกต่างกันมาก ตั้งแต่หลังเขา บนเขา ดอย ที่ราบ ชนบท ชนบทเมือง ต่างจังหวัด กรุงเทพฯ 2.ยกเลิกหลักสูตรกลาง 3.ยกเลิก สมศ. (สำนักมาตรฐานการศึกษา) 3 ข้อนี้เรียกว่าเป็นผี 3 ตัวที่หลอกหลอนระบบการศึกษาเราให้ไม่พัฒนา เป็นผีที่คอยเอาไม้บรรทัดไปวัดการศึกษาที่ต่างๆ ถ้าให้สร้างแคมเปญรณรงค์เพิ่มเกี่ยวกับการศึกษา คงจะรณรงค์ให้ยกเลิก 3 ข้อนี้แหละครับ”


นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายโครงการที่น่าสนใจ ซึ่งเกิดจากความรู้สึกขัดหูขัดตาของคนตัวเล็กๆ ในสังคม ทำให้ต้องลุกขึ้นมาเปิดคอมพ์ พิมพ์ระบายความรู้สึก และชักชวนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่าหลายโครงการจะเกิดขึ้นมานานแล้วและยังไม่มีท่าทีว่าจำนวนรายชื่อผู้สนับสนุนจะเพิ่มมากขึ้น หรือยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอันเป็นรูปธรรมใดๆ แต่พวกเขาก็ภูมิใจเสมอที่ได้ออกมาแสดงความกล้าและความต้องการเพื่อสังคม


เจษฎา แต้สมบัติ ผู้รณรงค์ “หยุดลงภาพประจานเพศแตกต่างในหนังสือเรียน” คือตัวอย่างแคมเปญที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ตั้งหัวข้อเอาไว้ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน แต่มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนเพียง 700 กว่าคน “ทำไมแคมเปญของเราไม่ประสบความสำเร็จ อาจจะเพราะคนในสังคมไทยยังไม่ค่อยคุ้นกับเรื่องสิทธิทางเพศกันเท่าไหร่ และส่วนหนึ่งเป็นเพราะการแชร์และไลค์ในโลกออนไลน์ ส่วนหนึ่งเป็นไปเพื่อหน้าตาในสังคม ทำให้คนส่วนหนึ่งกลัวจะถูกมองว่า ถ้าลงชื่อสนับสนุนแคมเปญเกี่ยวกับเกย์ กะเทย ทอม ดี้ คนจะสงสัยว่าคุณคือหนึ่งในนั้นหรือเปล่า เป็นกำแพงค่อนข้างใหญ่ในสังคมไทย แต่เราก็จะสู้ต่อไปค่ะ


ในแบบเรียนสุขศึกษา ระดับชั้น ม.1-ม.6 ระบุเอาไว้ในหลักสูตรว่า เกย์ กะเทย ทอม ดี้ เป็นบุคคลที่วิกลจริต เป็นโรคจิต มีอารมณ์รุนแรง ไม่พอใจในเพศของตัวเอง รวมถึงนำเสนอภาพในลักษณะราวกับอาชญากร มีการคาดตาดำ ทั้งยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ ทำให้พวกเราถูกกีดกัน รังแกจากสังคม สำหรับพวกเราถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะทางสหประชาชาติให้การยอมรับแล้วว่า คนเราสามารถเลือกเพศของตัวเองโดยที่ไม่ต้องตรงกับเพศตามที่เกิดมาก็ได้


“7-11 ถามก่อนแจกถุง” เป็นอีกแคมเปญที่น่าคิดตาม เกิดจากความรู้สึกส่วนตัวของ วรางคณา รัตนรัตน์ ที่เห็นว่าถุงเล็กๆ น้อยๆ ของร้านสะดวกซื้อชื่อดังดังกล่าวแจกกันอย่างไร้สาระเกินไป “เขาควรจะถามลูกค้าก่อนแจกถุงพลาสติกออกมา โดยเฉพาะถุงเล็กๆ อย่างเวลาเราซื้อกาแฟ 1 ถ้วย หรือลูกอม 1 ห่อ เขาก็แจกถุงมาให้ ซึ่งถุงเหล่านั้นมันก็เล็กเสียจนไม่คิดว่าจะเอาไปใช้ซ้ำอะไรให้เกิดประโยชน์ได้แล้ว ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เขาถามก่อนแจก หรือเลิกผลิตถุงขนาดเล็กแบบนี้ค่ะ


“จัดระเบียบบันไดเลื่อนรถไฟฟ้า” ของ ชัชรพล เพ็ญโฉม ก็เป็นหัวข้อรณรงค์ที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง ทำให้ BTS ลุกขึ้นมาติดป้าย “ชิดขวา” ที่จุดเริ่มบนบันไดเลื่อนแต่ละฝั่ง แต่สุดท้าย พฤติกรรมของผู้ใช้รถไฟฟ้าก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ถือเป็นตัวอย่างการรณรงค์ที่ยากที่สุดชิ้นหนึ่ง เพราะเป้าหมายไม่ได้อยู่ที่องค์กรใดเป็นหลัก แต่ของแบบนี้ ต้องเปลี่ยนกันที่ “จิตสำนึกสาธารณะ” ของทุกคน อย่างที่คุณแนน นักปั่นสาว เจ้าของแคมเปญ “ล้อติดท่อ กทม. ช่วยที” ฝากทิ้งท้ายเอาไว้


“สิ่งหนึ่งที่คนรณรงค์ต้องทำ ไม่ใช่แค่ฉันอยากโพสต์ก็โพสต์ อยากเขียนก็เขียน แนนว่าแค่นั้นมันไม่พอสำหรับการเป็นคนรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่ะ เราโพสต์ เราเขียนเสร็จ เราต้องลงมือทำด้วย เพื่อให้เห็นว่าเราทำจริงๆ นะ และคนที่เขาเห็น ช่วยลงชื่อ เขาก็พร้อมจะก้าวเข้ามา ลงมือช่วยเหมือนกัน แนนเห็นหลายคนเข้ามาช่วยกันโพสต์ๆๆ เสร็จแล้วก็จบ ไม่ได้ทำอะไรต่อ แต่แนนอยากให้ไปได้ไกลกว่านั้นค่ะ โพสต์แล้วก็ลงทำให้เกิดขึ้นจริงด้วย ทุกอย่าง อยากให้เริ่มที่ตัวเราก่อนค่ะ เรายังเปลี่ยนแปลงทุกคนไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนตัวเองได้ก็ดีแล้ว”


ตัวอย่างความพยายามของนักรณรงค์ตัวเล็กเหล่านี้ทำให้รู้ว่า แค่เพียงกล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง เริ่มจากหลังแป้นพิมพ์ก่อนก็ได้ เพียงเท่านี้บ้านเมืองเราก็จะอุดมไปด้วย “นักรบไซเบอร์” ที่ลุกขึ้นมาสื่อสารเรื่องราวสร้างสรรค์ให้แก่สังคม มากกว่าเป็น “นักเลงคีย์บอร์ด” พร่ำบ่นเรื่องไร้สาระ ก่อกวนผู้คนอย่างที่มีมากล้นอยู่ทุกวันนี้




ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ขอบคุณภาพ (คลิก): แฟนเพจ Change.org
 


พื้นที่สำหรับ คนตัวเล็ก ที่อยาก เสียงดัง
โครงการรณรงค์ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา





ปุญลาภ ผู้ริเริ่มการรณรงค์ “เราอยากให้มักกะสันเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์”
คุณครูชัชวาลย์ เจ้าของแคมเปญ “คัดค้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก”
ซินดี้ ผู้ริเริ่มแคมเปญ “ถอดหูฉลามออกจากเมนู”
นนลนีย์ เจ้าของแคมเปญ “ล้อติดท่อ กทม. ช่วยที”
ชนัดดา ร่วมรณรงค์หัวข้อ “ถอดหูฉลามออกจากเมนู”
เจษฎา ผู้รณรงค์ “หยุดลงภาพประจานเพศแตกต่างในหนังสือเรียน”
ชัชรพล เพ็ญโฉม เจ้าของแคมเปญ “จัดระเบียบบันไดเลื่อนรถไฟฟ้า”
นักรณรงค์ตัวเล็กมากมาย

กำลังโหลดความคิดเห็น