xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จับตาบอร์ดกลั่นกรองรื้อรีสอร์ตรุกป่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เมื่อ “นายชัชวาลย์ บุญเรืองกิจ” อธิบดีกรมทางหลวง รับปากเครือข่ายอนุรักษ์ประชาชนอนุรักษ์มรดกโลกเขาใหญ่ จะฟื้นฟู ถนนธนะรัชต์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองด้วยการปลูกต้นใหญ่คืนทางขึ้นเขาใหญ่

ขณะที่กลุ่มเครือข่ายฯก็ต้องการให้ “กรมทางหลวง” 1. ให้กรมทางหลวงยกเลิกการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดทันที 2. ให้กรมทางหลวงทำงานกับภาคประชาชนในการฟื้นฟูทางขึ้นเขาใหญ่อย่างจริงจัง

โดยเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่สำนักงานกรมทางหลวง ถนนศรีอยุธยา เครือข่ายประชาชนอนุรักษ์มรดกโลกเขาใหญ่ ได้เดินทางไปจักกิจกรรมเพื่อยื่นรายชื่อประชาชน ที่รณรงค์ผ่าน www.change.org จำนวนกว่า 6,000 คน พร้อมต้นกล้า และเมล็ดมะค่าโมงให้กับกรมทางหลวง เพื่อเรียกร้องให้กรมทางหลวง ถอนอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด และร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาชน ในการฟื้นฟูริมข้างทาง ถนนทางขึ้นเขาใหญ่ ภายหลังจากที่การขยายถนน ส่งผลให้ต้นไม้ใหญ่ และต้นไม้เก่าแก่หลายสิบปี ถูกตัดโค่นไปเป็นจำนวนมาก

มีการจัดทำเป็นภาพต้นไม้ใหญ่โมเสค(Mosaic) ขนาด1.8 x 2 เมตร เพื่อยื่นให้กับกรมทางหลวง พร้อมไปกับการมอบเมล็ดมะค่าโมงจำนวน 128 เมล็ด เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของต้นไม้ใหญ่ 128 ต้น ที่ถูกโค่น

ขณะที่ “นายสราวุธ ทองศิวิไล” รองอธิบดีกรมทางหลวง ที่มารับหนังสือระบุว่า กรมทางหลวงพร้อมร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อฟื้นฟูถนนธนะรัชต์ ในช่วงที่มีการขยายถนนอย่างเต็มที่ ยืนยันว่ากรมทางหลวงไม่อยู่เฉย ได้เริ่มปลูกต้นไม้ไปแล้ว และเรายินดีรับฟังทุกอย่าง ที่ผ่านมาอาจจะมีผิดพลาดไปบ้าง แต่ตอนนี้ขอให้มองไปข้างหน้า และมาร่วมมือกัน เพื่อให้ระบบนิเวศน์เดิมๆกลับคืนมา

ขณะเดียวกัน ยังกล่าวขอบคุณประชาชนกว่า 6,000 คน ที่ลงชื่อผ่าน change.org ที่มีความห่วงใยธรรมชาติ และระบุว่าทางกรมทางหลวงยังคงเดินหน้าอุทธรณ์ ต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป เพราะเห็นว่าคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด จะช่วยสร้างความชัดเจนเรื่องของชนิด และอายุของต้นไม้ ทั้งนี้ ไม่ว่าคำตัดสินจะออกอย่างไร กรมทางหลวงก็พร้อมจะปฏิบัติตาม

ด้าน “นายธารา บัวคำศรี” ตัวแทนเครือข่ายประชาชนอนุรักษ์มรดกโลกเขาใหญ่ ก็บอกว่า เป็นเรื่องที่ดี ที่กรมทางหลวงรับปากว่าจะทำงานกับเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อฟื้นฟูถนนธนะรัชต์ แต่อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายฯ ยืนยันว่า จะเดินหน้าให้กรมทางหลวงถอนอุทธรณ์ ขณะเดียวกันพร้อมร่วมมือในการตั้งคณะทำงานที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการฟื้นฟู ถนนธนะรัชต์อย่างจริงจัง

"การฟื้นฟูธรรมชาติริมทางขึ้นเขาใหญ่ ตามคำสั่งศาลปกครองนั้น สามารถพิจารณาได้หลายแนวทาง เช่น ใช้วิธีการคำนวณมูลค่าทางเศรษฐกิจ และนิเวศวิทยาของต้นไม้ที่ถูกตัดมาเป็นทางเลือกในการวางแผนคืนต้นไม้ โดยจะต้องเกิดขึ้นภายใต้การมีส่วนร่วมจากทุกภาคี ที่ทำงานอนุรักษ์ธรรมชาติในเขตพื้นที่กันชนรอบมรดกโลกเขาใหญ่”

สรุปสั้น ๆก็คือ กรมทางหลวงพร้อมร่วมมือเครือข่ายอนุรักษ์ฯ ฟื้นฟูทางขึ้นเขาใหญ่ แต่ยังไม่ถอนอุทธรณ์ เพราะยังอยากได้ความชัดเจนของคำพิพากษา

อีกเรื่องสัปดาห์ที่แล้ว 16 ก.ค.56 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เมื่อ “นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี” รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้ออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองและเร่งรัดการดำเนินคดีและการใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ เพื่อให้เกิดสัมฤทธิ์ต่อการแก้ไขปัญหาการบุกรุกเข้าครอบครองดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎและ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบริหารราชการแผ่นดิน 2534 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5 ) พ.ศ.2545

มีชื่อคุ้น ๆหลายคน ประกอบด้วย นายวิจารย์ สิมาฉายา รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นประธาน และกรรมการประกอบด้วย นายมโนพัศ หัวเมืองแก้ว อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ นายนพพล ศรีสุข อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายชาตรี สุวรรณิณ อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิ สืบนาคะเสถียร นายธรรมชัย เชาว์ปรีชา ที่ปรึกษา ส่วนตัว รมว.ทรัพยากรฯ นายนิพนธ์ โชติบาล รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ที่ได้รับมอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ และ ผอ.สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

โดย คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่กลั่นกรองและเร่งรัดการดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ เร่งรัดการบังคับคดี และการใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานฯ 2504 และมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ 2507 รวมถึงศึกษาและปรับปรุงมาตรการและแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยป่าไม้แก่ผู้กระทำผิดให้สอดคล้องกับปัญหาปัจจุบัน ภูมิสังคม และการสร้างความเข้าใจให้ประชาชนตระหนักและยอมรับการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ การดำเนินการจะเน้นใช้ทั้งหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ประกอบกัน

โดยคณะกรรมการฯ ชุดนี้จะเริ่มจัดประชุม และจะมีคำสั่งให้เริ่มรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ผิดกฎหมายให้เร็วที่สุด หรืออย่างช้าต้องไม่เกินเดือน ส.ค. รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งคณะกรรมการมีอำนาจในการแต่งตั้งบุคคลเข้ามาร่วมดำเนินการกรณีดังกล่าวได้

เป็นการตั้งคณะกรรมการฯภายหลังจากนายวิเชษฐ์ เข้ามารับตำแหน่ง รมว.ทรัพยากรฯเพียงไม่กี่สัปดาห์

“นายวิเชษฐ์”ประกาศนโยบายแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ว่า

“จะขอสานต่อเจตนารมย์ของคุณ สืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่ทุ่มเทการทำงานในการดูแลทรัพยากรในป่าอย่างมาก”

ดังนั้น จึงมีชื่อ “นายศศิน เฉลิมลาภ” เลขาธิการมูลนิธิ สืบนาคะเสถียร เข้ามาเป็นกรรมการในชุดนี้ด้วย

วันมอบนโยบาย นายวิเชษฐ์ ตอบคำถามนักข่าวที่ถามว่า พื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ถูกบุกเข้าไปสร้างรีสอร์ต แล้วอยู่ระหว่างการดำเนินคดีตามกฏหมาย รวมทั้งที่คดีสิ้นสุดแล้ว เดิมมีแนวคิดว่า จะให้เอกชนเข้ามาเช่าที่เพื่อทำกิจการรีสอร์ตนั้นสืบไปอีก เรื่องนี้รัฐมนตรีมีนโยบายอย่างไร

“คิดง่ายๆหากยอมให้รีสอร์ต ที่ 1 ทำแบบนี้ได้ รีสอร์ต ต่อมาก็ย่อมทำได้ และต่อไปก็จะมีการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ พื้นที่ป่าอนุรักษ์กันมากขึ้น เพราะถือว่า บุกเข้าไปสร้างรีสอร์ตแล้วเดี๋ยวป่าไม้จะเสียดายเพราะสร้างเอาไว้สวย ให้เช่าดีกว่า การคิดแบบนี้ ถือว่าเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดที่สำคัญผิดกฏหมายด้วย จึงจะไม่มีการการให้เช่ารีสอร์ตที่เข้าไปสร้างในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เด็ดขาดไม่มีการเสียดายใดๆทั้งสิ้นด้วย”

“จากนี้ไป เราจะต้องเข้มงวดในการเรื่องใช้กฏหมายให้มากขึ้น คนที่รุกป่า นอกจากได้รับโทษทางอาญาแล้ว จะต้องชดใช้ทางแพ่งในส่วนที่ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพต้องมาเสียไปเพราะการบุกรุกป่าของพวกท่านด้วย ยืนยันว่า ผมมาทำงานในทส.ครั้งนี้ถ้าเปรียบกับนักมวย ผมไม่ใช่ชกแค่ ยกสองยกแน่ แต่ผมจะชกจนครบยก และไม่ยอมแพ้ใครง่ายๆ หลังจากวันนี้ จะลงพื้นที่ดูพื้นที่ที่มีปัญหาการรุกป่าด้วยตัวเอง”นายวิเชษฐ์ระบุ

ดังนั้นต่อไปนี้ก็ต้องจับตาดูว่า “บอร์ดกลั่นกรองรื้อรีสอร์ทรุกป่า”ชุดนี้จะประสานงานกับคนในพื้นที่อย่างไร เพราะตอนนี้ ก็มีข่าวว่า “รีสอร์ตทะเลหมอก” ในอุทยานแห่งชาติทับลาน ยังส่งคนเข้าไปซ่อมแซมและคิดจะรับแขกใหม่

เพราะ “เจ้าของรีสอร์ต” ได้นำเรื่องเข้าฟ้องศาลปกครอง ให้ศาลสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว โดยห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯเข้าไปในพื้นที่ รวมอีก 3 รีสอร์ตที่สร้างใน “อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า” หมู่เกาะเสม็ด ทั้งมุกเสม็ด รีสอร์ต พลอยเสม็ด รีสอร์ต และ อันซีน รีสอร์ต ในจังหวัดระยอง

ขณะที่ล่าสุด กรมอุทยานฯ สรุปผลดำเนินคดีบุกรุกพื้นที่ป่า กรณีบุกรุกอุทยานแห่งชาติทับลาน 5 แห่ง ที่คดีสิ้นสุดแล้ว ให้เดินหน้ารื้อถอนได้ทันที คือ บ้านพักตากอากาศ น.พ.ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์ ที่ยอมรื้อถอนเอง ไร่รวยรินรีสอร์ท คลองกระทิงคันทรีวิวรีสอร์ท ไร่กุลละวณิชย์ และเมืองในหมอกรีสอร์ท ส่วนรีสอร์ทหรูบนเกาะเสม็ด ได้แก่ อันซีน มุกเสม็ด และพลอยเสม็ด

ขณะที่บ้านพักตากอากาศ 12 แห่ง บริเวณ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา เพราะขาดเจตนาบุกรุก แต่กรมอุทยานฯ จะฟ้องแพ่งและติดประกาศรื้อถอน ซึ่งมีข้อมูลว่า ในจำนวนบ้านที่บุกรุกมูลค่าหลายร้อยล้านมีนักธุรกิจรายใหญ่เป็นเจ้าของ “บอร์ดกลั่นกรองรื้อรีสอร์ทรุกป่า”ชุดนี้ จะทำงานกับคนในพื้นที่อย่างไร



กำลังโหลดความคิดเห็น