xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ร่วมทวงคืนต้นไม้เขาใหญ่ผ่าน change.org

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-กลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง เมื่อวันก่อน “เครือข่ายประชาชนอนุรักษ์มรดกโลกเขาใหญ่” นำโดยนายธารา บัวคำศรี ได้สร้างเว็บเพจเพื่อระดมรายชื่อผ่าน change.org/replant หลังจากที่กรมทางหลวงปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา

กรณีนี้ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ร่วมกันนำต้นไม้ 128 ต้น ตามชนิดประเภทขนาดเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ปลูกทดแทนในจำนวนที่เท่ากันกับต้นไม้ที่ถูกตัดโค่นไปตามแนวเขตทางหลวงถนนธนะรัตช์ ระยะทาง 8.1 กิโลเมตร ก่อนทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ภายใน 60 วันหลังจากแพ้คดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาวบ้าน 130 รายที่ร่วมกันยื่นฟ้อง

กรมทางหลวง อ้างว่า การปลูกต้นไม้ใหญ่คืนเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

ประเด็นของการสร้างเว็บเพจนี้ขึ้นมา ตัวแทน “เครือข่ายอนุรักษ์เขาใหญ่”ระบุไว้ว่า ได้รณรงค์เรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2553 จนเป็นผลสำเร็จ เกิดมติคณะรัฐมนตรีพร้อมกับคำสั่งศาลปกครอง หยุดยั้งไม่ให้กรมทางหลวงขยายถนนเพิ่มเติมและต้องฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด

“กรมทางหลวงมีหน้าที่ปลูกต้นไม้ใหญ่ขึ้นทั้งหมด 128ต้น ภายใน 60วัน นับจากวันที่ 16 พฤษภาคม แต่กรมทางหลวงกลับอ้างว่าปลูกยาก ซึ่งเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ผมยืนยันว่าการปลูกต้นไม้คืนไม่ใช่เรื่องลำบากและสามารถลงมือทำได้เลย ถ้ากรมทางหลวงมีความจริงใจ และที่กล่าวว่าการปลูกต้นไม้ใหญ่คืนเป็นไปไม่ได้ เพราะจะไม่มีรากแก้วและทำให้ต้นไม้โค่นล้มได้นั้น เป็นเพียงข้ออ้าง เพราะหากจะปลูกจริงๆก็สามารถใช้วิธีการค้ำยันเพื่อให้ต้นไม้ยืนต้นอยู่ด้วยตัวเองได้”นายธารา กล่าวเพิ่มเติม

ที่มารณรงค์ระดมรายชื่อผ่าน Change.org เพราะเชื่อว่ามีประชาชนเป็นจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับกระทำของกรมทางหลวงเช่นกัน ทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องการให้กรมทางหลวงทำตามคำสั่งศาลปกครองโดยเร็วที่สุด โดยไม่ต้องมีการอุทธรณ์เพราะเป็นการซื้อเวลาจากการเสียหน้าเท่านั้น

บนหน้าเว็บเพจ Change.org/replant ผ่านไป 4วันมีร่วมลงชื่อแล้วกว่า 4,500คน และมีการแสดงความเห็นนับร้อยๆ คน เช่น “พื้นที่ความเจริญมีมากมายเหลือเกิน แต่ป่าที่อุดมสมบูรณ์กลับน้อยลง เหลือพื้นที่สร้างออกซิเจน โอโซน ไว้ให้คนรุ่นหลังบ้าง” และ “สิ่งที่เคยประทับใจคือความร่มรื่นที่แต่ก่อนเริ่มตั้งแต่ทางขึ้นเขาใหญ่ ทำให้สามารถค่อยๆ ขับรถชื่นชมธรรมชาติได้ รู้สึกเสียดายที่บรรยากาศแบบนั้นได้หายไป เมื่อไหร่เราจะสามารถเรียนรู้ที่จะพัฒนาควบคู่ไปกับการรักษาธรรมชาติได้เสียที”

นายธารา กล่าวอีกว่า ทางเครือข่ายฯ จะรวบรวมรายชื่อให้มากที่สุดเพื่อยื่นให้ นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง ภายในเวลาสองสัปดาห์นี้ และเตรียมจัดกิจกรรมอีกจำนวนมากเพื่อเชิญชวนผู้ลงชื่อมาร่วมปลูกต้นไม้เพื่อจุดประกายเรื่องการฟื้นฟูธรรมชาติโดยรวมอีกด้วย

ย้อนกลับไปดูข้อกล่าวหาที่ทาง“เครือข่ายอนุรักษ์เขาใหญ่” ระบุ

“กรมทางหลวง” ยันปลูกต้นไม้กว่า2,000ต้น ถือเป็นการเยียวยาแล้ว

นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม อ้างว่า เมื่อวันที่5 มิ.ยที่ผ่านมา กรมทางหลวงได้มอบหมายให้ทางอัยการทำสำนวนยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางไปแล้ว พร้อมทั้งจัดทำข้อมูลเพื่อประกอบคำอุทธรณ์เรื่องการปลูกต้นไม้ทดแทนตามที่ศาลปกครองมีคำตัดสินออกมา โดยยืนยันว่าหลังจากเกิดปัญหาฟ้องร้องขึ้นทางกรมทางหลวง ได้ปลูกต้นไม้ทดแทนรวมทั้งสิน 2,100 ต้นตั้งแต่เดือนก.พและเดือนเม.ย.2553 มีทั้งไม้เศรษฐกิจ และต้นอินทนิล ซึ่งขณะนี้ต้นไม้มีอายุเกือบ 3 ปี และสูงราว 3-4 เมตรแล้ว และพบว่ามีความหนาแน่นมากบริเวณไหล่ทางถนนธนะรัตช์จนชาวบ้านในพื้นที่ยังบอกว่าจะทำให้เกิดปัญหาในทางออกแล้ว ดังนั้น การปลูกต้นไม้ของกรมทางหลวงทั้ง 2,100 ต้นครั้งนี้จึงน่าจะเป็นการเยียวยาผลกระทบแล้วจากการตัดต้นไม้ของเอกชนที่มาทำโครงการหรือไม่

กรมทางหลวงต้องชี้แจงกับศาลว่าเราไม่ได้ดื้อ หรือไม่รับฟังแต่การอุทธรณ์ครั้งนี้ เพื่อชี้แจงในประเด็นการปลูกและฟื้นฟูต้นไม้ว่ากรมทางหลวงได้ทำแล้ว เพราะในทางปฏิบัติการหาต้นไม้ทั้งขนาดและชนิดเดียวกันมาปลูก ในทางวิชาการยอมรับว่าทำได้เพราะหาซื้อหรือต้องจัดหามา แต่ข้อเท็จจริงความเหมาะสมของการปลูกต้นไม้ควรทำตั้งแต่ต้นเล็ก เพราะความแข็งแรงของรากไม้ หากนำต้นไม้โตมาปลูกจะต้องมาจากต้นไม้ล้อม ไม่สามารถทานลมได้และต้องมีค้ำยันตลอดอายุของมัน

" ถ้าค้ำยันไม่แข็งแรงก็มีโอกาสที่จะล้มหรือโค่นมาใส่รถยนต์ที่สัญจรได้ง่าย ซึ่งในช่วงหน้าฝนของของทุกปีแขวงทางหลวงหลายแห่งต้องจ่ายเงินค่าชดเชยและถูกฟ้องร้องในกรณีต้นไม้ กิ่งไม้ล้มใส่รถ ใส่คนอยู่บ่อยๆครั้งๆเพราะถือเป็นความผิดจากการไม่ดูแลต้นไม้ข้างทาง แต่ไม่เคยรวบรวมเงินว่าเท่าไหร่ ทัังที่ในหลักการทำถนนควรต้องเว้นระยะปลอดภัยจากไหล่ทางไว้10 เมตร แต่บ้านเราอะลุ่มอล่วยปลูกต้นไม้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางหลวงเห็นด้วยและแต่ละปีปลูกต้นไม้มากกว่า 2 หมื่นต้นตามไหล่ทางหลวงทั้วประเทศ มากกว่าบางกรมที่รับผิดชอบปลูกเสียอีก แม้แต่ถนนทางขึ้นเขาใหญ่ไปให้ลองดูว่าถ้าหลุดพ้นไหล่ทางของกรมทางหลวงไปแล้ว ก็ไม่ค่อยเจอต้นไม้ใหญ่แล้ว" นายชัชวาลย์ ระบุ

ดังนั้น ขณะนี้ต้องรอจนกว่าจะมีคำพิพากษาสุดท้ายออกมาก่อน และจะยังไม่เตรียมหาไม้ใหญ่เพื่อรอการปลูกภายใน 60 วันตามคำสั่งศาล เพราะยังยืนยันว่ามันทำได้ แต่ปฏิบัติยากเพราะการหาพันธุ์ไม้แต่ละชนิดไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และกรมทางหลวงเองก็ปลูกต้นไม้ทดแทนไปแล้วก็น่าจะสมเหตุสมผล และการดำเนินการของเราก็เป็นคดีตัวอย่าง อย่างไรก็ตาม อยากให้เข้าใจด้วยว่าการพัฒนากับการอนุรักษ์จะต้องสมดุลกัน

เขายืนยันว่าการขยายถนนธนะรัตช์ในปี 2553 มีต้นไม้บางส่วนที่ขุดล้อม และตัดโค่นไปโดยมีองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อป.) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการในตอนนั้น ส่วนจะสามารถนำต้นไม้ที่ขุดล้อมจะยังเหลืออยู่หรือไม่กรมทางหลวงไม่ทราบ และไม้ท่อนที่ถูกตัดคงต้องถามกับทางอ.อ.ป.

ส่วนที่สำนักงานทางหลวงที่ 8 นครราชสีมา นายอดุลย์ เชาว์วาทิน ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 8 นครราชสีมา อ้างเช่นกันว่า กรมทางหลวง เคารพคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น แต่ก็จะขอใช้สิทธิ์อุทธรณ์ภายใน 30 วัน เนื่องจากคำพิพากษาบางข้อทำได้ยากในทางปฏิบัติ ทั้งให้นำเอาต้นไม้ขนาดใหญ่มาปลูกให้มีสภาพใกล้เคียงของเดิม ก็จะไม่มีรากแก้ว ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาต้นไม้โค่นล้มได้ง่าย เป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนได้ในอนาคต รวมทั้งเรื่องเคลียร์โซนที่ต้องมีระยะห่างพอสมควรในการปลูกต้นไม้ ซึ่งที่ผ่านมาทางกรมทางหลวงก็ได้มีการปลูกต้นไม้ชดเชยไปแล้วกว่า 2,000 ต้น โดยเป็นกล้าไม้ชนิดต่างๆ สูงประมาณ 12-15 เซนติเมตร

เขาระบุว่าทางกรมทางหลวงก็กำลังหาทางเยียวยาผลกระทบตามที่กลุ่มองค์กรเอ็นจีโอฟ้องร้อง โดยจะต้องฟื้นฟูสภาพต้นไม้ควบคู่ไปกับความปลอดภัยบนท้องถนนด้วย

สุดท้ายก็ต้องร่วมกันจับตาดูว่า ประชาชนนับพัน ที่ร่วมลงชื่อร่วมปกป้องเขาใหญ่ กว่า 4,000 คนผ่าน change.org จะสามารถกดดันให้กรมทางหลวง ปลูกต้นไม้คืนทางขึ้นเขาใหญ่ได้อย่างไรน่าติดตาม



กำลังโหลดความคิดเห็น