คัดค้านแนวคิด “ยุบโรงเรียนของหนู” โรงเรียนเล็กๆ ตามชนบทอย่างสุดพลังกันทั้งประเทศตลอดช่วงที่ผ่านมา มีผู้ร่วมลงชื่อรณรงค์ “ขอคืนพื้นที่การศึกษาให้ชุมชน : คัดค้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก” บนอินเทอร์เน็ตจนยอดทะลุ 20,000 เสียงตามเป้า
เดินทางยื่นเอกสารคัดค้าน รมว.ศึกษาธิการจึงยอมโอนอ่อนผ่อนตาม รับปากจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างชาวบ้านและรัฐ ก่อนปักธง ยุบ-ไม่ยุบ โรงเรียนของหนู
เรียกได้ว่าเสียงประชาชนที่ลงชื่อคัดค้านไม่สูญเปล่า ล่าสุด สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มหัวข้อการรณรงค์และชักชวนให้ผู้คนในระบบคอนเน็กมาร่วมลงนาม ได้เดินทางไปยื่นข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยตัวแทนครู ผู้ปกครอง จากโรงเรียนขนาดเล็กทั้ง 4 ภาค ขอให้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนเรียบร้อยแล้ว
ผลปรากฏว่า พงศ์เทพ เทพกาญจนา รับปากว่าจะฟังเสียงจากชุมชนเป็นหลัก ก่อนตัดสินใจว่าจะยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กแห่งใดบ้าง โดยให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ทั้ง 182 เขต เป็นฝ่ายจัดทำแผนบริหารจัดการต่อไป
ข้อเสนอที่ทาง ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย เสนอไปคือข้อเรียกร้องว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาทางเลือกตาม มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ขอให้พัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กเป็นโรงเรียนชุมชน โดยจัดการศึกษา 3 รูปแบบ คือการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย
ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพโรงเรียนชุมชน โรงเรียนละ 200,000 บาทต่อปี, ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบ ข้อบังคับ ที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนชุมชน (โรงเรียนขนาดเล็ก) เช่น เกณฑ์การจัดสรรครู การจัดสรรงบประมาณ ให้เหมาะสมกับขนาดของโรงเรียน
รวมถึงขอให้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการบริหารจัดการโรงเรียนชุมชนและการศึกษาทางเลือกไทยขึ้นมา หรือจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการบริหารจัดการโรงเรียนชุมชนและการศึกษาทางเลือกไทย ดูแลรับผิดชอบโรงเรียนขนาดเล็กและการศึกษาทางเลือกไทย แยกออกจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยเฉพาะ และนี่คือเหตุผลเด็ดๆ ที่ทางคณะผู้รณรงค์แจกแจงเอาไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้
“โรงเรียนเหล่านี้จำนวนมากอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เป็นหัวใจของชุมชน และเป็นที่พึ่งของเด็กๆ ที่ยากจนไม่สามารถเดินทางไปศึกษาในแหล่งชุมชนที่ใหญ่กว่าได้ การยุบโรงเรียนเป็นการหักหาญ ทำลายหัวจิตหัวใจของพ่อแม่ หัวอกของชุมชนอีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะเป็นการปัดภาระให้ประชาชนต้องย้ายลูกไปเรียนโรงเรียนที่ห่างไกลชุมชน และเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แม้จะมีรถรับส่งดูแลตามที่ได้ประกาศ แต่การเรียนไกลบ้านย่อมรวมถึงค่าใช้จ่ายจิปาถะที่ย่อมจะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งเกินกว่าหลายครอบครัวจะแบกรับได้”
ถึงแม้กระทรวงศึกษาธิการจะรับปากว่าจะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างชาวบ้านและรัฐ เพื่อตัดสินเรื่องการยุบหรือไม่ยุบโรงเรียนเล็กแล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าไม่มีอะไรแน่นอน จนกว่าทางคณะทำงานจะเสนอเรื่องต่อส่วนกลางในวันที่ 24 พ.ค นี้
“คุณครูทุกคน จึงจะขอเชิญชวน อย่าเพิ่งหยุด ร่วมลงชื่อต่อไป จนกว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในสัปดาห์หน้า เรายังคงต้องการเสียงของทุกคน เพื่อบอกรัฐมนตรีพงศ์เทพว่า เด็กทุกคนต้องมีโอกาสทางการศึกษา ได้เลือก ได้คิด และเรียนรู้ตามความถนัดในสิ่งที่ตนสนใจ ครอบครัว ชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการศึกษา ร่วมกับโรงเรียน เราจะไม่โยนภาระอันนี้ให้เป็นหน้าที่หลักของโรงเรียนเท่านั้น”
คณะผู้รณรงค์ประกาศเอาไว้ใน change.org (คลิกเพื่อร่วมลงชื่อ) และหน้าเพจ Change.orgThailand (คลิกเพื่อไปยังเพจ) บนเฟซบุ๊ก
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โรงเรียนของหนู อยู่ไกลไกล๊ไกล..ยุบหรือไม่ คิดให้ดีนะผู้ใหญ่!