xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่าย ร.ร.ขนาดเล็กส่งชื่อค้านยุบ ร.ร.ให้ ศธ.ชี้เป็นสาเหตุครู-เด็กหญิงถูกข่มขืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก ส่งกว่าหมื่นรายชื่อค้านยุบโรงเรียนให้ รมว.ศธ.พร้อมนัดพบ “พงศ์เทพ” 15 พ.ค.นี้ ชี้การยุบรวมที่ผ่านมาทำให้เกิดปัญหาครูและนักเรียนถูกข่มขืนจนตัดสินใจฆ่าตัวตาย เสนอทางออกให้ยกเป็นโรงเรียนชุมชน บริการทั้งเด็ก ผู้ปกครองและชุมชน จัดสรรงบประมาณและครูให้ตามจำนวนครัวเรือน พร้อมจัดตั้งกองทุนโรงเรียนชุมุชน อัดฉีดงบปีละ 2 แสนบาทให้ร.ร.ชุมชนทุกแห่ง

วันนี้ (11 พ.ค.) ชมรมเครือข่ายโรงเรียนชุมชน (โรงเรียนขนาดเล็ก) แห่งประเทศไทย สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย ร่วมประชุมเกี่ยวกับนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กของกระทรวงศึกษาธิการและเปิดแถลงข่าวภายหลังการประชุม โดยนายเดชา พงษ์แดง รองประธานเครือข่ายโรงเรียนชุมชน (โรงเรียนขนาดเล็ก) แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางชมรมไม่ได้คัดค้านยุบรวม หรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กแต่อยากให้มีการจัดกลุ่มให้ชัดเจน และในการจัดกลุ่มโรงเรียนที่จะยุบและ ร.ร.ที่ไม่ควรยุบนั้น จะต้องมีเกณฑ์ประเมินที่เหมาะสม เปิดโอกาสให้ชุมชนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำเกณฑ์ รวมถึงมีส่วนร่วมในประเมินว่า โรงเรียนขนาดเล็กแห่งใดควรยุบหรือไม่ยุบด้วย ไม่ใช่ให้เป็นการตัดสินใจของเขตพื้นที่การศึกษาเพียงฝ่ายเดียวเหมือนในปัจจุบัน เพราะถ้ายุบโรงเรียนผ่านกระบวนการที่ว่ามา ทุกฝ่ายพร้อมยอมรับการยุบโรงเรียนโดยไม่มีการคัดค้าน

“แม้ว่าโดยหลักการเราไม่ขัดนโยบายยุบโรงเรียน แต่ที่เรากังวล คือ การให้การสนับสนุนโรงเรียนขนาดเล็กจากรัฐ ถ้าปล่อยให้อยู่ในสภาพนี้ต่อไป โรงเรียนเล็กไม่สามารถจัดการศึกษาให้มีคุณภาพได้ สุดท้าย โรงเรียนขนาดเล็กที่เหลืออยู่ ก็ต้องถูกจัดเข้าอยู่ในกลุ่มโรงเรียนถูกยุบ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ ให้การสนับสนุนโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่ม ส่วนระบบการจัดสรรงบประมาณตามรายหัว และจัดสรรครูตามจำนวนนักเรียนนั้น ไม่เหมาะสมจะนำมาใช้กับร.ร.ขนาดเล็ก เพราะทำให้ได้ครู และงบประมาณน้อยเกินกว่าจะจัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้ ที่สำคัญ ยังมีนโยบายจากส่วนกลางบางอย่างที่เป็นการตอนร.ร.ขนาดเล็กอีก เช่น ปัจจุบัน เมื่อผู้บริหารของโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 60 คน เกษียณราชการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะไม่ยอมตั้งผู้บริหารคนใหม่ไปแทน ทั้งที่สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กแล้ว ผู้บริหารโรงเรียนมีความสำคัญมาก ในภาวะที่งบประมาณไม่เพียงพอ ชุมชนก็ไม่มีกำลังเงินจะช่วยโรงเรียนได้มาก ฉะนั้นทางรอดจึงขึ้นอยู่กับศักยภาพในการบริหารจัดการของโรงเรียน แต่เมื่อโรงเรียนขาดผู้นำก็จบ ครูเองก็ขาดขวัญกำลังใจ ชุมชนก็ขาดความเชื่อมั่น สุดท้ายคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนแห่งนั้นก็จะด้อยลง ” นายเดชา กล่าว

ด้านนายสมบูรณ์ ริมท้าว ประธานเครือข่ายโรงเรียนชุมชน(โรงเรียนขนาดเล็ก) แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การให้ข่าวเกี่ยวกับนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กของนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการนั้น ทำให้ ร.ร.ขนาดเล็กทั่วประเทศหวั่นไหว กังวล มีผลกระทบต่อความรู้สึกของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู ร.ร.ขนาดเล็กทั่วประเทศ และทางชมรมฯขอโตแย้งในหลายประเด็นที่ รมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ อาทิเช่น ที่พูดว่า ร.ร.ขนาดเล็กด้อยคุณภาพนั้น ไม่เป็นความจริง ถ้าเปรียบเทียบคะแนนโอเน็ตของแต่ละโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษา พบว่า หลายเขตพื้นที่มีโรงเรียนขนาดเล็กติดใน 10 อันดับแรก บางเขตพื้นที่มีโรงเรียนขนาดเล็กติดใน Top Ten ถึง 8 โรง ขณะที่ผลการประเมินจากสำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) รอบ 3 โรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่ผ่านการรับรองจาก สมศ.

ส่วนในประเด็นที่ว่า การยุบโรงเรียนขนาดเล็กสามารถประหยัดงบประมาณนั้น จริงๆ แล้วถึงยุบโรงเรียนแต่บุคลากร นักเรียนของโรงเรียนก็ยังอยู่เท่าเดิม ใช้งบประมาณในการจ้างและใช้งบประมาณรายหัวเท่าเดิม แต่กลับต้องมาเสียงบประมาณจัดซื้อรถตู้ขนส่งนักเรียน เสียค่าน้ำมัน ค่าคนขับรถ ค่าบำรุงรักษาตามมา รวมๆ แล้วไม่ได้เป็นการประหยัดงบประมาณเท่าใด ที่สำคัญ ความปลอดภัยของนักเรียนเป็นสิ่งสำคัญ ศธ.และ สพฐ.มีหลักประกันใดว่า การเดินทางของนักเรียนจะมีความปลอดภัย 100% และมีหลักประกันใดว่า ต่อไปในอนาคตผู้ปกครองจะไม่ต้องมารับภาระค่ารถรับส่งนักเรียนเอง

เพื่อแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ทางชมรมฯ สภาการศึกษาทางเลือกไทย จึงมีข้อเสนอให้รัฐบาลดำเนินการ โดยให้ยกฐานะโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศเป็นโรงเป็นนิติบุคคล พร้อมดำเนินการให้ ร.ร.ขนาดเล็กเป็น ร.ร.ชุมชน คือ เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย รองรับการจัดการศึกษาให้ความรู้ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง และคนในชุมชน โดยให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนารร.ชุมชน และจัดสรรเงินให้โรงเรียนชุมชนแห่งละ 200,000 บาทต่อปี ตรงนี้ น่าจะประหยัดกว่าซื้อรถตู้ รวมถึงให้ปรับปรุงกฎหมายที่ขัดขวางการพัฒนา ร.ร.ขนาดเล็ก เช่นการกำหนดเกณฑ์การจัดสรรครู 1 : 20 และการจัดสรรงบประมาณตามรายหัว ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นโรงเรียนชุมชนแล้ว ควรจัดสรรงบประมาณและครูตามจำนวนครัวเรือน ชุมชนขนาดเล็กมี 15 ครัวเรือน อาจได้รับการจัดสรรครู 1 คน ชุมชนขนาดใหญ่ ได้รับจัดสรรครู 20 คน นอกจากนั้น ให้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการบริการจัดการโรงเรียนชุมขนและการศึกษาทางเลือกไทย แยกต่างหากจาก สพฐ.เพื่อดูแล ร.ร.ขนาดเล็กและการศึกษาทางเลือกโดยเฉพาะ” นายสมบูรณ์ กล่าวและว่า รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว ว่าจะจัดให้มีครูดีอย่างเพียงพอ แต่ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการเรื่องนี้ ขณะที่ดำเนินการนโยบายอื่นๆ เรียบร้อยแล้ว ทั้ง จำนำข้าว ค่าแรง 300 ป.ตรีได้เงินเดือน 1.5 หมื่นบาท

ขณะที่นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย กล่าวว่า ทุกรัฐมนตรีที่มานั่งกระทรวงศึกษาธิการ ก็จะมีนโยบายยุบโรงเรียนอยู่เรื่อย เป็นผลจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของ สพฐ.ทำให้ มีร.ร.ขนาดเล็กเพิ่มทุกวัน จนกระทั่งปัจจุบันมีโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ประมาณ 14,000 โรง เพราะฉะนั้น สพฐ.ควรกระจายอำนาจจัดการศึกษาให้ผู้มีศักยภาพในการจัด และควรมาดูสาเหตุของปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่แท้จริงเพื่อหาทางแก้ปัญหาให้ถูกต้อง ไม่ใช่สั่งยุบก็ยุบเลย ไม่ได้มาคุยกับชุมชนจริงจัง
แฟ้มภาพ
เราได้มีการเปิดให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายยุบโรงเรียนลงชื่อใน www. change.org ขณะนี้ มีผู้ลงชื่อแล้ว 11,693 รายชื่อ ซึ่งทางสมาคมได้ส่งอีเมล์ไปยัง รมว.ศธ.แล้ว และใน วันที่ 15 พ.ค. นี้ ทางชมรมและสมาคมจะไปพบกับ รมว.ศธ.เราอยากให้ท่านได้ฟังชุมชน ฟัง ผอ.ร.ร.ขนาดเล็ก ส่วนในวันที่ 16 อนุกรรมาธิการ การศึกษาของวุฒิสภา ได้เชิญสมาคมไปชี้แจ้ง และในอนาคตจะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ในพื้นที่สาธารณะหน้ากระทรวงศึกษาธิการ” นายชัชวาลย์ กล่าว

นายวัชระ เกตุชู ชุมชนวัดท่าสะท้อน อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า การยุบโรงเรียนไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องเสมอไป อย่างโรงเรียนวัดท่าสะท้อนถูกยุบไปรวมกับโรงเรียนอื่นเมื่อปี 2547 ขณะนั้นมีนักเรียน 64 คน ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดรุนแรง เส้นทางไปโรงเรียนใหม่ทั้งเปลี่ยวและน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากด้วย เป็นปัญหาในการเดินทางของเด็กมาก ผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นค่าเดินทาง ขณะที่ชุมชนอยู่ในความเหงาเมื่อ ร.ร.โดนยุบ ขาดศูนย์กลางชุมชน ชาวบ้านขาดแหล่งปัญญา สุดท้ายชุมชนรวมตัวกันเปิดโรงเรียนวัดท่าสะท้อนขึ้นใหม่ในปี 2550 ปัจจุบันเหลือนักเรียน 38 คน

นายเดชา พวงทอง ร.ร.บ้านชายนาพัฒนา กล่าวว่า ใน จ.ลำปาง เคยมีการยุบรวมโรงเรียน 3-4 โรงเรียน มาอยู่กับโรงเรียนหลัก เป็น ร.ร.ขนาดโอกาสซึ่งก็ไม่ได้คุณภาพดีเท่าที่ควร สุดท้ายจำนวนนักเรียนในโรงเรียนหลักก็ลดลงเรื่อยๆ นักเรียนหนีอยู่โรงเรียนในเมืองที่มีคุณภาพดีกว่า สุดท้ายการยุบโรงเรียนก็ไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนั้น ยังเกิดกรณี โรงเรียนในเมืองแห่งหนึ่ง มีครูผู้หญิง และนักเรียนหญิงฆ่าตัวตายเพราะถูกละเมิดทางเพศ ชาวบ้านในชุมชนยังพูดกันว่า ถ้าให้เรียนใกล้บ้านจะไม่เป็นอย่างนี้ เพราะถ้าโรงเรียนอยู่ในชุมชน ช่วงเวลากลางวัน ชาวบ้านยังไปดูแลลูกได้ รวมถึง ยังมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งของเด็กที่มาจากถิ่นกัน มีกรณีเด็กที่มาจากกต่างถิ่นทำร้ายร่างกายกันจนเสียชีวิต เพราะฉะนั้น กรณีต่างๆ เหล่านี้ บ่งบอกว่า ไม่มีสูตรสำเร็จว่า เมื่อควบรวมแล้ว เด็กจะได้รับสิ่งที่ดีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น