ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ด้วยมติ 188 ต่อ 1 งดออกเสียง 4 เสียง คุ้มครองสัตว์มิให้ถูกทารุณกรรม จัดที่อยู่ให้เหมาะสม ด้าน "สนช.มณเฑียร - ศิริพล" ท้วงไม่นิยามให้ครอบคลุมหวั่นสุดท้ายหาคนลงโทษไม่ได้
วันนี้ (12 พ.ย.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ทำหน้าที่ประธาน โดยที่ประชุมได้เห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ... ด้วยคะแนน 188 ต่อ 1 งดออกเสียง 4 เสียง ทั้งนี้ร่างดังกล่าวมีสาระสำคัญเพื่อคุ้มครองสัตว์มิให้ถูกทารุณกรรม อีกทั้งจะต้องมีการจัดสวัสดิภาพให้แก่สัตว์ ให้มีความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับสภาวะของสัตว์แต่ละชนิด และเป็นการป้องกันมิให้ใช้ข้ออ้างการทารุณกรรมสัตว์เป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าจากต่างประเทศ
โดยก่อนหน้านี้ กลุ่มภาคประชาชนคนรักสัตว์ นำโดย น.ส.ชลลดา เมฆราตรี ประธานมูลนิธิเดอะวอยช์ และดาราพิธีกรชื่อดัง ได้นำ รายชื่อประชาชนจำนวน 114,000 คน ที่ลงชื่อผ่าน www.change.org/protectanimals เพื่อผลักดันให้มีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ภาคประชาชน ที่มีรายละเอียด 20 ข้อห้ามการทารุณกรรมสัตว์ อย่างไรก็ตามในชั้น กรรมาธิการได้มีการพิจารณาให้ข้อห้ามเหล่านี้บางส่วนให้อยู่ในนิยามการทารุณกรรมสัตว์เท่านั้น แต่ไม่ได้มีการบรรจุเป็นกฎหมายเป็นข้อๆ อย่างชัดเจน เพียงแต่ตั้งเป็นข้อสังเกตจาก กมธ.เท่านั้น ทำให้สมาชิก สนช.บางส่วน เช่น นายมณเฑียร บุญตัน นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ได้ลุกขึ้นท้วงติงว่า การที่ไม่มีการกำหนดนิยามทารุณกรรมสัตว์ให้ครอบคุลมและมีรายละเอียดให้ชัดเจน อาจจะทำให้กฎหมายมีปัญหาในการนำไปบังคับใช้ เพราะทั้งหมดต้องขึ้นอยู่ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ว่าเป็นการทารุณกรรมหรือไม่ ซึ่งในที่สุดอาจจะทำให้ ไม่สามารถนำตัวผู้ทารุณกรรมสัตว์มาลงโทษได้
สำหรับ 20 ข้อย่อยของกลุ่มคนรักสัตว์ ที่ไม่ได้รับการบรรจุเป็นกฎหมาย อาทิ เช่นการทอดทิ้งสัตว์เพื่อให้พ้นภาระ การเฆี่ยนตี การกักขังสัตว์ในที่แคบ การนำสัตว์มาต่อสู้กันโดยไม่ได้รับอนุญาต การบริโภคสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะสัตว์มีกระดูกสันหลัง หรือห้ามค้าสุนัขและแมวเพื่อการบริโภค ฆ่าสัตว์ หรือทำร้ายสัตว์ โดยลุแก่โทสะ การใช้ยาหรือสารพิษ หรือสารอันตรายใดๆ ต่อสัตว์ โดยไม่จำเป็น การใช้พาหนะที่ไม่เหมาะสมในการขนส่งหรือเคลื่อนย้ายสัตว์ให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมาน บาดเจ็บ หรือตาย เป็นต้น
ภายหลังที่สนช.ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว ภาคีองค์กรสวัสดิภาพสัตว์ ที่ประกอบด้วย A CALL for Animal Rights Thailand สมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย มูลนิธิรักสัตว์ป่า มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า มูลนิธิดินดีน้ำใสแห่งประเทศไทย โครงการเพื่อนข้างถนน เครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านการค้าสุนัขข้ามชาติและการทารุณกรรม (WDT, Watchdog Thailand) องค์กรทำดี และ ศูนย์บริบาลช้าง Elephant Nature Park ได้ออกแถลงการณ์ว่า กฎหมายมีการปรับปรุงแก้ไขในหลายมาตราให้ดีขึ้นกว่าร่างเดิมมากรวมถึงนิยามสัตว์ที่สามารถครอบคลุมสัตว์ป่าที่ใช้ในการจัดแสดงและที่อยู่ในธรรมชาติ รวมทั้งการค้าสุนัข ที่สุดท้ายเป็นข้อสังเกต แม้ทั้ง 20 ข้อ จะไม่ได้รับการบรรจุไว้ในกฎหมาย แต่ก็ได้เขียนเป็นข้อสังเกตในการออกกฎหมายลูกต่อไป การต่อสู้ของพวกเราไม่ได้สูญเปล่า