xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“บิ๊กตู่”จะพูดอะไรกับ “โอบามา” ในเวทีอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้จับมือหารือกับ นายจอห์น แคร์รี่ รมว.ต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัปดาห์ที่แล้ว ทำเนียบขาวแถลงแล้วว่า ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดสหรัฐ-อาเซียน ระหว่างวันที่ 12-14 พฤศจิกายน ในกรุงเนย์ปิดอว์ ประเทศพม่า

นอกจากนี้ จะมีการเจรจาทวิภาคีกับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง และพบปะกับนางออง ซาน ซู จี ผู้นำฝ่ายค้าน ของพม่า ในวันที่ 14 พฤศจิกายนด้วย

เป็นการเยือนภูมิภาคอาเซียน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา

ส่วน “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีไทย ก็มีกำหนดจะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมเหมือนกับผู้นำอาเซียนอื่น ๆ เป็นการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 25 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 12-13 พฤศจิกายน

จากข้อมูลในเวปไซด์ ของกระทรวงการต่างประเทศ การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมสุดยอดครั้งที่ 2 ของปี ซึ่งนอกจากผู้นำอาเซียนจะประชุมภายในกันเองแล้ว ผู้นำอาเซียนจะร่วมประชุมกับคู่เจรจา ได้แก่ อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และจีน

รวมทั้งจะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ การประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก และการประชุมผู้นำอาเซียนกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนด้วย นอกจากนี้ จะมีการประชุมในระดับอนุภูมิภาคอีก 1 กรอบ คือ การประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น  

เชื่อกันว่า “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะได้พบกับ ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐ อย่างเป็นทางการครั้งแรก แต่ไม่มีการยืนยันว่า จะมีการหารือแบบทวิภาคีหรือไม่

มาดูข้อมูลในการประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ของการประชุมสุดยอดครั้งนี้ คือ การทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งพัฒนาการความคืบหน้าในการสร้างประชาคมอาเซียน เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนในปลายปีหน้า ตลอดจนหารือและผลักดันประเด็นความร่วมมือที่จะเป็นผลประโยชน์ร่วมกันต่อไปทั้งในกรอบอาเซียนและกับคู่เจรจา อีกทั้งเป็นโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นประเด็นในภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศที่สำคัญ

ขณะที่ หัวข้อการหารือที่สำคัญของการประชุมสุดยอดอาเซียนประกอบด้วย 1) การสร้างประชาคมอาเซียน 2) วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี 2558

3) การแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้นำอาเซียนได้หารือเกี่ยวกับการสร้างประชาคมอาเซียน และ ประเด็นเร่งด่วนสำหรับอาเซียนในปี 2558 รวมทั้งร่วมกันกำหนดทิศทางในอนาคตของอาเซียนภายหลังปี 2558

ส่วนการประชุมกับคู่เจรจานั้น จะเน้นการทบทวนความร่วมมือและทิศทางในอนาคต รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคและโลก อาทิ ทะเลจีนใต้ กลุ่ม Islamic State (IS) และการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา

วันก่อน คณะรัฐมนตรี ได้รับรองเอกสารผลลัพธ์ ตามที่กระทรวงต่างประเทศเสนอ ขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารรวม 10 ฉบับ ซึ่งจะมีการรับรองระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 25 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องและหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย โดยมติ ครม.ให้ กระทรงต่างประทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก

“ร่างเอกสารดังกล่าวไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557”

โดย ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่อาเซียนให้ความสำคัญ รวมทั้งเป็นการร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินงานของอาเซียนในระยะต่อไป โดยมิได้ใช้ถ้อยคำหรือมีบริบทที่เป็นการแสดงเจตนาที่จะก่อให้เกิดพันธกรณีระหว่างกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้งจะไม่มีการลงนามในร่างเอกสารทั้ง 10 ฉบับดังกล่าว

ขณะที่หัวข้อเอกสาร การประชุมร่วมระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้นำของประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย  (ซึ่งเป็นการประชุมสามัญพิเศษ เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน - ออสเตรเลีย)

รวมทั้ง การประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก และการประชุมสุดยอดอาเซียน - สหประชาชาติ โดยในระหว่างการประชุมดังกล่าวจะมีการรับรองเอกสารที่เป็นผลลัพธ์ของการประชุมเพื่อให้การประชุมสุดยอดฯ มีผลที่เป็นรูปธรรม

ส่วนเอกสารที่เกี่ยวข้อง จำนวน 10 ฉบับ ซึ่งครม.ได้เห็นชอบ มีดังนี้

1. ร่างปฏิญญาว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สำนักเลขาธิการอาเซียนและการทบทวนองค์กรต่าง ๆ ของอาเซียน (Declaration on the Strengthening of the ASEAN Secretariat and Reviewing the ASEAN Organs)

2.ร่างปฏิญญาเนปิดอว์ว่าด้วยวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี พ.ศ. 2558 (Nay Pyi Taw Declaration for the ASEAN Community’s Post - 2015 Vision)

3. ร่างแผนงานชั่วคราวอาเซียน - สหประชาชาติ พ.ศ. 2557 - 2558 (ASEAN-UN Interim Work Plan for 2014-2015)

4. ร่างปฏิญญาการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยการปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่า (East Asia Summit Declaration on Combating Wildlife Trafficking)

5” ร่างแถลงการณ์การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยแนวทางในการตอบสนองอย่างเร่งด่วนต่อภัยพิบัติ (Statement on EAS Guideline for Rapid Disaster Response)

6. ร่างแถลงการณ์ร่วม/ปฏิญญาการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 9 ว่าด้วยการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาของภูมิภาค (Joint Statement/Declaration of the 9th East Asia Summit on Regional Response to the Outbreak of Ebola/Spread of Ebola)

7. ร่างแถลงการณ์การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยความรุนแรงและความโหดร้ายที่เพิ่มขึ้นจากการกระทำขององค์กรก่อการร้าย/หัวรุนแรงในอิรักและซีเรีย (Draft EAS Statement on the Rise of Violence and Brutality Committed by Terrorist/Extremist Organizations in Iraq and Syria)

8. ร่างแถลงการณ์การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทางทะเลของภูมิภาค (EAS Statement on Enhancing Regional Maritime Cooperation)

9. ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียน-สหรัฐฯ ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (ASEAN-U.S Joint Statement onClimate Change)

และ 10. ร่างแถลงการณ์ร่วมผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลียในโอกาสครบรอบ 40 ปี แห่งความสัมพันธ์คู่เจรจาอาเซียน-ออสเตรเลีย (Joint ASEAN-Australia Leaders’ Statement on the 40th Anniversary of ASEAN-Australia Dialogue Relations)

มติ ครม.สรุปว่า “การร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ จะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความพร้อมของผู้นำของไทยในการสนับสนุนการดำเนินงานต่าง ๆ ในกรอบอาเซียน ตลอดจนเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันของอาเซียนที่จะเริ่มกระบวนการจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนภายหลังปี 2558 เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางและอนาคตอาเซียน รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์กับประเทศคู่เจรจาต่าง ๆ เพื่อช่วยสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียนในมิติต่าง ๆ อย่างครอบคลุม”

ในขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ยังได้ขอความเห็นชอบจากครม.ต่อประเด็นเอกสารสำคัญด้านเศรษฐกิจที่จะเสนอผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 25 ในคราวเดียวกันนี้

ประกอบด้วย เอกสาร ASEAN Principle for PPP Frameworks โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะให้การรับรองก่อนนำเสนอผู้นำ และเอกสาร Bridging the Development Gap : ASEAN Equitable Development

โดยเอกสารทั้ง 2 ฉบับมีองค์ประกอบหลักของวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ภายหลังปี 2558  ซึ่งในด้านเศรษฐกิจประกอบด้วย 5 องค์ประกอบหลัก ดังนี้ (ก) มีการรวมตัวสูง (ข) มีความสามารถแข่งขัน นวัตกรรม และพลวัต (ค) ครอบคลุมทุกภาคส่วนยืดหยุ่น และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (ง) ขยายความร่วมมือและรวมตัวรายสาขา (จ) เป็นส่วนสำคัญของประชาคมโลก

ทั้งหมดนี้ เป็นเอกสารที่ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่ง เป็นผู้นำของประเทศไทย จะนำไปหารือกับผู้นำอาเซียน และการประชุมร่วมระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้นำของประเทศคู่เจรจา ให้มีผลที่เป็นรูปธรรมในอนาคต

กลับมาที่เรื่อง ที่เชื่อว่า “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” อาจจะได้พบกับ ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐ อย่างเป็นทางการครั้งแรก หรือ นายกฯไทยจะได้มีโอกาสพูดคุยอะไรกับโอบามา หรือไม่?

เหมือนกับ ในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 69 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาที่ พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้จับมือหารือกับ นายจอห์น แคร์รี่ รมว.ต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ในระยะเวลาสั้น ๆ โดยกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนอาเซียน-สหรัฐฯ

นอกจากหุ้นส่วนอาเซียนกับสหรัฐแล้ว เรื่องที่หลายคนอยากจะรู้ก็คือ เหตุใดสหรัฐอเมริกาจึงยังไม่แต่งตั้งเอกอัครราชทูตคนใหม่แทนนางคริสตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยที่หมดวาระลงเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากมีการต่ออายุมาแล้วอีก 1 ปี โดยมีกระแสข้อสังเกตว่าสหรัฐแสดงความไม่พอใจ ต่อการยึดอำนาจในไทย

แต่กระทรวงการต่างประเทศ ก็ยืนยันแล้วว่า ไม่ใช่ เพราะระหว่างนี้ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งรองจากเอกอัครราชทูตก็จะทำหน้าที่รักษาการแทนไปก่อน เป็นขั้นตอนปกติ เช่นเดียวกับเมื่อมีการเปลี่ยนเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ หากคนใหม่ยังเดินทางไปรับตำแหน่งไม่ได้ก็ต้องดำเนินการในลักษณะเดียวกัน

"นางเคนนีย์ดำรงตำแหน่งจนครบวาระและมีการต่ออายุมาแล้วอีก 1 ปี หลังจากฝ่ายบริหารมีรายชื่อของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตแล้วจะต้องส่งให้วุฒิสภาสหรัฐรับรองก่อน เอกอัครราชทูตท่านใหม่จึงจะเดินทางมารับตำแหน่งได้ จึงเป็นเรื่องของขั้นตอนอยู่ระหว่างการพิจารณาเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับประเด็นการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินในไทย"

หรือข่าวจากสื่อต่างประเทศ ที่ฟันธงไปว่า ทิศทางกับไทยคงไม่มีอะไรเพิ่มเติมหรือดีขึ้น เนื่องจากทางสหรัฐอเมริกาได้วางแนวนโยบายต่อไทยเรียบร้อยแล้วว่า ถ้ายังไม่มีการเลือกตั้งหรือวันที่แน่นอน กระทรวงการต่างประเทศก็ไม่สามารถดำเนินสายสัมพันธ์ทางการทูตตามปกติได้

หรือคราวที่ไทยพลาดแพ้กาตาร์ 6 คะแนนในการเข้าเป็นสมาชิกในคณะมนตรีความมั่นคง ในสหประชาชาติ เมื่อไม่กี่วันนี้

ยังมีอีกหลายเรื่อง ทั้งเรื่องพลังงาน เรื่องอดีตนายกรัฐมนตรีไทย เรื่องความสัมพันธ์การช่วยเหลือทางการทหาร ที่คนไทยอยากรู้ แต่โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะได้พูดกับ โอบามา จะมีหรือไม่ หรือจะได้แค่มีโอกาสมองหน้า ทักทายจับมือตามมารยาททางการฑูตเท่านั้น??

ท่าทีของผู้นำสหรัฐฯ ต่อการจะยอมรับรัฐบาลที่มีทหารเป็นผู้นำ อาจจะชัดเจนแล้วคราวนี้ เพราะเมื่อไม่กี่วันนี้นักลงทุนสหรัฐ 34 บริษัท ก็เพิ่งจะถูก “บิ๊กตู่”กล่อม แบบหวานเจี๊ยบมาแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น