xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“อภิรัฐมนตรี”อำนาจที่ 4 ที่(คงจะ)ล้มเหลว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ขณะที่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำลังจะเริ่มตั้งเค้า ก็มีข้อเสนอใหม่ที่สร้างความฮือฮาไม่น้อย ออกมาจากสถาบันพระปกเกล้า ในงานสัมมนาวิชาการ “8 ทศวรรษประชาธิปไตย : พลวัตแห่งดุลอำนาจ” จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา

นั่นคือข้อเสนอให้มี “อภิรัฐมนตรี” ขึ้นมาเป็นดุุลอำนาจที่ 4 เพื่อทำการชี้ขาด กรณีมีความขัดแย้งระหว่าง 3 อำนาจอธิปไตย คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เท่ากับว่าจะให้อภิรัฐมนตรีมีฐานะ “รัฏฐาภิบาล”

ดร.สุรพล ศรีวิทยา รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยรังสิต บอกว่า แนวคิดดังกล่าวว่าเป็นการรวมองค์กรอิสระให้เป็นอีก 1 สถาบันทางการเมืองเพื่อทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวไม่มีอำนาจการวินิจฉัย ชี้ขาดให้ใบเหลือง-ใบแดงแก่ผู้สมัครที่กระทำผิด แต่ให้การพิจารณาตัดสินใบแดง-เหลืองเป็นหน้าที่ของ“สภาอภิรัฐมนตรี”แทน เป็นต้น

ส่วนที่มาของอภิรัฐมนตรี ประกอบด้วย ส่วนกลาง 23 คน มาจากตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติ 5 คน อาทิ ประธานรัฐสภา ,รองประธานสภา และผู้นำฝ่ายค้าน ตัวแทนฝ่ายบริหาร มี 5 คน ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี 4 คน ตัวแทนฝ่ายตุลาการ คือประธานศาลทั้ง 5 องค์กร ส่วนที่เหลืออีก 8 คน มาจากหัวหน้าองค์กรอิสระทั้งหมด ขณะที่ส่วนท้องถิ่นให้มีตัวแทนมาได้ 22 คน กระจายทั่วประเทศ

ขณะที่ นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ได้สรุปผลการประชุมในกลุ่มการสร้างดุลยภาพในระบบโครงสร้างอำนาจรัฐ ว่าจะต้องร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับดุลอำนาจระหว่างสถาบันการเมืองต่างๆ ไม่ให้เกิดการก้าวล่วงขอบเขตอำนาจระหว่างกัน เพื่อป้องกันวิกฤตความขัดแย้ง ที่ประชุมยังมีการเสนอให้มีการ จัดตั้งอภิรัฐมนตรีให้เป็นอีกดุลอำนาจหนึ่ง นอกเหนือจากฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ โดยจัดวางให้อภิรัฐมนตรีมีอำนาจมากที่สุด ในฐานะรัฏฐาภิบาล เพื่อช่วยในการแก้ปัญหาเมื่อ 3 อำนาจหลักมีความขัดแย้งกัน อภิรัฐมนตรี จะเป็นผู้มีอำนาจชี้ขาด

สำหรับข้อเสนอว่าด้วยองค์กรอิสระนั้น เสนอให้ที่มาขององค์กรอิสระจะต้องหลากหลายและยึดโยงกับประชาชน ส่วนบทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ควรให้ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ไม่มีอำนาจการวินิจฉัยชี้ขาดให้ใบเหลือง-ใบแดง

ข้อสรุปดังกล่าวเป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้นจากการประชุม ทางวิชาการ โดยสถาบันพระปกเกล้าจะนำไปทำให้สมบูรณ์ขึ้น ก่อนเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)พิจารณาต่อไป

หลังจากแนวคิด“อภิรัฐมนตรี”ถูกนำเสนอออกมา ดูเหมือนว่าเสียงขานรับจะไม่ค่อยสู้ดีนัก เมื่อวันที่ 9 พ.ย.นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการ สปช.กล่าวถึงข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าเรื่องอภิรัฐมนตรีว่า สมาชิก สปช.ยังไม่มีการพิจารณา แต่ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทุกฝ่ายร่วมกันเสนอความเห็นการปฏิรูปประเทศ สปช.จะนำข้อเสนอต่างๆ มาประมวลความเห็นโดยผ่านคณะคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำ สปช.ทั้ง 18 คณะก่อน

ส่วนนายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวเมื่อวันที่ 9 พ.ย.ถึงข้อเสนอให้มีการจัดตั้งอภิรัฐมนตรีว่า เป็นไปไม่ได้ เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และประชาชนอาจจะไม่ยอมรับ ไม่สามารถผลักดันข้อเสนอดังกล่าวได้

ขณะที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 11 พ.ย.ว่า ข้อเสนอให้มีอภิรัฐมนตรีเป็นเรื่องเลอะเทอะร้อนวิชาของคนในสถาบันพระปกเกล้าฯ การจะเอาอำนาจอื่นมาคานอำนาจประชาชนนั้นเป็นไปไม่ได้

เมื่อเสียงตอบรับออกมาในทางลบมากกว่าบวก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จึงให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 11 พ.ย.ว่า ตนไม่ทราบแนวคิดที่เสนอให้มีอภิรัฐมนตรี และไม่ได้เอาใจใส่ รู้ว่ามีการเสนอแนวคิดนี้ แต่ไม่รู้ว่าเอามาเกี่ยวอะไรเวลานี้ ไม่ได้สนใจที่จะตาม จึงต้องถามตัวผู้เสนอเอง ถือเป็นข้อเสนอหนึ่งในร้อยในพัน ไม่มีอะไรตื่นเต้น และตนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมาตื่นเต้นอะไรกัน มีข้อเสนออื่นดีๆ ตั้งเยอะ ถึงแม้นายวิษณุจะออกตัว ไม่รู้ไม่เห็นต่อแนวคิดเรื่องการให้มีอภิรัฐมนตรีขึ้นมาเป็นอำนาจที่ 4 แต่อย่าลืมว่าในวันสัมมนา “8 ทศวรรษประชาธิปไตย : พลวัตแห่งดุลอำนาจ” ที่มหาวิทยาลัยรังสิตนั้น นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ได้เข้าร่วมแสดงปาฐกถาด้วย

นายบวรศักดิ์ กล่าวตอนหนึ่งของปาฐกถา ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิดการมี “อภิรัฐมนตรี” ว่า สิ่งที่ต้องตอบโจทย์ให้ได้คือการสร้างความปรองดอง ซึ่งรัฐธรรมนูญสามารถสร้างองค์กรและกลไกที่นำไปสู่กระบวนการสำคัญที่ใช้ในการปรองดองเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ให้สีหรือคนไทยฆ่ากันได้ ทั้งนี้ไม่ใช่การเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ดังนั้นรัฐธรรมนูญเพื่อความปรองดองจึงเป็นของใหม่ที่ต้องให้ความสำคัญ ก่อนการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และการจัดสรรอำนาจใหม่ในเชิงโครงสร้าง

อย่าลืมว่า นายวิษณุและนายบวรศักดิ์นั้น เป็นคู่หู“นิติบริกร” ที่ทำงานเป็นคู่แฝดกันมาตั้งแต่ยุคอดีตนายกฯ หนีคดี อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังเรืองอำนาจ

มาถึงในยุค คสช.เนติบริการทั้งสองก็ยังคงมีบทบาทเหมือนเดิม โดยนายบวรศักดิ์นั้น ยังสวมหมวกใบใหญ่อีก 2 ใบ คือ “รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ คนที่ 1” และ “ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” ด้วย

ขณะที่ตัวสถาบันพระปกเกล้าเองก็ไม่ใช่หน่วยงานที่ไร้หัวนอนปลายเท้า แต่เป็นหน่วยงานของรัฐสภา มีสภาสถาบันพระปกเกล้าเป็นองค์กรบริหารสูงสุด ดำเนินงานด้านวิชาการครอบคลุมถึงเรื่องของการวิจัย การจัดการศึกษา อบรม และเผยแพร่ให้ความรู้และข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการพัฒนาประชาธิปไตย และการเมืองการปกครอง รวมทั้งให้บริการคำแนะนำปรึกษาด้านการบริหารปกครองบ้านเมืองที่ดีทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น

แนวคิดเรื่องการมีอภิรัฐมนตรี จึงไม่ใช่แนวคิดที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ อย่างน้อยๆ ก็เคยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นสภาที่ถูกแต่งตั้งขึ้นเพื่อช่วยแบ่งเบาพระราชกิจของพระมหากษัตริย์ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและนิติบัญญัติ มีการประชุมเพื่อตัดสินใจในการงานของรัฐ แต่คณะอภิรัฐมนตรีถูกยกเลิกไปเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2475 หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนยายน 2475 และมี 3 อำนาจคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการขึ้นมาถ่วงดุลกัน โดยให้ยึดโยงกับประชาชนผ่านการเลือกตั้ง

การเกิดแนวคิดให้รื้อฟื้น “อภิรัฐมนตรี” ขึ้นมาอีกครั้ง ย่อมสะท้อนว่า การให้ทั้งสามอำนาจถ่วงดุลกัน นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นต้นมานั้น ยังไม่ใช่คำตอบของการนำประเทศไปสู่ความสงบสุขและเจริญรุ่งเรืองได้

ตลอดช่วงเวลา 82 ปีที่ผ่านมา อำนาจทั้งสามถูกบิดเบือนโดยผู้ใช้อำนาจที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง และมีการใช้อำนาจนั้นเพื่อหาประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้องเป็นหลัก ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม อันเป็นต้นตอของปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย

อย่างไรก็ตาม ทางแก้นั้น เราจะกลับไปแก้ไขกลไกทั้งสามอำนาจให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

หรือเราจะสร้างอำนาจที่ 4 ขึ้นมาชี้ขาด โดยที่ปัญหาในสามอำนาจหลัก ทั้งนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ก็ยังคงหมักหมมอยู่เช่นเดิม

และเผลอๆ ปัญหาในสามอำนาจดั้งเดิมจะลุกลามไปแพร่เชื้อในอำนาจที่ 4 ด้วยซ้ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น