xs
xsm
sm
md
lg

สปช.แผลงฤทธิ์งัดข้อ “บวรศักดิ์” ส่งสัญญาณแข็งข้อถึง คสช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ
รายงานการเมือง

อาการน่าเป็นห่วง!! สำหรับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อันเป็นหัวใจสำคัญในยุค “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กุมชะตากรรมประเทศ สมาชิก สปช. หลายคนที่ได้รับเลือกเข้ามาทำตัวน่าผิดหวัง ไม่สมกับเป็นต้นแบบในการชูธงปฏิรูป

อาการหนักกว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ความเลวไม่มี ความดีไม่ปรากฏเสียอีก เพราะอย่างน้อยก็ไม่เกิดรายการ “แย่งชามข้าว” กันให้ชาวบ้านร้านตลาดเห็นโจ๋งครึ่มแบบนี้

กับแค่เรื่องการเสนอชื่อบุคคลไปเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 20 คน ยังเถียงกันจะเป็นจะตาย แถมยังทำตัวให้นักการเมืองหัวเราะชอบใจ ประเภทโจมตีว่า “ระบอบทักษิณชอบ” แต่งตั้งตัวบุคคลตามโควตา แต่ตัวเองเขวี้ยงงูไม่พ้นคอ แหกปากร้องเรื่องการจัดสรรผลประโยชน์กลางสภา การปฏิรูปจึงเสี่ยงถอยหลังลงคลองมากกว่าเดินหน้าขึ้นบก

ผู้นำการปฏิรูปแต่ไม่ยอมปฏิรูปตัวเอง ใครจะเชื่อถือน้ำยา

จะว่าไป สปช. เองได้อภิสิทธิ์เหนือคนอื่นๆ มีสิทธิพิเศษและโปรโมชันมากมาย ตั้งแต่การไม่ต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ทั้ง สนช. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องปฏิบัติ ทั้งที่ต้องเป็นผู้นำเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ให้นักการเมืองได้เห็นเป็น “โมเดล” แต่หลายคนกลับสนับสนุนมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสมือนรอดตัวไม่ต้องระแวงใครมาตรวจสอบ

ต่อเนื่องกันมาถึงการเลือก ประธานและรองประธาน สปช. ยังมีเกมล็อบบีล็อกโหวต เหมือนกับตอนรัฐสภาปกติที่มีนักการเมืองเป็นตัวละครทำ มีการแบ่งก๊กแบ่งเหล่าเพื่อคานอำนาจเรื่องการจัดสรรประโยชน์ใน สปช.

ตามที่มีกระแสข่าวออกมาก่อนหน้านั้น สมาชิก สปช. หลายคนหวาดระแวง “เนติบริกร” นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าที่รองประธาน สปช. คนที่ 1 ที่อาจจะคุมบังเหียนทั้ง สปช. และประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแบบเบ็ดเสร็จ จึงส่ง “ประชา เตรัตน์” อดีตอธิบดีกรมการปกครอง ในฐานะสมาชิก สปช. จังหวัดชลบุรี เข้าไปแย่งเก้าอี้รองประธาน สปช. คนที่ 2 กับ “ทัศนา บุญทอง” ก่อนจะพ่ายแพ้ไป

แต่การปราชัยของ “ประชา” กลับไม่ได้เป็นการขาดทุน แถมยังแพ้แบบมีกำไร เพราะอย่างน้อยได้ส่งสัญญาณไปยัง “ก๊วนบวรศักดิ์” ได้รู้แล้วว่า จะมาสั่งการให้ สปช. ซ้ายหันขวาหันไม่ง่ายอย่างที่คิด ยิ่งหาก “เนติบริกร” จะคุมแบบรวบหัวรวบหาง ก็ต้องคำนึงถึง 88 คะแนน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่โหวตให้ “ประชา” ด้วย

โดยคะแนน 88 เสียงของ “ประชา” นั้น ส่วนใหญ่มาจาก สปช. สายจังหวัด กลุ่มมหาดไทยเก่าและปัจจุบัน รวมไปถึงก๊กที่ไม่สบอารมณ์กับ “เนติบริกร”

สัญญาณความไม่เป็นเอกภาพของสปช.สะท้อนได้อย่างแจ่มชัดจากเหตุการณ์ดังกล่าว!!

ต่อเนื่องมาถึงวาระเสนอชื่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 20 คน หัวเชื้อความไม่เป็นเอกภาพยังลุกลาม วิป สปช. ชั่วคราว นำโดย “บวรศักดิ์” เองเคาะมติเสียงส่วนใหญ่ให้ใช้คนใน 15 คน และคนนอก 5 คน สร้างความไม่พอใจให้บรรดาสมาชิก สปช.ที่อยากจะเข้าไปเป็น 1 ใน 36 อรหันต์เขียนกติกาประเทศ จนเคลื่อนไหวหักมติวิป สปช. ชั่วคราว จนล้มไปอย่างไม่เป็นท่า แม้ “บวรศักดิ์” จะลงทุนลุกขึ้นชี้แจงเหตุผลชักแม่น้ำทั้งห้าแล้วก็ตาม

ว่ากันว่า “สูตร 15+5” เบื้องลึกเบื้องหลังเป็นเพราะโควตาในมือรัฐบาล ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอได้ฝ่ายละ 5 คน บวกตัวประธานอีก 1 คนนั้น ไม่เพียงพอรองรับคนที่จะมาช่วยงาน จึงประสานเป็นการภายในไปยัง สปช. ซึ่งวิป สปช. ชั่วคราวเซย์เยสให้ แต่สมาชิก สปช. ส่วนใหญ่ไม่เอา จึงเกิดเรื่อง

ขณะเดียวกัน ยังมีกระแสด้วยว่า บุคคลที่จะถูกเสนอชื่อในสัดส่วน คสช.- ครม. และของเดิมที่คิดว่า สปช.จะให้อีก 5 คน ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการและนักกฎหมายใน “ก๊วนเนติบริกร” หลายคน ทำให้สมาชิก สปช. หลายคนไม่พอใจจากอาการระแวงเป็นทุนเดิมอยู่แล้วว่า “บวรศักดิ์” จากคุมเบ็ดเสร็จ แบบไม่ฟังใคร ทำรวมตัวกันล้มมติ

และแม้จะหักดิบมติวิป สปช. ชั่วคราวลงไปได้ แต่ดูเหมือนอาการกินแหนงแคลงใจยังไม่หมดสิ้น เพราะสมาชิก สปช. ยังมาประจานกิเลสตัวเองเรื่องวิธีการสรรหาบุคคลเข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยฝ่ายหนึ่งชูโมเดล “11+4+5” นั่นคือ สปช. ทั้ง 11 ด้านเสนอชื่อตัวแทนมาฝั่งละ 1 คน เป็น 11 คน ส่วน สปช. จังหวัดให้จัดโซนเป็น 4 ภาคเสนอภาคละ 1 คน เป็น 4 คน และอีก 5 คน ใช้วิธีการเปิดให้สมาชิก สปช. ที่สนใจจะเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสมัครกันเข้ามาโชว์วิสัยทัศน์และที่ประชุมลงมติเลือก แต่อีกฝ่าย โดยเฉพาะ “เนติบริกรผู้น้อง” ชี้แจงว่า การใช้ระบบโควตาอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้ จนที่ประชุมเห็นคล้อย

แต่กว่าจะลงรอยกันได้ก็เถียงกันกระเจิง เหมือนกับสมัยยังเป็นสภาของ ส.ส. และ ส.ว. จนหลายคนส่ายหน้ากับพฤติกรรมอยากได้อยากเป็นจนต้อง “แย่งชามข้าว” กัน

แล้วไม่ได้จบเพียงแค่นั้น แม้จะมีมติออกมาแล้ว ยังพบว่า ก่อนหน้าวันโหวตมีการโทรศัพท์ขอคะแนนกันโดยใช้วิธีผลัดกันเกาหลัง จนถูกเรียกว่า เป็น “คืนหมาหอน” ก็อปปี้กันมาเหมือนนักการเมืองไม่มีผิด นอกจากนี้ ยังมีบางกระแสข่าวว่า กลุ่มก๊วนที่มี “ประชา” เป็นแกนนำมักจะนัดถกลับกันที่โรงแรมชื่อดังแห่งหนึ่งเพื่อหารือกันถึงการทำงานใน สปช. รวมถึงเรื่องนี้ด้วย

ชักจะทำตัวเหมือนนักการเมืองกันไปทุกที!!

ยังไม่นับรวมถึงช็อตต่อไปตอนมีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่รู้หน้าตาจะออกมาอย่างไร เพราะขนาดแค่เลือกตัวบุคคลยังเละเทะกันขนาดนี้ ตอนถึงเวลาลงนามเขียนกติกาประเทศจริงๆ มิวายจะฟัดกันฝุ่นตลบอบอวล และหากยังมีทัศนคติที่เรื่อง “ถูกใจ” มานำหน้า “ความถูกต้อง” ยึดลักษณะ “รอมชอม” มีหวังเข้าอีหรอบรัฐธรรมนูญปี 2550 ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ เหลาออกไปกลายเป็นบ้องกัญชา

ไม่กล้าเขียนเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ต้องมานั่งล็อบบีกันเอาแบบนั้นเอาแบบนี้ จนลืมหลักการสำคัญที่บรรจุไว้ในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จากจะได้แบบ “สุดซอย” ป้องกันวงจรอุบาทว์กลับมา แต่ต้องได้แบบ “กลางซอย” ประเภทฝั่งหนึ่งได้ครึ่ง อีกฝั่งหนึ่งได้ครึ่ง วิน - วินกันไป

งานนี้ “สปช.” เสียรังวัดไปไม่น้อย เพราะฉาก “แย่งชามข้าว” โดยสู้เรื่องโควตาเป็นตัวตั้ง แต่ไม่มองเรื่องความรู้ความสามารถ ยังเป็นกรอบความคิดแบบนักการเมืองที่แบ่งสรรผลประโยชน์กันในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหากยังไม่หลุดออกจากกรอบความคิดแบบเดิมๆ เหล่านี้ เห็นทีแม่น้ำสายสำคัญสายนี้น่าจะเหือดแห้งไปในที่สุด ไม่สามารถให้คนใช้ประโยชน์ได้
 
จากที่คนล้อเลียนว่า สปช.เป็นสภาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต น่าจะเปลี่ยนเป็น “สลน.” ที่ต้องไปสร้างเสริมลักษณะนิสัยกันเสียก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น