xs
xsm
sm
md
lg

สปช.แผลงฤทธิ์งัดข้อบวรศักดิ์ ส่งสัญญาณแข็งข้อถึงคสช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**อาการน่าเป็นห่วง!! สำหรับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อันเป็นหัวใจสำคัญในยุค “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กุมชะตากรรมประเทศ สมาชิกสปช.หลายคนที่ได้รับเลือกเข้ามาทำตัวน่าผิดหวัง ไม่สมกับเป็นต้นแบบในการชูธงปฏิรูป
อาการหนักกว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ความเลวไม่มี ความดีไม่ปรากฏเสียอีก เพราะอย่างน้อยก็ไม่เกิดรายการ“แย่งชามข้าว”กันให้ชาวบ้านร้านตลาดเห็นโจ๋งครึ่ม แบบนี้
กับแค่เรื่องการเสนอชื่อบุคคลไปเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 20 คน ยังเถียงกันจะเป็นจะตาย แถมยังทำตัวให้นักการเมืองหัวเราะชอบใจ ประเภทโจมตีว่า "ระบอบทักษิณ" ชอบแต่งตั้งตัวบุคคลตามโควตา แต่ตัวเองก็ขว้างงูไม่พ้นคอ แหกปากร้องเรื่องการจัดสรรผลประโยชน์กลางสภา การปฏิรูปจึงเสี่ยงถอยหลังลงคลองมากกว่าเดินหน้าขึ้นบก
**ผู้นำการปฏิรูป แต่ไม่ยอมปฏิรูปตัวเอง ใครจะเชื่อถือน้ำยา
จะว่าไป สปช.เองได้อภิสิทธิ์เหนือคนอื่นๆ มีสิทธิพิเศษ และโปรโมชั่นมากมาย ตั้งแต่การไม่ต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ทั้งสนช. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องปฏิบัติ ทั้งที่ต้องเป็นผู้นำเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ให้นักการเมืองได้เห็นเป็น “โมเดล”แต่หลายคนกลับสนับสนุนมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสมือนรอดตัว ไม่ต้องระแวงว่าใครจะมาตรวจสอบ
ต่อเนื่องกันมาถึงการเลือก ประธาน และรองประธาน สปช. ยังมีเกมล็อบบี้ บล็อกโหวต เหมือนกับตอนรัฐสภาปกติ ที่มีนักการเมืองเป็นตัวละคร มีการแบ่งก๊กแบ่งเหล่า เพื่อคานอำนาจเรื่องการจัดสรรประโยชน์ใน สปช.
ตามที่มีกระแสข่าวออกมาก่อนหน้านั้น สมาชิกสปช. หลายคนหวาดระแวง “เนติบริกร” นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าที่รองประธาน สปช. คนที่ 1 ที่อาจจะกุมบังเหียนทั้ง สปช. และ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแบบเบ็ดเสร็จ จึงส่ง “ประชา เตรัตน์”อดีตอธิบดีกรมการปกครอง ในฐานะสมาชิกสปช. จังหวัดชลบุรี เข้าไปแย่งเก้าอี้รองประธาน สปช. คนที่ 2 กับ “ทัศนา บุญทอง”ก่อนจะพ่ายแพ้ไป
แต่การปราชัยของ “ประชา”กลับไม่ได้เป็นการขาดทุน แถมยังแพ้แบบมีกำไร เพราะอย่างน้อยได้ส่งสัญญาณไปยัง“ก๊วนบวรศักดิ์”ได้รู้แล้วว่า จะมาสั่งการให้ สปช. ซ้ายหัน ขวาหัน ไม่ง่ายอย่างที่คิด ยิ่งหาก “เนติบริกร”จะคุมแบบรวบหัวรวบหาง ก็ต้องคำนึงถึง 88 คะแนน หรือ เกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่โหวตให้“ประชา”ด้วย
โดยคะแนน 88 เสียงของ “ประชา”นั้น ส่วนใหญ่มาจาก สปช.สายจังหวัด กลุ่มมหาดไทยเก่าและปัจจุบัน รวมไปถึงก๊กที่ไม่สบอารมณ์กับ “เนติบริกร”
**สัญญาณความไม่เป็นเอกภาพของสปช. สะท้อนได้อย่างแจ่มชัดจากเหตุการณ์ครั้งนี้ !!
ต่อเนื่องมาถึงวาระเสนอชื่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 20 คน หัวเชื้อความไม่เป็นเอกภาพยังลุกลาม วิป สปช.ชั่วคราว นำโดย “บวรศักดิ์”เอง เคาะมติเสียงส่วนใหญ่ให้ใช้คนใน 15 คน และ คนนอก 5 คน สร้างความไม่พอใจให้บรรดาสมาชิก สปช. ที่อยากจะเข้าไปเป็น 1 ใน 36 อรหันต์ เขียนกติกาประเทศ จนเคลื่อนไหวหักมติวิปสปช.ชั่วคราว จนล้มไปอย่างไม่เป็นท่า แม้ “บวรศักดิ์”จะลงทุนลุกขึ้นชี้แจงเหตุผล ชักแม่น้ำทั้งห้าแล้วก็ตาม
ว่ากันว่า “สูตร 15+5”เบื้องลึกเบื้องหลังเป็นเพราะโควตาในมือรัฐบาล ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอได้ฝ่ายละ 5 คน บวกตัวประธานอีก 1 คนนั้น ไม่เพียงพอรองรับคนที่จะมาช่วยงาน จึงประสานเป็นการภายในไปยังสปช. ซึ่งวิป สปช. ชั่วคราว เซย์เยสให้ แต่สมาชิกสปช.ส่วนใหญ่ไม่เอา จึงเกิดเรื่อง
ขณะเดียวกัน ยังมีกระแสด้วยว่าบุคคลที่จะถูกเสนอชื่อในสัดส่วน คสช.-ครม. และ ของเดิมที่คิดว่าสปช.จะให้อีก 5 คน ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการ และนักกฎหมายใน“ก๊วนเนติบริกร” ทำให้สมาชิกสปช. หลายคนไม่พอใจ จากอาการระแวงเป็นทุนเดิมอยู่แล้วว่า “บวรศักดิ์” จะคุมเบ็ดเสร็จ แบบไม่ฟังใคร ทำให้มีการรวมตัวกัน ล้มมติ
และแม้จะหักดิบมติวิป สปช.ชั่วคราวลงไปได้ แต่ดูเหมือนอาการกินแหนงแคลงใจยังไม่หมดสิ้น เพราะสมาชิก สปช. ยังมาประจานกิเลสตัวเอง เรื่องวิธีการสรรหาบุคคลเข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยฝ่ายหนึ่งชูโมเดล “11+4+5”นั่นคือ สปช.ทั้ง11 ด้าน เสนอชื่อตัวแทนมาฝั่งละ 1 คน เป็น 11 คน ส่วน สปช.จังหวัด ให้จัดโซนเป็น 4 ภาค เสนอภาคละ 1 คน เป็น 4 คน และ อีก 5 คน ใช้วิธีการเปิดให้สมาชิก สปช. ที่สนใจจะเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสมัครกันเข้ามาโชว์วิสัยทัศน์ และที่ประชุมลงมติเลือก แต่อีกฝ่าย โดยเฉพาะ“เนติบริกรผู้น้อง” ชี้แจงว่า การใช้ระบบโควตา อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้ จนที่ประชุมเห็นคล้อย
**แต่กว่าจะลงรอยกันได้ก็เถียงกันกระเจิง เหมือนกับสมัยยังเป็นสภาของ ส.ส. และ ส.ว. จนหลายคนส่ายหน้ากับพฤติกรรมอยากได้อยากเป็น จนต้อง“แย่งชามข้าว”กัน
แล้วไม่ได้จบเพียงแค่นั้น แม้จะมีมติออกมาแล้ว ยังพบว่า ก่อนหน้าวันโหวตมีการโทรศัพท์ขอคะแนนกันโดยใช้วิธีผลัดกันเกาหลัง จนถูกเรียกว่า เป็น “คืนหมาหอน”ก็อปปี้กันมาเหมือนนักการเมืองไม่มีผิด นอกจากนี้ ยังมีบางกระแสข่าวว่า กลุ่มก๊วนที่มี “ประชา”เป็นแกนนำ มักจะนัดถกลับกันที่โรงแรมชื่อดังแห่งหนึ่ง เพื่อหารือกันถึงการทำงานใน สปช. รวมถึงเรื่องนี้ด้วย
**ชักจะทำตัวเหมือนนักการเมืองกันไปทุกที!!
ยังไม่นับรวมถึงช็อตต่อไปตอนมีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่รู้หน้าตาจะออกมาอย่างไร เพราะขนาดแค่เลือกตัวบุคคลยังเละเทะกันขนาดนี้ ตอนถึงเวลาลงนามเขียนกติกาประเทศจริงๆ มิวายจะฟัดกันฝุ่นตลบอบอวล และหากยังมีทัศนคติที่เรื่อง “ถูกใจ”มานำหน้า “ความถูกต้อง”ยึดลักษณะ “รอมชอม”มีหวังเข้าอีหรอบรัฐธรรมนูญปี 2550 ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ เหลาออกไปกลายเป็นบ้องกัญชา
ไม่กล้าเขียนเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ต้องมานั่งล็อบบี้กันเอาแบบนั้น เอาแบบนี้ จนลืมหลักการสำคัญที่บรรจุไว้ในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จากจะได้แบบ“สุดซอย”ป้องกันวงจรอุบาทว์กลับมา แต่ต้องได้แบบ “กลางซอย”ประเภทฝั่งหนึ่งได้ครึ่ง อีกฝั่งหนึ่งได้ครึ่ง วิน–วินกันไป
งานนี้ “สปช.”เสียรังวัดไปไม่น้อย เพราะฉาก “แย่งชามข้าว”โดยสู้เรื่องโควตาเป็นตัวตั้ง แต่ไม่มองเรื่องความรู้ความสามารถ ยังเป็นกรอบความคิดแบบนักการเมือง ที่แบ่งสรรผลประโยชน์กันในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหากยังไม่หลุดออกจากกรอบความคิดแบบเดิมๆ เหล่านี้ เห็นทีแม่น้ำสายสำคัญสายนี้น่าจะเหือดแห้งไปในที่สุด ไม่สามารถให้คนใช้ประโยชน์ได้
**จากที่คนล้อเลียนว่า สปช. เป็นสภาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต น่าจะเปลี่ยนเป็น “สลน.”ที่ต้องไปสร้างเสริมลักษณะนิสัยกันเสียก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น