xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” นัด กมธ.ชงความเห็นร่าง รธน. แนะ คสช.ผ่อนคลายกฎให้พรรคประชุมได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (แฟ้มภาพ)
“อภิสิทธิ์” นัด กมธ.เสนอความเห็น รธน. แนะย้อนกลับไปดูปัญหา ทั้งการซื้อเสียง ใช้อำนาจมิชอบ ทุจริตคอร์รัปชัน แทรกแซงสื่อ ไม่รับผิดชอบต่อสภา วางกติกาไม่ให้ผู้ชนะทำทุกอย่างได้ตามอำเภอใจ ส่วนการดำเนินนโยบายที่หาเสียงไว้ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย พร้อมชงทำประชามติเพื่อให้ รธน.มีความชอบธรรมเป็นที่ยอมรับ ขณะเดียวกันยังเรียกร้อง คสช.ผ่อนคลายกฎ ห้ามพรรคการเมืองประชุม หวังนัดสมาชิกหารือประเด็นร่าง รธน.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พร้อมให้ความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในการให้ความเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ โดยได้ประสานไปแล้วว่าจะไปพบคณะกรรมาธิการฯ ด้วยตัวเองในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ เนื่องจากกำหนดเดิมที่คณะกรรมาธิการฯ ระบุมาในวันที่ 18 พฤศจิกายนนั้น ตนติดภารกิจที่ต่างประเทศตลอดทั้งสัปดาห์

ทั้งนี้ พรรคย้ำมาโดยตลอดว่าให้ความร่วมมือกับกระบวนการปฏิรูปประเทศ โดยการกำหนดกติกาบ้านเมืองนั้นบทบาทที่ดีที่สุดคือการให้ข้อมูล ถ่ายทอดความเห็นต่อคณะกรรมาธิการฯ แต่มีประเด็นว่าพรรคการเมืองประชุมไม่ได้ ทำให้มีข้อจำกัด จึงอยากให้ คสช.ผ่อนคลายข้อจำกัดนี้ เพราะพรรคไม่มีแนวคิดสร้างความวุ่นวายกระทบความมั่นคง หากให้มีการประชุมพรรคการเมืองก็จะช่วยให้สมาชิกได้แลกเปลี่ยนและทำทุกอย่างให้เป็นระบบได้

อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่า คสช.ห่วงเรื่องความวุ่นวาย แต่ถ้าให้พรรคการเมืองดำเนินการได้ตามปกติโดยกำหนดเงื่อนไขให้ชัดว่าห้ามกระทำอะไรที่กระทบความมั่นคง หรือสร้างความวุ่นวายและระมัดระวังความเห็นที่จะนำไปสู่ความแตกแยก แต่ คสช.อาจคิดว่ายุ่งยากเกินไปจึงไม่ให้เคลื่อนไหว

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า หลักที่ต้องการย้ำคือต้องการให้ย้อนกลับไปดูสภาพปัญหาก่อน เนื่องจากมีข้อเสนอจำนวนมากที่ไม่ชัดเจนว่าตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาเพราะวิกฤตการเมืองคือปัญหาการใช้อำนาจโดยมิชอบของคนที่เข้าไปมีอำนาจ โยงถึงเรื่องการซื้อเสียง และการใช้อำนาจมิชอบ มีการทุจริต แทรกแซงสื่อ ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่และสภาฯ ทำให้เกิดความล้มเหลวของระบบจนเกิดการประท้วงและการเมืองบนท้องถนน

ส่วนที่ สนช.ออกมาเรียกร้องว่าหลังพรรคการเมืองและกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองให้ความเห็นต่อคณะกรรมาธิการยกร่างฯแล้วให้ทำสัญญาประชาคมว่าจะยอมรับผลจากการปฏิรูป คิดว่าเป็นการมัดมือชกหรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องทำอย่างนั้นเพราะพรรคไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเป็นเพียงคนให้ความเห็นเท่านั้น เมื่อมีการตัดสินใจจากผู้ที่เกี่ยวข้องประชาชนก็มีสิทธิที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องธรรมดา แม้แต่ สปช.เองก็มีโอกาสที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการฯยกร่าง ซึ่งตนเห็นว่า การทำให้ทุกฝ่ายยอมรับร่างรัฐธรรมนูญใหม่คือการทำประชามติเพราะจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ถ้าไม่ทำประชามติจะมีปัญหาในอนาคตที่ฝ่ายต่างๆ จะหยิบยกขึ้นมาต่อต้าน

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หลังจากให้ความเห็นต่อคณะกรรมาธิการฯแล้ว อาจมีการเสนอเอกสารตามไปในภายหลังเพราะพรรคต้องอาศัยเวทีการประชุมในการกำหนดท่าทีที่เป็นทางการของพรรค ซึ่งในกระบวนการปฏิรูปทุกคนอยากเห็นให้พรรคการเมืองเป็นพรรคการเมืองที่แท้จริงตัวระบบพรรคจึงมีความสำคัญ โดยจากการแสดความเห็นของฝ่ายต่างๆ เกี่ยวกับการถ่วงดุลอำนาจเป็นโจทย์ที่สำคัญ ส่วนที่จะมีการแบ่งรัฐธรรมนูญออกเป็นส่วนๆ เข้าใจว่ามีความต้องการที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำยากขึ้นในส่วนที่มีความสำคัญ

“ตัวระบบมีผลต่อการตัดสินใจของประชาชน แต่ที่สุดเมื่อกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจ เป็นปัจจัยที่จะชี้ขาดว่าการเมืองจะเป็นแบบไหน ส่วนที่ห่วงว่าจะต้องไม่ร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นกติกาของผู้ชนะนั้นต้องแยกสองประเด็น คือ การทำให้ประชาชนยอมรับด้วยการทำประชามติ และจะไม่ให้เป็นกติกาที่ผู้ชนะทำได้ทุกอย่างก็ต้องดูในรายละเอียดโดยหาความพอดี ระหว่างความชอบธรรมในการดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงกับประชาชนแต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ใช้อำนาจในทางไม่ชอบไม่ได้ การร่างรัฐธรรมนูญต้องมีหลัก ถ้าไม่มีหลักก็ยืนยากเพราะจะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข ผมหวังว่าเราไม่ต้องมาเริ่มต้นเขียนกันใหม่อีก”

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะเป็นชนวนความขัดแย้งหรือไม่ขึ้นอยู่กับสาระของการร่างฯ ซึ่งกรรมาธิการฯต้องเข้าใจว่าความเห็นของประชาชนหลากหลาย หากมีการกำหนดมาตรการที่มีเหตุผลรองรับชัดเจนความขัดแย้งก็น้อย แต่ถ้าทำบทบัญญัติที่ไม่มีเหตุผลรองรับหรือมีเป้าหมายเรื่องอื่นที่ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนรวมและการรักษาระบบก็สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งตามมา ซึ่งเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดความล้มเหลวคือ การที่รัฐธรรมนูญถูกมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะจะมีแรงกดดันจากทั้งในและต่างประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น