“จาตุรนต์” หนุนดึงพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองให้ความเห็นร่าง รธน. แต่ยังกังขากลัวเชิญไปเป็นพิธีแล้วอ้างว่ารับฟังความเห็นแล้ว พร้อมอ้างอุปสรรคการแสดงความเห็นคือการห้ามพรรคการเมืองประชุม จี้ กมธ.ยกร่างฯ ผลักดัน คสช.ผ่อนคลายกฎเหล็ก ขณะเดียวกันชูทำประชามติ ฟันธงล่วงหน้า รธน.ใหม่ไม่เป็นประชาธิปไตย เหตุคนร่างเป็นฝ่ายเดียวกันทั้งหมด
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอดีต รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงการที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญเชิญพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองไปให้ความเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญว่า ถือเป็นความคิดที่ดี เพราะจะได้รับฟังความเห็นหลายฝ่ายมากขึ้น แต่การรับฟังความเห็นที่จะทำนี้จะจริงจังต่อเนื่องแค่ไหน และจะมีผลมากน้อยเพียงใดยังคงเป็นที่สงสัยอยู่ ถ้าการเชิญไปครั้งนี้ทำกันแค่พอเป็นพิธีเพื่อจะได้ไปอ้างว่าฟังแล้ว เปิดโอกาสแล้วเท่านั้น การให้ความเห็นก็จะไม่เป็นประโยชน์หรือเสียเวลาเปล่า
นายจาตุรนต์กล่าวว่า อุปสรรคที่สำคัญในการที่พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองจะไปให้ความเห็นก็คือ พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองไม่สามารถประชุมหารือกันได้ เนื่องจากมีคำสั่งห้ามไว้ ดังนั้น หากตัวแทนพรรคการเมืองไปให้ความเห็นก็จะเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวไม่ใช่ความเห็นของพรรค ความเห็นเหล่านั้นถึงแม้อาจเป็นความเห็นที่ดี แต่ก็อาจไม่ตรงกับความเห็นส่วนใหญ่ของคนในพรรคและย่อมขาดความสมบูรณ์ไปอย่างมาก
“ผมได้รับการสอบถามความเห็นจากผู้ใหญ่ของพรรคเพื่อไทย และได้เสนอไปว่าเมื่อได้รับเชิญก็น่าจะไป แต่คงยังให้ความเห็นอะไรไม่ได้ นอกจากจะไปบอกคณะกรรมาธิการว่าถ้าต้องการความเห็นจริงๆ ก็ควรเสนอให้ คสช.ยกเลิกคำสั่งห้ามพรรคการเมืองประชุมหารือเสียก่อน หรืออย่างน้อยก็ควรผ่อนผันให้พรรคการเมืองจัดประชุมหารือในเรื่องนี้ได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อ คสช.ผ่อนผันให้แล้ว พรรคก็จะได้จัดประชุมเพื่อเสนอความเห็นไปยังคณะกรรมาธิการและต่อสาธารณชนต่อไป หากพรรคจัดประชุมไม่ได้ก็ไม่ควรไปเสนอความเห็นใดๆ นอกจากวิจารณ์อยู่วงนอกก็พอ”
นายจาตุรนต์ยังเสนอต่อคณะ กมธ.ยกร่างฯ ควรผลักดันให้ร่างรัฐธรรมนูญเปิดกว้าง โดยต้องเสนอให้ คสช.ผ่อนคลายบรรยากาศโดยรวมมากกว่านี้ เพราะเรื่องนี้ยังโยงกับเรื่องการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม นายจาตุรนต์ยังได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นว่า ก่อนการรัฐประหารมีข้อเสนอเกี่ยวกับระบบการเมืองการปกครองที่ดูจะปนกัน ระหว่างข้อเสนอที่ก้าวหน้ากับข้อเสนอที่ล้าหลัง แต่พอใกล้จะถึงเวลายกร่างเข้าจริงๆ ข้อเสนอต่างๆ กลับค่อนไปทางล้าหลังและไม่เป็นประชาธิปไตยเสียเป็นส่วนใหญ่ เมื่อพิจารณาจากรายชื่อผู้ที่จะมาร่างซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นฝ่ายเดียวกันเกือบทั้งหมดและบรรยากาศทางการเมืองที่ห้ามเสนอความเห็นที่แตกต่าง รวมทั้งไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วยแล้ว การจะหวังให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจึงเป็นไปไม่ได้เลย
พร้อมกันนี้เห็นว่า ทางที่จะลดความเสียหายในเรื่องนี้ก็คือ การส่งเสริมให้ประชาชนทั้งประเทศมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างหรือไม่ โดยต้องให้มีการลงประชามติ ข้อเสนอนี้กำลังได้รับการขานรับและสนับสนุนจากประชาชนทั่วประเทศเพื่อให้การลงประชามติเป็นข้อกล่าวอ้างได้ว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นเป็นที่ยอมรับของประชาชน โดยการทำประชามติ 1. ควรจะประกาศเสียแต่เนิ่นๆว่า เมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะให้มีการลงประชามติ ไม่ใช่ไปตัดสินใจให้มีการลงประชามติในนาทีสุดท้าย 2. การลงประชามติที่จะมีขึ้น ไม่ควรให้อยู่ในสภาพมัดมือชกเหมือนการลงประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550 คือ หากลงประชามติไม่ผ่านก็อาจเอารัฐธรรมนูญที่เลวร้ายยิ่งกว่ามาใช้แทน แต่ควรจะให้ตกไปแล้วร่างใหม่แม้จะเสียเวลาก็ตาม และ 3. ก่อนการลงประชามติเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป ควรยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกเสียก่อน เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถแสดงความเห็นและรณรงค์สนับสนุนหรือคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเสรี