xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” รับ “บิ๊กตู่” ส่งข้อมูลบางอย่างทำรัฐต้องคิด ยังต้องคงอัยการศึก ชี้ รธน.ดีควรเขียนสั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกรัฐมนตรีประชุม ป.ป.ส.ปรับปรุงองค์กร ตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ ตามยุทธศาสตร์ 5 ปี และแผนประจำปี 58 เตรียมประกาศ 10 จังหวัดนำร่อง ชี้รัฐธรรมนูญที่ดีควรเขียนสั้น ให้เข้าใจในกฏหมายลูกจะดีกว่า แต่ต้องมีกลไกแก้ปัญหา ถ้ามีข้อสงสัยให้ส่งศาลก่อนมีเรื่อง ชี้องค์กรที่ตีความต้องเป็นธรรม รับสถานการณ์ไม่เรียบร้อยต้องคงอัยการศึก เผยนายกฯ ส่งรายงานลับบางอย่างให้ทำให้รัฐบาลต้องคิด หนุนทุกฝ่ายตั้งเวทีถก รธน. แต่ต้องขออนุญาต

วันนี้ (6 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 10.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. ครั้งที่ 1/2557 โดย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต นายวิบูลย์ สงวนพงษ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อรับทราบการปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ส. และการจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ หรือ ศอ.ปส. ในการติดตามผลการดำเนินงาน และพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2558-2562) และแผนปฏิบัติการประจำปี 2558 รวมถึงการแต่งตั้งเจ้าพนักงานของ ป.ป.ส

ต่อมาเวลา 12.30 น. นายวิษณุเปิดเผยว่า ได้หารือถึงความคืบหน้าการจับกุมคดียาเสพติดรวมถึงกฎหมายที่จะต้องออกอีก 3-4 ฉบับ และที่สำคัญคือแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2558-2562 อีกทั้งจะประกาศจังหวัดนำร่องอีก 10 จังหวัด ขณะเดียวกันในที่ประชุม พล.อ.ไพบูลย์ได้รายงานถึงการเดินทางไปพม่าให้ที่ประชุมรับทราบ ซึ่งมีการให้ความร่วมมือปราบรามยาเสพติดร่วมกัน

รองนายกรัฐมนตรียังกล่าวอีกว่า ในส่วนของรูปแบบการร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้น หลักจริงๆ ของการเขียนกฎหมายที่ดี คือการเขียนสั้นดีกว่าเขียนยาว เพราะไม่ควรจะมีเนื้อหารายละเอียดยิบยับอะไรเลย เนื่องจากอะไรก็ตามยิ่งเขียนยาว ความหมายจะยิ่งสั้นเพราะจะนึกว่าจบแค่นั้น บางทีเขียนสั้นๆ แต่ปล่อยให้ตีความ หรือให้เกิดความเข้าใจในกฎหมายลูกจะดีกว่า เช่น การเขียนห้ามลักตู้เย็น โทรทัศน์ แว่นตา ปากกา สุดท้ายอะไรที่หลุดไปก็จะไม่ผิด แต่ถ้าเขียนว่าห้ามลักทรัพย์ ก็จะจบแล้วแปลว่าทรัพย์นั้นหมายถึงอะไร และหลายประเทศที่เป็นประชาธิปไตยก็ไม่ได้เขียนรัฐธรรมนูญยาว

“แต่ปัญหาการเขียนกฎหมายแบบสั้นจะก่อให้เกิดปัญหาการทะเลาะกัน เหมือนกับในอดีตที่ผ่านมา ดังนั้นต้องมีกลไกแก้ปัญหาเหล่านี้ไว้ด้วย ผมเคยพูดหลายครั้งแล้วว่าในเวลาที่ผ่านมาเราไปเขียนลักษณะถ้ามีเรื่องสงสัย หรือตีความ จะต้องมีเรื่องก่อนแล้วจึงส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ทางดีควรเขียนเรื่องสั้นๆ แต่ต้องเขียนด้วยว่าถ้ามีปัญหาสงสัยสามารถส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญก่อนได้โดยไม่ต้องมีเรื่อง เช่น เรื่องนายกฯมาตรา 7 มีได้หรือไม่ได้ ก็เกิดความท้ายทายว่าแน่จริงก็ตั้งนายกฯ มาตรา 7 มาก่อน แล้วจะบอกว่าตั้งได้ไม่ได้ ซึ่งถ้าตั้งขึ้นมาแล้วตั้งไม่ได้คนตั้งก็ต้องถูกถอนถอดเหมือน กรณีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฏร ขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้นต้องมีกลไกมาแก้ปัญหา ส่วนองค์กรที่จะมาตีความและช่วยจะเป็นศาลหรืออะไรก็ตามต้องเป็นองค์กรที่ไว้วางใจ ว่ามีความเป็นธรรมและตัดสินออกมาได้ดีถูกต้อง” นายวิษณุกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่รัฐธรรมนูญต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ขณะเดียวกันยังมีกฎอัยการศึกอยู่จะแก้ปัญหาอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า อยากให้เข้าใจว่าสถานการณ์ยังไม่เรียบร้อย และยังมีเวลาที่จะดำเนินการ เชื่อว่าเมื่อไปถึงจุดหนึ่งคนที่เกี่ยวข้องคงมาคิดว่า ถ้าต้องการสร้างบรรยากาศปฏิรูปและการปรองดองจะมีอะไรบ้างที่จะมาช่วยบรรยากาศตรงนี้ ซึ่งที่ผ่านมามีการพูดถึงเรื่องนี้มาเป็นระยะ ว่าจะมียกเลิกที่โน้นที่นี่ และความจริงกฎอัยการศึกที่อยู่ขณะนี้ไม่ได้ใช้ทั้งหมด ดังนั้นอาจจะมีการผ่อนปรนในบางจังหวัด และความจริงก็มีมาตราเยอะที่รัฐบาลสามารถใช้ได้ โดยไม่ต้องใช้กฎอัยการศึก เช่น กฎหมายบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ส่วนการที่รัฐบาลจะระแวงกับการเคลื่อนไหวต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นนั้น ต้องเข้าใจคนที่อยู่ในภาวะที่มีข้อมูล เขารู้มากต้องคิดมากเป็นธรรมดา ตนว่าบางทีไม่รู้อะไรเลยก็ดีเหมือนกัน

นายวิษณุกล่าวต่อว่า เรื่องการผ่อนปรนกฎอัยการศึกถ้าดูตามนโยบายของรัฐบาลจะเห็นมีบรรจุไว้ในนโยบายรัฐบาล ซึ่งนายกฯ ได้และนายกฯ ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้วว่า รัฐบาลจะพิจารณาผ่อนผัน หรือผ่อนคลายกฎอัยการศึกในบางพื้นที่เมื่อถึงจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้บรรยากาศการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจดีขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมาพูดกันอีก เพียงแต่บางคนอาจจะท้วงว่าเมื่อไหร่จึงจะผ่อนปรนกฎอัยการศึก ซึ่งตรงนี้อยู่ที่ข้อมูลเพราะข้อมูลของรัฐบาลเข้ามาทุกวัน สมัยก่อนที่ตนเป็นรองนายกฯ ข้อมูลแบบนี้ตนไม่เคยรู้ แต่มาสมัยนี้ นายกฯ ได้ขอให้ส่งข้อมูลเหล่านี้ไปที่รองนายกฯทุกคนได้รับรู้ด้วย ซึ่งเมื่อเห็นข้อมูลแล้วทำให้ได้คิดว่า มีอะไรบางอย่างที่ทำให้รัฐบาลต้องคิด ซึ่งหน่วยงานต่างๆ หลายหน่วยงานได้รายงานเข้ามา หรืออาจจะเป็นไปได้ว่าหน่วยงานเหล่านั้นอาจจะมโนไปเองตนไม่รู้ แต่เมื่อรายงานเข้ามารัฐบาลต้องมาพิจารณากัน

เมื่อถามว่า ถ้ามีกลุ่มผู้เห็นต่างทั้งกลุ่ม กปปส.หรือคนเสื้อแดง จัดเวทีระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอการยกร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาลเหนือ คสช.พร้อมจะรับฟังหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า โดยสิทธิและเสรีภาพสามารถทำได้และอยากสนับสนุนให้ทำ แต่อยากเตือนให้ระมัดระวังด้วย เพราะหลายอย่างที่เราคิดว่าทำได้แต่เนื่องจากเรามีประกาศกฎอัยการศึกอยู่ โดยประกาศไม่ให้มีการชุมนุมทางการเมือง จึงต้องระวังตรงนี้ แต่ถ้าทำกันแบบเข้าตามตรอกออกตามประตู ขออนุญาตแจ้งให้ทราบ และไม่ทำอะไรที่ถูกตีความเป็นอย่างอื่นได้ก็น่าจะทำได้ ข้อเสนอที่ได้มาสามารถไปที่กรรมมาธิการยกร่างก็ได้ หรือสภาปฏิรูปแห่งชาติก็ได้ แต่อย่าส่งมาที่รัฐบาล เพราะคงจะไม่สามารถเอาไปทำอะไรได้ โดยอยากให้ทุกฝ่ายทำให้ถูกขั้นตอน ภายใต้กฎหมาย หลายอย่างเป็นสิทธิเสรีภาพแต่ก็เป็นข้อจำกัดอยู่ เราต้องยอมรับ

ผู้สื่อข่าวถามย้ำเรื่องข้อมูลความมั่นคงที่นายกฯ ส่งให้รองนายกฯ ทราบนั้นสามารถเปิดเผยรายละเอียดได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ได้ เพราะเป็นรายงานลับจะนำมาเปิดเผยได้อย่างไร ที่ผ่านมามีการรายงานทุกอาทิตย์ เมื่อได้รับรายงานทีก็กลัวที แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร เป็นการรายงานตามปกติของหน่วยงาน


กำลังโหลดความคิดเห็น