xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ไม่เสี่ยงกดดันพม่าแก้รัฐธรรมนูญช่วยซูจี หวั่นหันซบจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ภาพแฟ้มเอเอฟพีวันที่ 19 พ.ย. 2555 ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีเต็งเส่ง (ขวา) ขณะหารือกันที่อาคารรัฐสภาในนครย่างกุ้ง เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ เผยว่าโอบามากำลังวางมือจากอนาคตทางการเมืองของซูจี เพราะต้องการสมดุลการผลักดันการปฏิรูปของพม่าและมีอิทธิพลในรัฐบาล และการกดดันรัฐบาลพม่าอย่างแข็งกร้าวนั้นอาจเสี่ยงทำให้พม่าย้อนหันไปหาจีน.-- Agence France-Presse/Jewel Samad.</font></b>

รอยเตอร์ - แม้ว่านางอองซานซูจี หัวหน้าพรรฝ่ายค้านพม่าจะได้รับเสียงชื่นชมว่าเป็น “สัญลักษณ์ประชาธิปไตย” แต่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ กำลังเห็นด้วยอย่างเงียบๆ ต่อการตัดสินใจของรัฐบาลที่ห้ามซูจี ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปีหน้า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เผย

โอบามา ที่มีกำหนดเยือนพม่าในสัปดาห์หน้า ดูเหมือนกำลังสมดุลการผลักดันการปฏิรูปประชาธิปไตยด้วยความปรารถนาที่จะรักษาอิทธิพลกับรัฐบาลที่ยังคงสงสัยตัวซูจี และบริหารโดยอดีตนายพลบางส่วนที่เคยควบคุมตัวซูจี ในบ้านพักนาน 15 ปี

สหรัฐฯ ไม่เต็มใจที่จะกดดันเพื่อรับรองว่า ซูจี สามารถลงแข่งขันในการเลือกตั้งปีหน้าเป็นที่แน่นอนว่าจะสร้างความผิดหวังให้แก่บรรดาผู้สนับสนุนของซูจี ที่บางคนใช้เวลาหลายปีในคุกจนกระทั่งพม่ายุติการปกครองโดยทหารที่ยาวนาน 49 ปี ลงในปี 2554 และดำเนินการปฏิรูป

“ไม่ว่าซูจีจะได้รับอนุญาตให้ลงรับสมัครหรือไม่นั้นก็ไม่ได้เป็นมาตรฐานที่จะกำหนดการตัดสินใจว่าผลการเลือกตั้งปี 2558 น่าเชื่อหรือไม่” เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ กล่าวต่อรอยเตอร์

การชี้แจงถึงท่าทีวางมือของวอชิงตันต่ออนาคตทางการเมืองของซูจีในครั้งนี้มีขึ้นในเวลาที่ผู้นำพม่าถูกกล่าวหาอย่างกว้างขวางว่า กำลังถอยหลังในกระบวนการเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตย

“สิ่งสำคัญคือ ประชาชนชาวพม่าถกเถียงกันถึงอนาคตประชาธิปไตยของพวกเขา เราไม่สามารถอคติต่อผลที่จะออกมา เราจะไม่ให้น้ำหนัก และพูดว่าใครควรลงเลือกตั้ง” เจ้าหน้าที่คนเดิม กล่าว

ซูจี ไม่มีสิทธิลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเพราะรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างขึ้นโดยรัฐบาลทหารห้ามผู้ลงสมัครมีคู่สมรส หรือบุตรเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งสามีและลูกชาย 2 คน ของซูจีนั้นเป็นชาวอังกฤษ

เจ้าหน้าที่กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม โอบามา จะกดดันให้การเลือกตั้งดำเนินไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม และน่าเชื่อถือ และการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เน้นเฉพาะเจาะจง นอกจากนั้น จะยังกดดันผู้นำพม่าให้ยุติการข่มเหงทำร้ายชนกลุ่มน้อยทางศาสนา ที่รวมทั้งชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่

“พวกเขาเดินไปในทิศทางการปฏิรูปแล้วหลายก้าว แต่เราเห็นชัดเจนถึงข้อเท็จจริงที่ว่าความคืบหน้านั้นไม่เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทำให้เราวิตก” เจ้าหน้าที่ กล่าว

เป็นเวลาหลายทศวรรษของการโดดเดี่ยวประเทศ และเศรษฐกิจตกต่ำ ผู้นำทหารของพม่าได้นำพาประเทศออกจากสถานะการเป็นประเทศที่ถูกคว่ำบาตรในปี 2554 ด้วยการยกเลิกข้อจำกัดต่อฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ปล่อยตัวนักโทษการเมือง และผ่อนคลายกฎระเบียบอื่นๆ

การเปลี่ยนแปลงหลังถูกคว่ำบาตร และการกดดันจากสหรัฐฯ นานหลายปี ถูกมองว่าเป็นความสำเร็จทางนโยบายต่างประเทศสำหรับโอบามา ซึ่งในเวลานี้กำลังพยายามที่จะจัดการในเชิงปฏิบัติต่อรัฐบาลกึ่งพลเรือนท่ามกลางสัญญาณว่า การปฏิรูปนั้นได้หยุดชะงัก และล้มเหลวที่จะจัดการต่อความตึงเครียดระหว่างชาวพุทธ และมุสลิม

แนวโน้มดังกล่าวที่เกิดขึ้นตั้งแต่การเยือนของโอบามา ในปี 2555 ถูกยกขึ้นเป็นเดิมพันในการเยือนพม่าระหว่างวันที่ 12-14 พ.ย. ซึ่งโอบามา จะเข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาค และพบหารือกับผู้นำพม่า รวมทั้งนางอองซานซูจี

สิ่งที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของวอชิงตันที่จะไม่กดดันรัฐบาลพม่าหนักเกินไปเพื่อซูจี คือ จีน เพื่อนบ้านทางเหนือยักษ์ใหญ่ของพม่า

ระหว่างการโดดเดี่ยวยาวนาน พม่าพึ่งพาปักกิ่งในฐานะพันธมิตรใกล้ชิด แต่รัฐบาลพม่าก็มีความวิตกมากขึ้นเกี่ยวกับการขยายอิทธิพลของจีนต่อเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้รัฐบาลพม่าหันมาพัฒนาความสัมพันธ์กับวอชิงตัน

แต่ความเสี่ยงสำหรับผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐฯ คือ การผลักดันการปฏิรูปที่แข็งกร้าวมากเกินไปอาจส่งผลให้พม่าย้อนกลับไปหาอ้อมกอดปักกิ่ง

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยืนยันว่า โอบามา จะไม่เพลามือต่อประธานาธิบดีเต็งเส่ง จะไม่มีการประกาศการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม ไม่มีการถอนชื่อออกจากบัญชีดำของสหรัฐฯ และไม่มีความร่วมมือระหว่างงทหารฉบับใหม่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองว่า ในตอนนี้ยังไม่ใช่เวลาสำหรับการให้รางวัลแก่พม่า

โอบามา ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีเต็งเส่ง เมื่อวันที่ 30 ต.ค. กดดันให้เต็งเส่งปฏิรูปรัฐธรรมนูญ และจำเป็นต้องดำเนินการให้มากขึ้นที่จะยุติความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และจัดการต่อสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ที่ชาวมุสลิมโรฮิงญาอาศัยอยู่ในสภาพที่เหมือนกับการแบ่งแยกชนชาติ

“สิ่งที่เรามองหาคือก้าวที่ชัดเจนที่มุ่งไปสู่การโอนอำนาจทางการเมืองจากทหาร ก้าวที่มุ่งไปสู่การควบคุมโดยพลเรือน” โคลิน วิลเล็ต ที่ปรึกษาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของโอบามา กล่าว

การเลือกตั้งในปีหน้าจะเป็นครั้งแรกที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของซูจีจะเข้าร่วมลงเลือกตั้งนับตั้งแต่พรรคชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2533 ซึ่งทหารเพิกเฉยต่อผลการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว

แม้ความนิยมจะลดลงเล็กน้อยนับตั้งแต่ซูจี ถูกปล่อยตัวจากการควบคุมตัวในบ้านพักในปี 2553 แต่ซูจี อาจจะชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีหากเธอได้รับอนุญาตให้ลงสมัคร ขณะที่โฆษกพรรคของซูจี กล่าวว่า โอบามาควรกดดันรัฐบาลให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อรับประกันว่าซูจีจะสามารถเข้าร่วมในการแข่งขันได้

สมาชิกอาวุโสของพรรคกล่าวต่อรอยเตอร์ในเดือน ก.ย.ว่า หากซูจี ถูกห้าม พรรคจะเข้าร่วมการเลือกตั้งโดยไม่มีผู้สมัครลงรับเลือกตำแหน่งประธานาธิบดี และอาจสนับสนุนอดีตนายพลจากพรรครัฐบาลที่อาจทำให้ฝ่ายค้านเสียงแตกในภายหลัง

แม้ซูจี จะยังคงได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวางรวมทั้งต่างชาติ แต่กลับมีรอยร้าวเกิดขึ้นต่อภาพลักษณ์ในบ้านเกิด เมื่ออดีตผู้สนับสนุนบางคนกล่าวว่า ซูจี แยกตัวเองออกจากที่ปรึกษาที่มีความสามารถ

ความท้าทายของโอบามา คือ การทำให้รัฐบาลพม่ายังคงเดินหน้าปฏิรูป และกระตุ้นให้ดำเนินการมากยิ่งขึ้น หากพม่าต้องการความสัมพันธ์ในระดับปกติกับวอชิงตัน และการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดจากที่ในเวลานี้เพียงแค่ระงับไว้.
กำลังโหลดความคิดเห็น