xs
xsm
sm
md
lg

“เต็งเส่ง” เปิดเจรจาครั้งประวัติศาสตร์หารือ “ซูจี-กองทัพ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>(จากซ้ายไปขวา)ตูระ ฉ่วย มาน ประธานรัฐสภาพม่า,รองประธานาธิบดีสายหมอกคำ,ประธานาธิบดีเต็งเส่ง,รองประธานาธิบดียาน ตุน และพล.อ.มิน ออง หล่าย ยืนถ่ายภาพร่วมกันก่อนเข้าร่วมประชุมที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงเนปีดอ วันที่ 31 ต.ค.-- Agence France-Presse/Phyoe Hein Kyaw.</font></b>

เอเอฟพี - ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ของพม่า เปิดการหารือครั้งประวัติศาสตร์ร่วมกับนายทหารระดับสูง และคู่แข่งทางการเมือง ที่รวมทั้งนางอองซานซูจี ในวันนี้ (31) ขณะที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ เรียกร้องการเลือกตั้งที่ครอบคลุม และเชื่อถือได้ในปีหน้า

เต็งเส่งและซูจีเดินเข้าที่ประชุมพร้อมกันเพื่อเริ่มการหารือครั้งพิเศษในกรุงเนปีดอก่อนการเลือกตั้งปี 2558 ที่ถูกมองว่าเป็นบททดสอบสำคัญของการปฏิรูปประชาธิปไตยภายใต้การนำของรัฐบาลกึ่งพลเรือน

ประธานาธิบดีเต็งเส่งเริ่มการประชุมด้วยการกล่าวต้อนรับคณะผู้ร่วมประชุมที่ประกอบด้วยนางอองซานซูจี หัวหน้าพรรคต่างๆ ผู้บัญชาการกองทัพทหารพม่า และประธานคณะกรรมาธิการการเลือกตั้ง ก่อนที่ผู้สื่อข่าวจะถูกเชิญออกจากห้องประชุม

การประชุมครั้งนี้มีขึ้นหนึ่งวันหลังจากที่ทำเนียบขาวระบุว่าประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวกับเต็งเส่งและซูจีเกี่ยวกับการเลือกตั้งก่อนที่ผู้นำสหรัฐฯ จะเดินทางเยือนพม่าในอีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ข้างหน้า

โอบามา เน้นย้ำถึงความจำเป็นของกระบวนการที่ครอบคลุม และน่าเชื่อถือในการจัดการเลือกตั้งปี 2558 ระหว่างการพูดคุยผ่านทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีเต็งเส่ง ตามคำแถลงฉบับหนึ่งของทำเนียบขาว

เมื่อสัปดาห์ก่อน ทางการพม่าประกาศว่า การเลือกตั้งครั้งสำคัญของประเทศจะมีขึ้นในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ต.ค. หรือสัปดาห์แรกของเดือน พ.ย.2558

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2553 ถูกกล่าวหาอย่างกว้างขวางว่ามีการโกงเลือกตั้ง และจัดขึ้นโดยไร้เงา นางอองซานซูจี หรือพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย

การหารือในพม่ามีขึ้นในขณะที่ประเทศยังติดอยู่กับคำถามทางการเมือง และรัฐธรรมนูญ รวมทั้งความพยายามที่จะยุติการต่อสู้ทั่วประเทศกับกลุ่มกบฏต่างๆ

การเลือกตั้งซ่อมในปี 2555 พรรคของซูจี ชนะเกือบทุกที่นั่งที่เปิดรับสมัคร และซูจี ได้กลายเป็นสมาชิกรัฐสภาเป็นครั้งแรก ซึ่งพรรค NLD ในเวลานี้คาดหวังที่จะชนะการเลือกตั้งปี 2558 แต่ซูจีที่ใช้เวลามากกว่าทศวรรษอยู่ภายใต้การควบคุมตัวภายในบ้านพักระหว่างการปกครองของรัฐบาลทหาร ถูกห้ามทำหน้าที่ระดับสูงของประเทศตามรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญพม่า ระบุว่า บุคคลที่คู่สมรส หรือบุตรเป็นชาวต่างชาติไม่สามารถทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดีได้ ซึ่งนางอองซานซูจี มีสามี และบุตรชาย 2 คน เป็นชาวอังกฤษ

หลายคนเชื่อว่ามาตราดังกล่าวร่างขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อขัดขวางการมีอำนาจทางการเมืองของซูจี

รัฐบาลพม่าให้คำมั่นว่า การเลือกตั้งจะดำเนินอย่างเสรีที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของประเทศ หลังทหารยกอำนาจให้แก่รัฐบาลกึ่งพลเรือนเมื่อ 3 ปีก่อน

เต็งเส่ง สร้างความประหลาดใจต่อประชาคมโลกด้วยการปฏิรูปประเทศหลากหลายด้านที่ส่งผลให้ต่างชาติคลายมาตรการคว่ำบาตรที่กำหนดไว้

นักโทษการเมืองส่วนใหญ่ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ ซูจี เดินเข้าสู่รัฐสภา และรัฐบาลได้พยายามยุติสงครามกลางเมืองกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย แต่พม่ายังคงต้องเผชิญต่อความท้าทายอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการก่อการจลาจลที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และปัญหาความยากจนที่สำคัญ ซึ่งล้วนจำเป็นต้องจัดการแก้ไขภายใต้รัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้งในปีหน้า.
<br><FONT color=#000033>อองซานซูจี (กลาง) หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) และสมาชิกรัฐสภานั่งโต๊ะหารือที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงเนปีดอ วันที่ 31 ต.ค.-- Agence France-Presse/Phyoe Hein Kyaw.</font></b>
กำลังโหลดความคิดเห็น