รอยเตอร์ - การเลือกตั้งกำลังจะมาถึงในปีหน้านี้ นางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่า กำลังเร่งความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ห้ามนางจากการทำหน้าที่เป็นประธานาธิบดี และให้อำนาจทางการเมืองอย่างมากมายต่อทหารที่เป็นสมาชิกรัฐสภา แต่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ซูจี กลายเป็นผู้มีชื่อเสียงระดับโลกหลังได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี 2534 จากความพยายามต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย และใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วง 2 ทศวรรษต่อมา ภายใต้การควบคุมตัวในบ้านพักที่นางยังคงต่อต้านผู้ปกครองทหารของพม่า
ซูจี ยังคงได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง แต่ก็ไม่สามารถที่จะเติมเต็มความประสงค์ที่จะทำหน้าที่เป็นประธานาธิบดีของประเทศ เนื่องจากมาตราในรัฐธรรมนูญระบุห้ามนางจากการทำหน้าที่ดังกล่าว แต่เวลานี้ ซูจี กล่าวว่า สิ่งสำคัญประการแรกของนางคือ การเปลี่ยนแปลงแก้ไขอีกมาตราหนึ่ง ที่ระบุมอบอำนาจทางพฤตินัยให้แก่ทหารอยู่เหนือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นภายใต้การปกครองของอดีตรัฐบาลทหาร กำหนดให้ 25% ของที่นั่งทั้งหมดในสภาเป็นของทหาร และมากกว่าครึ่งหนึ่งของที่นั่งที่เหลือถูกครอบครองโดยพันธมิตรของทหารจากพรรคสหภาพเอกภาพและการพัฒนา (USDP)
มาตรา 436 กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นต้องได้รับเสียงสนับสนุน 75% จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องได้เสียงสนับสนุนส่วนใหญ่จากพรรค USDP และสมาชิกรัฐสภาที่เป็นทหาร นับเป็นความสำเร็จที่ไม่น่าเป็นไปได้สำหรับข้อเสนอที่มีเป้าหมายลดทอนบทบาทของทหารในเวทีการเมือง
“ถ้าเราไม่แก้มาตรา 436 นั่นหมายความว่า ทหารมีอำนาจยับยั้งต่อสิ่งที่สามารถ หรือไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในรัฐธรรมนูญ” ซูจี กล่าวกับรอยเตอร์
ซูจี ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งข่าวที่น่าประหลาดใจ คือ คณะกรรมการรัฐสภาตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สมาชิกส่วนใหญ่มาจากพรรค USDP โดยคณะกรรมการดังกล่าว มีมติให้เปลี่ยนเสียงส่วนใหญ่ที่ต้องการจาก 75% เป็น 2 ใน 3 ของเสียงทั้งหมด
สิ่งนี้ทำให้พรรค NLD ง่ายชึ้นที่จะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป รวมทั้งกำจัดข้อที่ระบุห้ามบุคคลใดที่มีบุตร หรือคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติจากการนั่งตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า มาตราดังกล่าวถูกเขียนขึ้นเพื่อพุ่งเป้าไปที่ซูจี เนื่องจากสามีของนาง และบุตรชาย 2 คน เป็นชาวอังกฤษ
ด้วยการมุ่งไปที่การแก้ไขเสียงส่วนใหญ่ที่ต้องการสำหรับแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ซูจี สามารถรณรงค์ต่อประชาชนได้ในวงกว้าง ไม่เช่นนั้น ซูจี จะถูกตราว่ารณรงค์เพื่อประโยชน์ของตัวเองหากมุ่งความสนใจไปที่มาตรการ 59(f) เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
หลังกุมอำนาจนานเกือบครึ่งศตวรรษ ทหารก้าวลงจากอำนาจในปี 2554 หลังการเลือกตั้งในเดือนพ.ย. 2553 รัฐบาลกึ่งพลเรือนของประธานาธิบดีเต็งเส่ง สร้างความประหลาดใจให้แก่ประชาคมโลกด้วยการปฏิรูปประเทศหลากหลายด้าน รวมทั้งการปล่อยตัวนักโทษการเมือง สหรัฐฯ ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงด้วยการระงับมาตรการคว่ำบาตรส่วนใหญ่ และให้คำมั่นที่จะคลายมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมหากพม่าเพิ่มการปฏิรูป ที่รวมทั้งการถอนทหารออกจากการเมือง
พันธมิตรของซูจี ในการต่อสู้เรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังรวมถึงสมาชิกของกลุ่มรุ่น 88 ที่กำลังทำงานร่วมกับพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ในคำร้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรค NLD ระบุว่า สามารถล่ารายชื่อผู้สนับสนุนได้แล้วถึง 2.5 ล้านรายชื่อ
คณะกรรมการรัฐสภาที่พิจารณารัฐธรรมนูญมีกำหนดยื่นข้อเสนอของคณะในเดือน ก.พ.2558
หากคณะเสนอแก้ไขมาตรา 436 ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเองก็จะต้องได้รับการสนับสนุน 75% ของรัฐสภา และจากนั้นจะจัดการลงประชามติทั่วประเทศ ที่ต้องได้มติเห็นชอบอย่างน้อย 50% ซึ่งจะเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ซูจี และพันธมิตรที่จะผลักดันให้ผ่านก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปลายปี 2558 และภารกิจจะยากยิ่งขึ้นเมื่อพวกเขาต้องแก้ไขมาตราที่ห้าม ซูจี ขึ้นเป็นประธานาธิบดีต่อจากนั้น.