เอพี - นางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่าแสดงความคิดเห็นต่อการลงคะแนนเสียงเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ห้ามซูจีดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ โดยระบุว่า ตนจะเป็นประธานาธิบดีในอนาคตหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชนชาวพม่า
“ไม่ว่าฉันจะเป็นประธานาธิบดีหรือไม่ในอนาคต ขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชน ความประสงค์ของพวกเขาต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และต่อผู้ที่พวกเขาต้องการจะเลือกเป็นประธานาธิบดี” ซูจี กล่าวในวันสุดท้ายของการเดินทางเยือนเนปาล
รัฐธรรมนูญพม่า ห้ามบุคคลที่คู่สมรส หรือบุตรเป็นชาวต่างชาติดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี หรือรองประธานาธิบดี ซึ่งสามีที่ล่วงลับ และบุตรชาย 2 คนของซูจี นั้นเป็นพลเมืองอังกฤษ
คณะกรรมาธิการรัฐสภามีมติไม่เปลี่ยนบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากข้อเสนอแนะดังกล่าวได้รับการรับรองจากรัฐสภา ก็มีแนวโน้มว่าจะส่งกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปี 2558 โดยเฉพาะพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ของซูจี ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะชนะการเลือกตั้ง แต่หากซูจี ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอย่างที่คาดหวัง เสียงสนับสนุนพรรคอาจลดน้อยลง
ในการเลือกตั้งปี 2533 ซูจี นำพรรคชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แต่ทหารไม่อนุญาตให้เข้าบริหาร ต่อมา พรรค NLD ของซูจีได้คว่ำบาตรการเลือกตั้งในปี 2553 แต่กลายมาเป็นพรรคฝ่ายค้านสำคัญหลังการเลือกตั้งซ่อมในปี 2555
ซูจี กล่าวว่า กำลังพยายามหาทางที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างโอกาสของความเป็นไปได้ที่เสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกสภานิติบัญญัติจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“ประโยคหลักในรัฐธรรมนูญที่เราต้องการเปลี่ยนคือ ประโยคที่ให้สิทธิทหารในการยับยั้งการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ซูจี กล่าว
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 ร่างขึ้นโดยรัฐบาลเผด็จการทหารก่อนหน้าเพื่อให้แน่ใจว่าจะยังคงมีอิทธิพลต่อเนื่องในรัฐบาล โดยกำหนดให้ที่นั่งในรัฐสภา 25% แก่ทหาร มีอำนาจยับยั้งการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องมีเสียงสนับสนุนมากกว่า 75% ของสมาชิกรัฐสภา หลังการลงประชามติ
ขณะเดินทางอยู่ในเนปาล ซูจี ได้พบหารือกับผู้นำทางการเมืองระดับสูง และเยือนเมืองลุมพินี ซึ่งเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า.