เอเอฟพี - พรรคฝ่ายค้านของนางอองซานซูจี เริ่มโครงการล่ารายชื่อสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างขึ้นในสมัยรัฐบาลเผด็จการทหาร แม้ว่ามีคำเตือนจากเจ้าหน้าที่การเลือกตั้ง โฆษกพรรคของนางซูจีเผย
อองซานซูจี อดีตนักโทษการเมืองที่เปลี่ยนมาเป็นนักการเมืองผู้นี้ได้เริ่มรณรงค์ให้มีการแก้ไขกฎหมายนับตั้งแต่นางกลายเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติเมื่อ 2 ปีก่อน เนื่องจากข้อกฎหมายระบุห้ามดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี
“การรณรงค์ล่ารายชื่อของเราคืบหน้าไปด้วยดีตั้งแต่เริ่มโครงการ เราถูกแทรกแซงเล็กน้อย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบางนายมาหาเพื่อขอให้เรามอบรายชื่อให้” นายเนียน วิน โฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางอองซานซูจี กล่าว
พรรค NLD เริ่มรวบรวมรายชื่อที่สำนักงานพรรค NLD ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันอังคาร (27)
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 ระบุห้ามบุคคลใดก็ตามที่มีคู่สมรส หรือบุตรเป็นพลเมืองต่างชาติดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำประเทศ ซึ่งมาตราดังกล่าวนี้เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า มีเป้าหมายที่นางซูจี ที่มีบุตรชายชาวอังกฤษ 2 คน
รัฐธรรมนูญยังระบุกันที่นั่ง 1 ใน 4 ของสภาให้แก่ทหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ทหารมีบทบาทสำคัญทางการเมือง แม้ว่าจะสิ้นสุดการปกครองระบอบเผด็จการทหารแล้วก็ตาม
เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. ซูจี ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าฝูงชนหลายพันคน และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงสนับสนุนคำร้องดังกล่าว
“ฉันต้องการที่จะให้ทุกคนพิจารณาว่า การได้รับโอกาสมากกว่าประชาชนทั่วไปนั้นเป็นธรรมจริงหรือ” ซูจี กล่าว
ด้านคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ส่งหนังสือเตือนให้ซูจีปรับเปลี่ยนภาษาที่ใช้กับทหารที่มีส่วนร่วมในรัฐสภา โดยระบุว่า คำพูดเรียกร้องกระตุ้น “เราท้าคุณ” และคำอื่นๆ นั้น อยู่นอกเหนือขอบเขตที่รัฐธรรมนูญอนุญาต
การเลือกตั้งรัฐสภาที่มีกำหนดจัดในปี 2558 ถูกมองว่าเป็นการทดสอบเจตนาของทหารว่าจะคลายอำนาจลงหรือไม่
ตำแหน่งประธานาธิบดี จะถูกเลือกโดยสภานิติบัญญัติ และซูจี ได้ประกาศเจตนารมณ์ว่า ต้องการที่จะนำประเทศ
การเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายใดๆ ก็ตาม จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนมากกว่า 75% ของสภานิติบัญญัติ ดังนั้น จำต้องมีทหารส่วนหนึ่งลงคะแนนเสียงให้แก่การปฏิรูป
คำร้องขอแก้ไขกฎหมายได้รับความสนใจจากบรรดาคนดังและประชาชนทั่วไป
“การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญจะเป็นเรื่องดีสำหรับการเลือกตั้งในปี 2558” อ่อง โซ อายุ 70 ปี อดีตเจ้าหน้าที่รัฐ กล่าว ขณะเดินทางมายังสำนักงานใหญ่พรรค NLD ในนครย่างกุ้ง เพื่อลงชื่อในคำร้อง
ซูจี ถูกควบคุมตัวในบ้านพักนาน 15 ปี ระหว่างการปกครองของทหาร ก่อนได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระหลังการเลือกตั้งในปี 2553 ที่พรรคของนางคว่ำบาตรไม่เข้าร่วม และนับตั้งแต่นั้นประธานาธิบดีเต็งเส่ง ได้ดำเนินการปฏิรูปประเทศหลากหลายด้าน รวมทั้งการปล่อยตัวนักโทษการเมือง และการรับนางซูจี และพรรคของนางเข้าสู่รัฐสภา หลังการเลือกตั้งซ่อมครั้งสำคัญในปี 2555.