เอเอฟพี - ฝ่ายค้านพม่ายินดีต่อการเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกผู้ที่จะมาเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของประเทศได้อย่างเสรี ท่ามกลางความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงกฎที่ห้าม นางซูจี เป็นผู้นำประเทศ
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องให้พม่าดำเนินการปฏิรูป เพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนชาวพม่าสามารถเลือกประธานาธิบดีของตัวเองได้อย่างเสรี ในคำแถลงฉบับหนึ่งที่เป็นการตอบสนองต่อความกังวลว่า พรรครัฐบาลจะใช้เสียงส่วนใหญ่ของตัวเองยกเลิกการแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ห้ามนางซูจี
โฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) กล่าวว่า การสนับสนุนของวอชิงตันถือเป็นสัญญาณบวก ขณะเดียวกัน ก็ระบุว่ายังมีอุปสรรค เมื่อพรรคพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างขึ้นโดยทหารให้เสร็จสิ้นก่อนการเลือกตั้งปี 2558 ที่ถูกมองเป็นบททดสอบสำคัญของการเปลี่ยนไปสู่ระบอบประชาธิปไตยของพม่า
“เรายินดีต่อการเรียกร้องของสหรัฐฯ แต่อาจมีปัญหาทางกฎหมายหลายอย่างก่อนที่จะสามารถนำมาใช้ในทางปฏิบัติ” เนียน วิน กล่าว
พรรค NLD เป็นที่คาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่าจะชนะที่นั่งส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งปีหน้า หากการลงคะแนนเสียงเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม และตำแหน่งประธานาธิบดีจะถูกแต่งตั้งขึ้นโดยรัฐสภา ซึ่งซูจี เผยว่ามีความประสงค์ที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว
แต่อดีตนักโทษการเมืองผู้นี้ไม่มีคุณสมบัติภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2551 ที่ห้ามบุคคลผู้ใดก็ตามที่คู่สมรส หรือบุตรเป็นพลเมืองต่างชาติจากการเป็นผู้นำประเทศ
หลายคนสงสัยว่า บทบัญญัติดังกล่าวที่ถูกเพิ่มขึ้นโดยทหารที่ปกครองประเทศในขณะนั้น มีเจตนาที่จะไม่รวมนางซูจี ซึ่งสมรสกับนักวิชาการชาวอังกฤษ และมีบุตรชายชาวอังกฤษ 2 คน
เนียน วิน กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติ มาตรา 59F จะสามารถกระทำได้ถ้ารัฐบาลและสภาเห็นชอบที่จะแก้ไขก่อนการเลือกตั้ง พร้อมทั้งเสริมว่า คณะกรรมาธิการรัฐสภาที่มีหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะการปฏิรูปรัฐธรรมนูญเชื่อว่าจะยังคงไตร่ตรองมาตรการ 59F นี้ แม้จะมีรายงานว่า สมาชิกคณะกรรมาธิการที่ส่วนใหญ่มาจากพรรครัฐบาลมีมติที่จะไม่เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า จะยังคงเดินหน้าหารือต่อไปกับรัฐบาลพม่า และผู้ที่มีส่วนสำคัญ เพื่อพัฒนาข้อเสนอแนะในขั้นสุดท้ายต่อการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
“การที่ประชาชนชาวพม่าสามารถเลือกผู้ที่พวกเขาต้องการให้นำประเทศได้อย่างอิสรเสรีระหว่างการเปลี่ยนผ่านช่วงสำคัญ จะช่วยให้แน่ใจว่าประเทศยังคงมีเสถียรภาพ ขณะที่การเปลี่ยนไปสู่ระบอบประชาธิปไตยยังคงดำเนินต่อไ“” กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่งเมื่อวันจันทร์ (16)
พรรค NLD ได้เริ่มรณรงค์ล่ารายชื่อทั่วประเทศเพื่อสนับสนุนการเรียกร้องเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ที่ยังคงกันที่นั่ง 1 ใน 4 ของที่นั่งทั้งหมดในรัฐสภาให้แก่ทหาร
แต่การเปลี่ยนแปลงมาตราใดก็ตามจำเป็นต้องได้เสียงสนับสนุนเกินกว่า 75% ของสมาชิกสภานิติบัญญัติ ดังนั้น ต้องมีทหารอย่างน้อยส่วนหนึ่งลงคะแนนเสียงให้ปฏิรูป
เมื่อเดือนก่อน ซูจี ถูกตำหนิจากคณะกรรมการการเลือกตั้งของประเทศที่เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทหาร และนายทหารระดับสูงสนับสนุนการปฏิรูปในระหว่างการกล่าวปราศรัยต่อประชาชนหลายพันคน.