“อลงกรณ์” เตรียมแจงเหตุดึงพรรคการเมืองร่วมร่างรัฐธรรมนูญต่อที่ประชุม สปช. พร้อมยอมรับหากเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ถาม ปชป. ทำไมยังคิดเล็กคิดน้อย ไม่ก้าวข้าม นึกถึงอนาคตประเทศ พร้อมเรียกร้อง “อภิสิทธิ์” ร่วมวง ด้าน “ถาวร” แย้ม กปปส. จะส่งคนไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ชี้ละลายพฤติกรรมแล้วมาเริ่มต้นกันใหม่ ส่งพิมพ์เขียวไม่พอ เข้าร่วมน่าเป็นประโยชน์มากกว่า
วันนี้ (26 ต.ค.) นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะวิป สปช. ชั่วคราว กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (27 ต.ค.) จะมีการประชุม สปช. โดยมีวาระสำคัญคือ จะมีการรายงานผลการประชุมของวิปชั่วคราว 2 เรื่อง คือ 1. การกำหนดวันประชุม สปช. ทุกวันจันทร์ และ วันอังคาร และ 2. วิธีการสรรหาและเลือกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในความรับผิดชอบของ สปช. เนื่องจากมติของวิปชั่วคราวให้ 15 คนมาจาก สปช. อีก 5 คนเป็นนอก โดยในส่วนของคนนอก มีการเปิดไว้กว้างๆ คือ 1. จาก 3 พรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และ พรรคชาติไทยพัฒนา 2. กลุ่มการเมือง เช่น กลุ่ม กปปส. กลุ่ม นปช. 3. ตัวแทนวิชาชีพที่ไม่ได้เข้ามาและมีสัดส่วนน้อย เช่น กลุ่มชาวนา และกลุ่มอื่นๆ เป็นต้น
ส่วนที่มีสมาชิก สปช. บางส่วนแสดงความไม่เห็นด้วยที่จะแบ่งโควตาให้คนนอก โดยเฉพาะการดึงตัวแทนพรรคการเมืองเข้ามา นายอลงกรณ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่ข้อเสนอจะมีคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่จะให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติ ซึ่งในวิปชั่วคราวได้หารือว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ประเด็นสำคัญนอกเหนือจากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญแล้ว คือ การยอมรับรัฐธรรมนูญดังกล่าว เมื่อจะมีการปฏิรูปการเมืองควรจะเริ่มต้นด้วยการปรองดอง สมานฉันท์ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไม่ควรเริ่มต้นด้วยการแบ่งเขาแบ่งเรา ไม่ไว้วางใจ เพราะวิกฤตการณ์หลายปีที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเกิดจากพรรคการเมืองใหญ่และกลุ่มการเมือง แม้การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเสร็จสิ้นลง และถึงช่วงเวลาการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือแม้แต่พิมพ์เขียวของประเทศ อาจจะเป็นเพียงกระดาษที่ไร้ค่า หากพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองปฏิเสธไม่ยอมรับด้วยเหตุผลว่าเป็นผลพวงของรัฐประหาร เป็นผลไม้พิษ ก็จะทำให้ความหวังในการปฏิรูปประเทศ หรือมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าจะมีผลต่อการยกระดับ อัพเกรดประเทศก็จะสูญเปล่าและจะเริ่มต้นความขัดแย้งรอบใหม่
“ดังนั้น ส่วนหนึ่งเห็นว่าเราจะคำนึงถึงแต่การเขียนเนื้อหาสาระอย่างเดียวไม่ได้ ต้องคำนึงถึงความชอบธรรมและการยอมรับ ก็จะมีผลต่อการนำรัฐธรรมนูญนี้ไปปฏิบัติต่อไป ในเมื่อประเด็นปัญหาใหญ่ของประเทศมาจากความแตกแยกแบ่งฝ่าย เมื่อจะเริ่มยกร่างรัฐธรรมนูญกันก็ไม่ควรจะมาแบ่งฝักแบ่งฝ่ายควรจะให้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ถ้าเราจะพิจารณากันเองเขียนกันเองให้ดีที่สุดก็ทำได้ แต่ผลหลังจากนั้นถ้าไม่รอบคอบไม่เปิดกว้างยอมรับ ไม่เน้นการมีส่วนร่วมก็กังวลกันว่าจะเกิดปัญหาในวันข้างหน้า เว้นแต่พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองจะมีสัตยาบรรณชัดเจนที่จะให้การยอมรับและสนับสนุน ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ที่จะกะเกณฑ์ แต่เขาได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นว่ากติกาที่เขียนมาไม่ได้ไปเบี่ยงเบนจากหลักที่ถูกต้อง แต่ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมใหญ่ว่าจะเห็นด้วยต่อข้อเสนอของเราหรือไม่ ตอนนี้เป็นแค่มติของวิปเท่านั้น” นายอลงกรณ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคการเมืองก็คือนักการเมืองซึ่งเป็นผู้เล่น จะให้มาร่วมเขียนกติกาด้วยก็จะถูกมองเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนได้ นายอลงกรณ์ กล่าวว่า มีการพูดถึงประเด็นนี้กันมาก แต่รัฐธรรมนูญปี 40 ที่ยอมรับกันว่าดีที่สุดก็เขียนมาจากนักการเมืองทั้งฉบับ มีส่วนร่วมโดยตรงตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงเขียนร่างออกมา ฉะนั้น ที่บอกว่ามีส่วนได้ส่วนเสียก็ไม่เป็นจริงเสมอไป ที่สำคัญไม่ควรแบ่งแยกโดยเฉพาะคู่กรณีที่เป็นปมความขัดแย้งของวิกฤตการเมือง หากไม่เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นวันสุดท้ายของการเขียนรัฐธรรมนูญ ก็คือ รัฐธรรมนูญไม่มีความหมายเลย
เมื่อถามว่า พรรคประชาธิปัตย์โดยนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ได้ออกมาปฏิเสธว่าจะไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายอลงกรณ์ กล่าวว่า อาจจะเป็นความเห็นส่วนตัว แต่ตนอยากให้มองไกลไปข้างหน้า ต้องมองบ้านเมืองเป็นหลักอย่ามองแต่การเมือง เพราะการที่อ้างว่ามีคุณสมบัติหรือข้อห้ามนั้น พรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิก 3 ล้านคน และคนสนับสนุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ฉะนั้น ย่อมมีบุคคลที่มีคุณสมบัติเข้ามาเป็นได้ ในฐานะตัวแทนของพรรคจะมีความหมายมาก การเสนอเพียงความเห็นด้วยเอกสารก็ทำได้ แต่จะมีผลถึงการยอมรับแค่ไหนต่อรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้น
“ทำไมวันนี้ไม่ก้าวข้าม ไม่มองถึงอนาคตของประเทศ ทำไมยังคิดเล็กคิดน้อย คิดแต่เหตุผลทางการเมือง ทำไมไม่ถามตัวเองว่าพ้นจากวันนี้ไปแล้ววันหน้าจะแก้ไขความแยกแตก แบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างไร ถ้ายังตอบคำถามนี้ไมได้ก็มาช่วยกันตอบกับพวกเรา เพราะเรามีคำตอบแล้วว่าเราจะต้องสมานฉันท์ปรองดองและร่วมกันนำประเทศเดินไปข้างหน้า และทุกพรรคการเมืองทุกกลุ่มการเมืองมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่ถ้าขาดพวกท่านเราก็ไม่แน่ใจว่าวันข้างหน้าวิกฤตการเมืองจะหวนกลับมาหรือไม่ เพราะเพียงแค่มาทำงานเพื่อบ้านเมืองก็ยังถูกปฏิเสธ ยังถูกเกี่ยงงอนด้วยเหตุผลที่เหมือนกลืนน้ำลายตัวเอง แล้ววันข้างหน้าบ้านเมืองจะฝากความหวังได้อย่างไร” นายอลงกรณ์ กล่าว
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า การดึงพรรคการเมืองมาร่วมเพื่อต้องการความหลากหลายมาสู่การหาข้อสรูปในการร่างรัฐธรรมนูญ เช่นกรณีเรื่องพลังงานที่มีความเห็นต่างอย่างมากในขณะนี้จะได้ข้อสรุปอย่างไร ถ้าไม่เข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจในการปฏิรูปด้วย วันข้างหน้าก็จะยังคงโต้แย้งอย่างนี้ เช่นเดียวกับการเมือง ถ้ายังเกี่ยงงอนแบ่งฝ่ายอย่างนี้ก็ไม่ต่างกัน เมื่อพวกเขาได้ตระหนักงานมีส่วนก่อให้เกิดวิกฤตการเมือง
“แม้แต่นายอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) เองก็เคยบอกว่าประเทศมาถึงจุดนี้ท่านเองมีส่วนรับผิดชอบแสดงว่าท่านก็ยอมรับและเห็นถึงความผิดพลาด แต่เมื่อวันนี้มีการแก้ไขปัญหา มาวางอนาคตใหม่ให้ประเทศ ท่านก็ปฏิเสธ แต่เราไม่มีสิทธิไปบังคับใคร เพียงแต่เสดงเจตนาที่ดี และอยากชี้ให้เห็นว่าความร่วมมือของทุกฝ่ายโดยเฉพาะคู่ขัดแย้งจะมีส่วนทำให้การปฏิรูปเกิดขึ้นและรัฐธรรมนูญที่ยอมรับของทุกฝ่ายจะสร้างประชาธิปไตยใหม่ให้เราได้ ก็ต้องระวางประโยชน์ส่วนตัวหรือเรื่องการเมืองบ้าง หากจะส่งแต่เอกสารความเห็นก็ทำได้ แต่ผมเคยพูดกับพรรคว่าเราต้องเป็นต้นไม้ใหญ่ เพราะเคยเป็นทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีอดีตนายกรัฐมนตรีถึงสองท่าน และอดีตรัฐมนตรีเป็นร้อยคน ในยามบ้านเมืองวิกฤตและต้องการองค์ความรู้ และประสบการณ์ในการเขียนอนาคตประเทศครั้งใหม่ พรรคไม่ควรปฏิเสธเพียงแค่ส่งเอกสารเข้ามา แต่ควรเป็นหลักของบ้านเมืองในการเขียนรัฐธรรมนูญและออกแบบการปฏิรูป วันนี้ขอโอกาสให้ประเทศบ้าง” นายอลงกรณ์ กล่าว
นายอลงกรณ์ กล่าวด้วยว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าที่รองประธาน สปช. ก็สนับสนุนความเห็นนี้ เพราะเป็นเรื่องนี้เหมือนกับเรายื่นมือให้กับทุกฝ่าย ส่วนจะตอบรับหรือไม่ก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละคน การเริ่มต้นปฏิรูปต้องเริ่มจากหัวใจของปัญหาคือการต้องหันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่การแบ่งฝ่าย หรือการเกี่ยงงอนกับอนาคตของประเทศด้วยการข้ออ้างเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้แล้วจะคิดทำงานใหญ่ได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม หากที่ประชุม สปช. ไม่เห็นด้วยหรือเห็นเป็นอย่างอื่นก็ต้องเป็นไปตามมตินั้น แต่หากเห็นด้วยก็จะดำเนินการทาบทามอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
ด้าน นายถาวร เสนเนียม แกนนำกลุ่ม กปปส. กล่าวว่า ทางกลุ่มจะมีการประชุมเรื่องนี้ในเร็วๆ นี้ เพราะให้ความสนใจต่อการปฏิรูปประเทศมาตั้งแต่ต้น และส่งตัวแทนเข้าไปเป็น สปช. อยู่หลายคน คิดว่าแนวทางน่าจะตรงกันว่าจะส่งคนไปร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนจะเป็นใครนั้นจะมีการหารือในที่ประชุม ซึ่งอาจจะไม่ใช่คนที่เคยยืนอยู่บนเวทีชุมนุมก็ได้ ส่วนกรณีตัวแทนพรรคการเมือง การมีส่วนร่วมทุกระดับถือเป็นเรื่องดี อาจจะถูกมองว่ามีปัญหาอยู่บ้าง เช่น ร่างกฎเกณฑ์กติกาเมือต้นเอง แต่ตัวแทนที่เข้าไปร่วมจะต้องตัดความผูกพันระหว่างพรรคการเมืองกับตัวเองออกไป และถือว่าเป็นกติกากลางเพื่อชาติ ซึ่งอาจจะถูกมองในแง่ว่าเข้าไปเป็นผู้ร่างกติกาเพื่อตัวเองก็ได้ แต่ตนคิดว่าเรื่องนี้สามารถอธิบายได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า เวลานี้สังคมมองว่าพรรคการเมืองเป็นผู้เล่นจะเข้าไปกำหนดกติกาให้ตนเอง นายถาวร ย้อนถามว่า แล้วไม่คิดว่าคนที่เข้าไปเป็นผู้มีประสบการณ์บ้างหรือ เพราะที่เขียนรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาทุกฉบับ สั่งห้ามไม่ให้นักการเมืองเข้าไป เมื่อนักการเมืองเข้าไปก็จะถูกปฏิเสธหรือตั้งข้อสังเกต แต่เมื่อให้คนที่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านนั้นเข้าไปยกร่างกติกา ก็ถูกอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาทุกครั้ง แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกรรมการบริหารแต่ละพรรค ซึ่งอาจจะใคร่ครวญไตร่ตรองรอบคอบเสียก่อน
“เราต้องละลายพฤติกรรมแล้วมาเริ่มต้นกันใหม่ ต้องปล่อยวาง เลิกการถือฝักฝ่าย แต่จะต้องมีการรักษากฎหมาย และกติกาไว้ด้วย คือจะต้องมีความเที่ยงตรงและซื่อตรงในหลักการของบ้านเมืองในปัจจุบัน และการกระทำในอดีตด้วย และการยกร่างกติกาที่จะนำมาใช้ในอนาคตต้องทำเพื่อชาติบ้านเมืองด้วย ไม่ให้เกิดประโยชน์กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยเฉพาะกติกาด้านการเมืองหากบิดปลายปากกานิดเดียวก็จะเกิดประโยชน์กับบางฝ่ายได้ เช่นที่มาของ ส.ส. หรือ ส.ว. หรือการแบ่งเขตเลือกตั้งต่างๆ จะเป็นประโยชน์ทางการเมืองกับบางพรรคได้ ต้องใคร่ครวญให้ดีมากๆ” นายถาวร กล่าว
เมื่อถามว่า นายนิพิฏฐ์ ได้ออกมายืนยันว่าจะไม่ส่งตัวแทนพรรคไปร่วมเป็นกรรมาธิการร่างฯ ในฐานะที่เคยเป็นแกนนำพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน หากพรรคมีมติส่งคนเข้าไปจะทำให้หลักการพรรคสั่นคลอนหรือไม่ นายถาวร กล่าวว่า ตนคิดว่าอยู่ที่การกระทำ ความคิดของแต่ละคนอาจจะต่างกัน การกระทำของแต่ละคนก็ต่างกัน แต่น ายนิพิฏฐ์ อยู่ในฐานะกรรมการบริหารพรรคที่ให้คำตอบไปแล้ว แต่ทุกอย่างต้องอยู่ที่การกระทำไม่ใช่ว่าคนนี้ชื่ออะไร หรือใส่เสื้อสีอะไร ตนเองไม่อยากทำนายว่าดีหรือไม่ดี แต่ทุกคนพรรคสามารถทำเรื่องดีหรือเสนอเรื่องดีๆ ให้กับสังคมได้
ต่อข้อถามว่า การส่งส่งเพียงพิมพ์เขียวที่พรรคทำไว้เพียงพอหรือไม่ นายถาวร กล่าวว่า ประเด็นคือถือเป็นการส่งจริงจังและจริงใจหรือไม่ หรือเป็นการชี้ประเด็นเพื่อให้ได้มาที่ตนเองต้องการหรือไม่ หรือเพียงแค่เสนอไปแล้ว เพราะการอธิบายในที่ประชุมของผู้มีอำนาจ หรือการทำความเข้าใจกับสังคมต้องยกให้บทบาทของผู้ที่กำลังแสดงเป็นหลัก ถ้าไม่ให้ความสนใจข้อเสนอดีๆ ของแต่ละฝ่ายก็อาจจะตกไปด้วยความน่าเสียดาย ตนคิดว่าเข้าไปร่วมทำหน้าที่จะเป็นประโยชน์มากกว่า