xs
xsm
sm
md
lg

"เทียนฉาย"พร้อมนั่งประธานสปช. เล็งประชาพิจารณ์รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (13 ต.ค.) สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราราษฎร ยังคงเปิดให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) รายงานตัวเป็นวันที่ 6 โดยมีผู้มารายงานตัวตลอดทั้งวัน 27 คน รวม 6 วัน มารายงานตัวแล้ว 236 คน จากทั้งหมด 250 คน ส่วนที่เหลืออีก 14 คน ยังมีโอกาสเข้ารายงานตัวได้ภายใน 2 วัน
นายเทียนฉาย กีระนันท์ อดีตอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาชิกสปช. ด้านอื่นๆ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการรายงานตัว ถึงกรณีมีกระแสข่าวว่า จะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานสปช. ว่า เป็นเพียงกระแสข่าว ไม่มีใครมาทาบทามตน แต่หากได้รับตำแหน่ง ก็พร้อมทำหน้าที่ ทั้งนี้ สปช.มีหลายเรื่องที่ต้องทำเป็นพิเศษ ขณะที่เงื่อนเวลามีไม่มาก แต่ต้องทำภารกิจให้เสร็จ โดยเฉพาะการเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ต้องแล้วเสร็จภายใน 15 วัน หลังจาก สปช.ประชุมนัดแรก
ดังนั้น ส่วนที่เสนอโดย สปช.น่าจะเสร็จก่อน จากนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี จะเสนอรายชื่อ ซึ่งประชาชน จะต้องมีส่วนสำคัญมากที่จะมีโอกาสเสนอความเห็น และสปช.ทั้ง 250 ต้องฟังเสียงประชาชนด้วย เราจะพยายามทำตรงนั้นให้มากที่สุด ตนคิดว่า เรื่องนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่ง สปช.ครั้งนี้ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่มีข้อมูลที่มีการเตรียมการปฏิรูปด้านต่างๆไว้ล่วงหน้าพอสมควร รวมทั้งมีมหาวิทยาลัย สถาบันพระปกเกล้า หรือทีมงานของคสช.ได้ศึกษาและเตรียมการไว้บ้างแล้ว ตรงนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญ เรื่องเหล่านั้นได้ฟังเสียงประชาชนมาแล้วจำนวนหนึ่งในแต่ละด้าน บางด้านที่ยังขาดอยู่ ต้องมีข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่ง สปช. 250 คน จะต้องรวมพลังให้ดี เพราะเรามีเวลาไม่มากที่จะต้องทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ เพื่อประเทศชาติ
นายเทียนฉาย กล่าวว่า ส่วนตนที่มาเป็น สปช. ตามที่ศูนย์คุณธรรมได้เสนอเข้ามา เพื่อให้ดูแลเรื่องจริยธรรม คุณธรรม และธรรมาภิบาล รวมถึงปลายเหตุคุณธรรมที่เกิดปัญหาขึ้นด้วย คือ การทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งทางศูนย์คุณธรรมได้มีการศึกษาเรื่องนี้ และเตรียมการอยู่แล้วระดับหนึ่ง
เมื่อถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรจะทำประชามติหรือไม่ นายเทียนฉาย กล่าวว่า การฟังเสียงประชาชนน่าจะเป็นประโยชน์ ส่วนจะฟังเสียงด้วยวิธีการอะไร ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ประชามติเป็นเพียงกระบวนการหนึ่ง แต่คิดว่าต้องทำประชาพิจารณ์แน่นอน ส่วนอื่นๆ ที่ต้องปฏิรูปควบคู่กันไปด้วยเป็นปัจจัยเกื้อหนุนกันเช่นเศรษฐกิจ ก็โดยตั้งเป้าที่จะทำ 2 เรื่อง คือ แก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ และความเติบโต ขณะเดียวกันเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตระบบเศรษฐกิจด้วย จะเกื้อหนุนกระบวนการทางการเมืองด้วย และประชาธิปัตย์ อาจจะไม่ได้ประโยชน์โดยตรงแต่โดยอ้อมด้วย
เมื่อถามว่า หากเป็นประธาน สปช. หนักใจต่อกรอบเวลาที่จำกัดหรือไม่ นายเทียนฉาย กล่าวว่า หนักใจพอสมควร เพราะไม่เคยทำหน้าที่นี้มาก่อน แต่มีประสบการณ์อยู่บ้าง ก็คงพอจะช่วยทำหน้าที่ไปได้ในระดับหนึ่ง และเราไม่เคยมี สปช.มาก่อน เรากำลังเจอความใหม่นี้ด้วยกัน ทั้งคนทำงานในสปช.และประชาชนทั่วไป ทุกคนมีคำถาม จะทำอะไร และทำไปถึงไหน เราคงต้องช่วยกันคิด
เมื่อถามว่าคนที่จะเป็นตำแหน่งประธาน ยกร่าง รธน. ควรจะมีตำแหน่งในสปช. ด้วยหรือไม่ นายเทียนฉาย กล่าวว่า เป็นได้ทั้งเป็นและไม่เป็น ไม่มีกติกาบังคับ เพราะต้องมีการประสานงานกันใกล้ชิด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสปช.ทั้ง 250 คน จะพิจารณาอย่างไร
การทำงานของคสช. ต้องฟังเสียงประชาชนหรือไม่ ขณะเดียวกันก็ยังคงกฎอัยการศึกด้วย นายเทียนฉาย กล่าวว่า ตนขอไม่ตอบตอนนี้เพราะ สถานการณ์ความมั่นคงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และเป็นเรื่องเทคนิคด้วยไม่ใช่เรื่องพื้นฐานปกติ ตอนนี้เราดูในกรอบของสปช. จะเดินหน้าอย่างไรในเงื่อนไขนั้น ให้ดีที่สุด

** ต้องประชาพิจารณ์รธน.

เมื่อถามว่ารูปแบบกฎหมายรัฐธรรมนูญ ควรจะเป็นอย่างไร นายเทียนฉาย กล่าวว่า ที่ตนคิดคราวๆคือ รูปแบบปกติ คือทำประชาพิจารณ์ แต่รูปแบบอื่น เช่น การเสวนาทางวิชาการฟังแต่เริ่มต้น เมื่อได้กรอบ หรือประเด็นบางอันแล้วไปฟังความเห็นอีกว่าประชาชนคิดอย่างไร น่าจะเป็นประโยชน์ต้องทำหลายขั้นตอน แต่เวลากระชับเพราะฉะนั้นทำอย่างไร เราจะทำทั้งหมดภายในกรอบเวลาได้
ต่อข้อถามว่าจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการตั้งสปช. ขึ้นมาไม่เสียของ นายเทียนฉาย กล่าวว่า หลักประกันยากมากเลย เรามีแต่ความตั้งใจ ตนคิดว่าแค่นั้นพอหรือไม่ไม่รู้ แต่เราตั้งใจ และจะใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อถามว่า สปช. ส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นายเทียนฉาย กล่าวว่า ถึงเวลานี้ต้องหยุดคิดเรื่องขั้ว เรื่องสี เพราะยังเหลือเวลาไม่มาก ที่จะทำ 2-3 เรื่องคือ 1. ฟื้นฟูสถานการณ์ที่ไม่ค่อยดีกลับขึ้นมา 2. มองไปข้างหน้า และทำให้ดีที่สุด นี่คือหน้าที่ของสปช. ออกแบบระบบ และงานชาติให้ดีที่สุด ซึ่ง สำคัญมาก
"คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ต้องมีขึ้นภายใน 15 วัน ประมาณวันที่ 4 พ.ย. ซึ่ง ในส่วน 20 คน ในสปช. น่าจะเกิดก่อน เพราะทางครม. และคสช. ก็อยากจะดูเพื่อจะเติมเร็วกว่านี้ได้ยิ่งดี คำถามมีว่า เราจะทำอย่างไรในเวลา 10 กว่าวันตรงนี้ให้เสร็จ ตามภารกิจและเรียบร้อย ดังนั้นตามกติกาปกติ ถ้าวันที่ 21 ต.ค. ได้คนที่เป็นประธาน รองประธานสปช. แล้วนำชื่อโปรดเกล้าฯ เพราะฉะนั้นจะให้ดีก็มีใครสักกลุ่มช่วยกันคิดจะเรียกกรรมาธิการ หรืออะไรก็ได้ น่าจะเป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นจะไม่มีองคาพยพ จะไปดูแลในช่วงนั้น" นายเทียนฉาย กล่าว

**สนช.คัดตัวแทนกมธ.ยกร่าง รธน.วันนี้

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (14 ต.ค.) วิปสนช.จะประชุมเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ และคัดเลือก สนช. ที่จะเป็นตัวแทนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 5 คน ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า ต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม และขยัน เนื่องจากต้องทำหน้าที่เป็นสนช.ไปพร้อมกับยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่กระทบกับองค์ประชุม สนช.

**อย่าทิ้งหลักถ่วงดุล 3 อำนาจหลัก

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สมาชิก สปช. ระบุว่าการปฏิรูปไม่จำเป็นต้องเริ่มที่ศูนย์ โดยนำผลการวิจัยของสถาบันพระปกเกล้ามาใช้ได้เลยว่า ตนเห็นด้วยที่ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ และควรแก้ในบางจุด บางเรื่องที่มีปัญหาเท่านั้น โดยต้องดูว่ารัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดคือฉบับใด และสาเหตุของการปฏิวัติรัฐประหาร เกิดจากอะไร สำหรับตนเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 50 ดีที่สุด เพราะตรวจสอบฝ่ายการเมืองเข้มข้น แต่รัฐบาลที่ผ่านมา กลับไม่ยอมรับคำวินิจฉัยในการตรวจสอบถ่วงดุลของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้กระบวนการยุติธรรมเดินต่อไม่ได้ ฝ่ายตุลาการไร้พลัง มีทั้งปิดล้อมศาล ข่มขู่ตุลาการ จึงขอให้นายบวรศักดิ์ คิดถึงความจริงที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง หากมุ่งจะสร้างรัฐบาลให้เข้มแข็ง โดยละเลยหลักการถ่วงดุลของ 3 อำนาจ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ แล้ว ก็เหมือนการเดินหน้าสู่เดดล็อกทางการเมืองอีกครั้ง แต่ควรสร้างระบบตรวจสอบให้ยืดหยุ่น ถ่วงดุลใน 3 อำนาจ ไม่ใช่นัดแนะ หลิ่วตา สมคบคิดเช่นที่ผ่านมา จึงขอให้สปช. ดูข้อบกพร่องของพฤติกรรมการเมืองในอดีตด้วย
"ผมขอเตือน สปช. บางคนว่า อย่าปากไว เพราะเริ่มมีบางคนโยนหินถามทาง เสนอให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงจากประชาชน อ้างว่า เพราะต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็ง แต่ลืมคิดไปหรือไม่ว่า ถ้าเลือกตั้งนายกฯโดยตรง ก็ไม่ต่างจากระบบกึ่งประธานาธิบดี เพราะการปกครองระบบรัฐสภาโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ต้องเลือกนายกฯ ที่มาจากส.ส.ในสภาฯ มีเพียง 4-5 ชาติในโลก ที่ใช้ระบบรัฐสภา และเลือกนายกฯโดยตรงจากการเลือกตั้ง แต่ชาติเหล่านั้นก็ไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข ดังนั้น อย่าปากไว อย่าพยายามให้ไทยเป็นหนูทดลองชาติแรกในโลกที่จะรวมข้อดี ต่างๆ แต่ไม่ดูข้อเท็จจริง อย่ายัดเยียดโดยการเปลี่ยนแปลง เพราะการพูดขายความคิดใดๆไปก่อนเช่นนี้ จะยิ่งทำลายศรัทธาความเชื่อมั่นใน สปช." นายนิพิฏฐ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น