ตัวเต็งประธาน สปช.รับยังไม่ถูกทาบ แต่พร้อมทำหน้าที่ ขอสมาชิกรวมพลัง รับหนักใจเวลาจำกัด เผยถูกเสนอมาดูจริยธรรม คอร์รัปชัน ชี้ รธน.ใหม่ควรฟัง ปชช.ต้องประชาพิจารณ์ แจงกติกาไม่บังคับ ปธ.ยกร่างฯ ต้องเป็น-ไม่เป็น สนช. ปัดตอบปมคงอัยการศึก รับ สปช.ไร้หลักประกันจะไม่เสียของ ขอหยุดแบ่งฝ่าย คาด 4 พ.ย.ต้องได้ กมธ.ยกร่าง
วันนี้ (13 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศการเข้าแสดงตนของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราราษฎร ยังคงเปิดให้สมาชิก สปช.เข้ารายงานตัวเป็นวันที่ 6 ที่บริเวณห้องโถง อาคารรัฐสภา 1 โดยในช่วงเช้ามีสมาชิกทยอยแสดงตน เช่น นายมีชัย วีระไวทยะ นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ นายประทวน สุทธิอำนวยเดช นายเทียนฉาย กีระนันทน์
ทั้งนี้ นายเทียนฉายกล่าวถึงกรณีกระแสข่าวว่าจะดำรงตำแหน่งประธาน สปช.ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงกระแสข่าว ไม่มีใครมาทาบทามตน แต่หากได้รับตำแหน่งก็พร้อมทำหน้าที่ ทั้งนี้ สปช.มีหลายเรื่องที่ต้องทำเป็นพิเศษ ขณะที่เงื่อนเวลามีไม่มาก แต่ต้องทำภารกิจให้เสร็จ โดยเฉพาะการเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าต้องแล้วเสร็จภายใน 15 วัน หลังจาก สปช.ประชุมนัดแรก ดังนั้น ส่วนที่เสนอโดย สปช.น่าจะเสร็จก่อน จากนั้นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรีจะเสนอรายชื่อ ซึ่งประชาชนจะต้องมีส่วนสำคัญมากที่จะมีโอกาสเสนอความเห็น และ สปช.ทั้ง 250 ต้องฟังเสียงประชาชนด้วย เราจะพยายามทำตรงนั้นให้มากที่สุด ตนคิดว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องสำคัญ สปช.ครั้งนี้ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์แต่มีข้อมูลที่มีการเตรียมการปฏิรูปด้านต่างๆ ไว้ล่วงหน้าพอสมควร รวมทั้งมีมหาวิทยาลัย สถาบันพระปกเกล้า หรือทีมงานของ คสช.ก่อนหน้านี้ศึกษาและเตรียมการไว้ ตรงนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญ เรื่องเหล่านั้นได้ฟังเสียงประชาชนมาแล้วจำนวนหนึ่งในแต่ละด้าน บางด้านที่ยังขาดอยู่ต้องมีข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่ง สปช.250 คงจะต้องรวมพลังให้ดีเพราะเรามีเวลาไม่มากที่จะต้องทำภารกิจนี้ให้สำเร็จเพื่อประเทศชาติ
นายเทียนฉายกล่าวว่า ส่วนตนศูนย์คุณธรรมได้เสนอเข้ามาเพื่อให้ดูแลเรื่องจริยธรรม คุณธรรมและธรรมาภิบาล รวมถึงปลายเหตุคุณธรรมที่เกิดปัญหาขึ้นด้วย คือการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งทางศูนย์คุณธรรมได้มีการศึกษาเรื่องนี้และเตรียมการอยู่แล้วระดับหนึ่ง
เมื่อถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะทำประชามติหรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่า การฟังเสียงประชาชนน่าจะเป็นประโยชน์ ส่วนจะฟังเสียงด้วยวิธีการอะไรขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ประชามติเป็นเพียงกระบวนการหนึ่งแต่คิดว่าต้องทำประชาพิจารณ์แน่นอน ส่วนอื่นๆ ที่ต้องปฏิรูปควบคู่กันไปด้วยเป็นปัจจัยเกื้อหนุนกัน เช่น เศรษฐกิจก็โดยตั้งเป้าที่จะทำ 2 เรื่อง คือ แก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ และความเติบโต ขณะเดียวกัน ได้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตระบบเศรษฐกิจด้วยจะเกื้อหนุนกระบวนการทางการเมืองด้วย และประชาธิปไตย อาจจะไม่ได้ประโยชน์โดยตรงแต่โดยอ้อมด้วย
เมื่อถามว่าหากเป็นประธาน สปช.หนักใจต่อกรอบเวลาที่จำกัดหรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่า หนักใจพอสมควรเพราะไม่เคยทำหน้าที่นี้มาก่อน แต่มีประสบการณ์อยู่บ้างก็คงพอจะช่วยทำหน้าที่ไปได้ในระดับหนึ่ง และเราไม่เคยมี สปช.มาก่อน เรากำลังเจอความใหม่นี้ด้วยกัน ทั้งคนทำงานใน สปช.และประชาชนทั่วไป ทุกคนมีคำถามจะทำอะไรและทำไปถึงไหน เราคงต้องช่วยกันคิด เมื่อถามว่าคนที่จะเป็นตำแหน่งประธานยกร่างควรจะมีตำแหน่งใน สปช.ด้วยหรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่า เป็นได้ทั้งเป็นและไม่เป็น ไม่มีกติกาบังคับ เพราะต้องมีการประสานงานกันใกล้ชิด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ สปช.ทั้ง 250 คนจะพิจารณาอย่างไร
ถามว่าการทำงานของ คสช.ต้องฟังเสียงประชาชนหรือไม่ขณะเดียวกันก็ยังคงกฎอัยการศึกด้วย นายเทียนฉายกล่าวว่า ตนขอไม่ตอบตอนนี้เพราะสถานการณ์ความมั่นคงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและเป็นเรื่องเทคนิคด้วย ไม่ใช่เรื่องพื้นฐานปกติ ตอนนี้เราดูในกรอบของ สปช.จะเดินหน้าอย่างไรในเงื่อนไขนั้นให้ดีที่สุด
เมื่อถามว่ารูปแบบกฎหมายรัฐธรรมนูญควรจะเป็นอย่างไร นายเทียนฉายกล่าวว่า ที่ตนคิดคร่าวๆ คือ รูปแบบปกติคือทำประชาพิจารณ์ แต่รูปแบบอื่นเช่นการเสวนาทางวิชาการฟังแต่เริ่มต้น เมื่อได้กรอบหรือประเด็นบางอันแล้วไปฟังความเห็นอีกว่าประชาชนคิดอย่างไร น่าจะเป็นประโยชน์ต้องทำหลายขั้นตอน แต่เวลากระชับเพราะฉะนั้นทำอย่างไรเราจะทั้งหมดภายในกรอบเวลาได้
ต่อข้อถามว่าจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการตั้ง สปช.ขึ้นมาไม่เสียของ นายเทียนฉายกล่าวว่า หลักประกันยากมากเลย เรามีแต่ความตั้งใจ ตนคิดว่าแค่นั้นพอหรือไม่ไม่รู้ แต่เราตั้งใจ และจะใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อถามว่า สปช.ส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นายเทียนฉายกล่าวว่า ถึงเวลานี้ต้องหยุดคิดเรื่องขั้วเรื่องสี เพราะยังเหลือเวลาไม่มากที่จะทำ 2-3 เรื่อง คือ 1. ฟื้นฟูสถานการณ์ที่ไม่ค่อยดีกลับขึ้นมา 2. มองไปข้างหน้าและทำให้ดีที่สุด นี่คือหน้าที่ของ สปช. ออกแบบระบบและงานชาติให้ดีที่สุดซึ่งสำคัญมาก
“คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญต้องมีขึ้นภายใน 15 วันประมาณวันที่ 4 พ.ย. ในส่วน 20 คนใน สปช.น่าจะเกิดก่อน เพราะทาง ครม.และคสช.ก็อยากจะดูเพื่อจะเติมเร็วกว่านี้ได้ยิ่งดี คำถามมีว่าเราจะทำอย่างไรในเวลา 10 กว่าวันตรงนี้ให้เสร็จตามภารกิจและเรียบร้อย ดังนั้นตามกติกาปกติถ้าวันที่ 21 ต.ค.ได้คนที่เป็นประธาน รองประธาน สปช.แล้วนำชื่อทูลเกล้าฯ ถวาย เพราะฉะนั้นจะให้ดีก็มีใครสักกลุ่มช่วยกันคิดจะเรียกกรรมาธิการหรืออะไรก็ได้น่าจะเป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นจะไม่มีองคาพยพจะไปดูแลในช่วงนั้น”