xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.ขอปรับโครงสร้าง 3 รูปแบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกมล  รอดคล้าย
สพฐ. ชงไอเดียขอปรับโครงสร้างด้วย “กมล” เผยองค์กรครูชงข้อมูลให้ในฐานะ สปช. การศึกษา เพื่อพิจารณาจัดระเบียบ สพฐ. ใหม่ 3 รูปแบบ ขณะที่ “สมพงษ์” แนะจัดประชาพิจารณ์เปิดโอกาสให้สังคมร่วมแสดงความเห็น ฟาก ทปอ.เผยจะนำประเด็นแยก สกอ.มาเป็นกระทรวงอุดมฯ เข้าหารือในวันที่ 26 ต.ค. นี้

วันนี้ (10 ต.ค.) นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีแนวคิดจะปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ใหม่ โดยต้องการให้แยกสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ออกไปเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งไม่รวมกับ ศธ.นั้น เรื่องนี้ รมว.ศึกษาธิการ มองว่าโครงสร้างงานด้านการศึกษาจะใช้ทิศทางประเทศเป็นที่ตั้ง

ทั้งนี้ ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นั้น รมว.ศึกษาธิการ ไม่ได้สั่งให้ดำเนินการอะไร แต่ในฐานะที่ตนอยู่ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการศึกษา ก็ได้รับเรื่องจากหน่วยงานต่างๆเข้ามาพิจารณาอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้ก็มีข้อเสนอจากองค์กรครูและองค์กรบริหารงานด้านการศึกษา ได้เสนอขอให้ปรับโครงสร้างของ สพฐ.เข้ามาเช่นกัน โดยมีข้อเสนอ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. เสนอให้ สพฐ. แยกออกเป็น 3 กรม คือ กรมประถมศึกษา กรมมัธยมศึกษา และกรมวิชาการ ภายใต้การกำกับของ ศธ.แต่ไม่ต้องมีผู้บริหารระดับ 11 กำกับดูแล 2. เสนอตั้งทบวงการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีระดับ 11 กำกับและมีกรมประถมศึกษา, กรมมัธยม และกรมวิชาการ มีผู้บริหารระดับอธิบดี 3 คน และสุดท้าย ขอให้ตั้งเป็น ทบวงการศึกษาขั้นพื้นฐาน แยกออกมาและกำหนดโครงสร้างบริหารจัดการภายในใหม่ อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอให้ขยายสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ครบทั้ง 77 จังหวัดด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ รมว.ศึกษาธิการ จะไม่เสนอให้ สพฐ. ไปวิเคราะห์การปรับโครงสร้าง ศธ. แต่เมื่อมีข้อเสนอในลักษณะนี้ สพฐ. ก็จะต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมากลั่นกรองข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้ด้วยว่าจะดำเนินการอย่างไร

ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ข้อเสนอ ของ พล.ร.อ.ณรงค์ เป็นข้อเสนอที่แรง ทำให้ ศธ. เกิดแรงกระตุก ซึ่งน่าสนใจและเป็นความคิดที่ไกลกว่านักการศึกษาเคยเสนอไว้ ที่ผ่านมาการรวม สกศ. และทบวงมหาวิทยาลัยเข้ามาอยู่ใน ศธ. ก็เพื่อความเป็นเอกภาพด้านนโยบาย แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าไม่สำเร็จ เนื่องจาก ศธ. ให้ความสำคัญกับงานการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา จะเห็นได้ว่า สกศ. และ สกอ. เกือบจะไม่ได้รับความสำคัญ หรือกลายเป็นลูกเมียน้อย โดยส่วนตัวคิดว่า หากคืน สกศ. ให้กับสำนักนายกรัฐมนตรี คน สกศ. น่าจะดีใจ ส่วน สกอ. ก็เป็นข้อเสนอของคนอุดมศึกษามานานแล้ว ส่วนข้อเสนอการแยก สอศ. และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้ ศธ. เป็นองค์กรที่เล็กลงนั้นเป็นแนวคิดที่ถูกต้อง แต่หากจะทำเรื่องโครงสร้าง ก็ต้องทำเรื่องเขตพื้นที่ คณะอนุกรรมการต่างๆ ซึ่งตนเป็นห่วงว่าการปฏิรูปการเรียนการสอน ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของเด็กโดยตรงจะได้รับความสำคัญลดน้อยลง ทั้งนี้ ศธ. ควรจัดประชาพิจารณ์ให้ทุกฝ่ายร่วมกันให้ความคิดเห็น เมื่อ พล.ร.อ.ณรงค์ กล้าที่จะโยนประเด็นแรงๆออกมา ก็ต้องให้สังคมทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมแสดงความเห็น ด้วย

ขณะที่ รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ในฐานะรักษาการประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการประชุม ทปอ. วันที่ 26 ต.ค. นี้ ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทาง ทปอ. จะได้หารือเรื่องนี้เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่า ควรแยก สกอ. จาก ศธ. ออกไปเป็นทบวงหรือกระทรวงอุดมและวิจัย เพราะเป็นเรื่องดีที่ รมว.ศธ. เปิดทางให้แล้ว ถือเป็นแนวโน้มที่ดีที่เราต้องรีบทำข้อสรุปเพื่อเสนอโดยเร็ว ที่ผ่านมา ทปอ. เรียกร้องมาตลอดให้มีการแยก สกอ. ออกจาก ศธ. เพราะ ศธ. ดูแลการศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาเอก เป็นเรื่องที่หนักมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อแยก สกอ. ออกมาแล้ว จะต้องทำเกิดความเชื่อมโยงระหว่างการศึกษาในแต่ละระดับให้มากขึ้น

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น