ผศ.ดร.โกวิทย์ พิมพวง
อีเมล์ fhumkwp@ku.ac.th โทร. 0879905841
หลังจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและติดต่อประสานงานที่อยู่ในขอบข่ายความสนใจร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกทั้งหมด 27 แห่ง ได้มีมติปรับการเปิด-ปิดเทอมเพื่อให้สอดคล้องกับอาเซียน (ASEAN) และสากล จึงส่งผลให้มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งหมด 80 กว่าแห่งปรับตามไปด้วย “เทอมแรก ส.ค.-ธ.ค. (เดิม มิ.ย.-ต.ค.)” และ “เทอมสอง ม.ค.-พ.ค. (เดิม พ.ย.-มี.ค.)” ได้ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2557 ในขณะที่สถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษาที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการเดียวกันกับมหาวิทยาลัย ยังคงเปิด-ปิดเทอมตามเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
ประเด็นร้อนตอนนี้คือมีหลายภาคส่วนออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการเปิด-ปิดเทอมดังกล่าว อาทิ ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทยหรือ ทปสท. และสมาพันธ์ผู้นำนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ออกแถลงการณ์สวนทางกับมติของ ทปอ. สรุปชัดๆ คือไม่เห็นด้วยกับทาง ทปอ. โดยให้เหตุผลสุดคลาสสิคคือ “เข้ากันไม่ได้กับวิถีชีวิตสังคมไทย” พร้อมขอเปิด-ปิดเทอมตามแบบเดิม แม้ว่าเร็วๆ นี้ ทปอ. ก็ได้ออกมายืนยันเช่นกันว่า “จะไม่ทบทวนการเปิด-ปิดเทอมตามอาเซียน” เนื่องจาก “ได้ผ่านการทบทวนมาหลายรอบแล้ว” สรุปคือ ไม่เห็นด้วยเช่นกันกับท่าทีของภาคส่วนต่างๆ ที่ออกแรงต้าน ที่แน่ๆ คือ “เกิดความเห็นไม่ลงรอยกัน” ในเรื่องเปิดๆ ปิดๆ เทอม ในวงการศึกษา “ระดับอุดมศึกษา” แล้ว ถ้ามองเผินๆ ก็เป็นเรื่องไม่น่าคิดอะไร เพราะแค่การเปิด-ปิดเทอมเท่านั้นเอง แต่ที่ต้องคิดเพราะเกี่ยวข้องกับผู้อยู่ในวงการอุดมศึกษาโดยตรง จะเป็น “โอกาสทอง” หรือจะกลายเป็น “วิกฤตซ้ำ” ที่ส่งผลต่อ “คุณภาพการศึกษาไทย” ซึ่งกำลัง “ตีฆ้องร้องป่าว” การปฏิรูปอยู่ในขณะนี้หรือไม่ ประเด็นนี้น่าสนใจมาก
การเปิด-ปิดเทอมจะเป็น “วิกฤตหรือโอกาส” “ใครได้หรือใครเสียประโยชน์” และ “ความจริงเป็นอย่างไร” จึงอยากนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงของทั้งสองฝ่ายเพื่อประกอบการประเมินว่า ท้ายที่สุดแล้วการเปิด-ปิดเทอมดังกล่าว “เป็นวิกฤต” หรือ “เป็นโอกาส” แล้วค่อยนำไปชั่งน้ำหนักเพื่อพิจารณาตัดสินใจต่อไป
การเปิด-ปิดเทอมตามอาเซียนตาม “ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย” หรือ ทปสท.และภาคส่วนอื่นๆ อาทิ “สมาพันธ์ผู้นำนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏ” ที่ออกโรงต้าน โต้ไม่เห็นด้วยเนื่องจากเห็นเป็นวิกฤตของอุดมศึกษาไทย เพราะ (1) เทอมสอง (แบบใหม่) คาบเกี่ยวกับฤดูร้อน (Summer) ยิ่งเดือน เม.ย. มีวันหยุดหลายวัน อาจส่งผลให้เสียประโยชน์ต่อการเรียนการสอนที่ไม่มีประสิทธิภาพได้ กรณีมีวันหยุดหลายวันนั้น ถ้าบริหารจัดการไม่ดี ก็อาจกระทบได้ แต่เห็นไม่ค่อยสมกับการสื่อทำนองว่า “อากาศร้อนแล้วทำให้เรียนไม่มีประสิทธิภาพ” เพราะ “บัณฑิต (เมื่อเรียน) ย่อมไม่บ่นว่า ร้อนนักหรือ หนาวนัก” ไม่ควรโทษดินฟ้าอากาศ (2) ช่วงเดือน เม.ย. อาจทำให้นักศึกษาและบุคลากรเสียประโยชน์โดยไม่อาจเข้าร่วมกิจกรรมวันสำคัญได้ อาทิ วันสงกรานต์ ความจริงข้อนี้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ในการเข้าร่วมกิจกรรมเพราะช่วงดังกล่าวเป็นวันหยุดราชการอยู่แล้ว (3) นักศึกษาจบการศึกษาไม่ทันช่วงฤดูรับสมัครงาน ทำให้เสียโอกาส ประเด็นนี้อาจกล่าวได้ไม่ชัดเจน เพราะการสมัครงานนั้นสามารถทำได้ตลอดเวลา แต่ถ้าเป็นวิกฤตด้านการเกณฑ์ทหารในรอบปีที่ยังอยู่ในช่วงเทอมที่สอง หากนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายขอผ่อนผันต่อโดยไม่ไปเข้ารับการคัดเลือกเกณฑ์ทหาร อาจมีปัญหาการสมัครงาน เนื่องจากไม่มีใบรับรองการผ่านการเกณฑ์ทหาร (สด.9) แต่ถ้านักศึกษาเสี่ยงไปเข้ารับการคัดเลือกเกณฑ์ทหาร หากได้รับการคัดเลือกก็จะยิ่งมีปัญหาและเสียประโยชน์ไปอีกเพราะยังเรียนไม่จบ ความข้อนี้เป็นข้อเท็จจริงและเกิดผลกระทบโดยตรงกับนักศึกษามาแล้ว (4) เกิดความไม่ต่อเนื่องระหว่างอุดมศึกษากับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เนื่องจากการเปิด-ปิดเทอมไม่สอดรับกัน อาทิ การฝึกสอนของนักศึกษาคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ประเด็นนี้นับว่าเป็นปัญหาเชิงประจักษ์ในปัจจุบันเลยทีเดียว ส่วนที่ว่านักเรียนที่จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะเสียเวลาในการ “รอเรียน” ชั้นปีที่ 1 ในมหาวิทยาลัยนานหลายเดือนนั้น “นานาจิตตัง” อาจมองคนละมุม แต่ถ้ามองแบบ “พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส” ได้ ถือว่าเยี่ยม เพราะนักเรียนจะได้เตรียมความรู้เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยตามที่ตนเอง “เลือกแนวทางวางอนาคต” ในช่วงเวลาดังกล่าวได้อย่างรอบครอบ (5) เสียประโยชน์ด้านทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้นโดยใช่เหตุ อันนี้ชัดเจนเนื่องจากเทอมสองคาบเกี่ยวกับฤดูร้อน จึงส่งผลให้ต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสิ่งที่ตามมาคือ “ค่าน้ำ” และ “ค่าไฟ” ที่สูงขึ้น (6) เกิดปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิต “เนื่องจากอากาศร้อนจัด” ประเด็นนี้อาจยังไม่ชัดเจน เพราะถ้าจะเกิดปัญหาเหล่านี้ ก็สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่เลือกฤดูกาลว่า เป็นฤดูร้อนเพียงอย่างเดียว (7) เกิดปัญหาและเสียประโยชน์ด้านการแลกเปลี่ยนอาจารย์ไทยกับต่างประเทศเนื่องจากต่างมีภาระการสอนตรงกัน ความจริงข้อนี้ถ้าว่าไปแล้วย่อมเป็นผลดีเสียด้วยซ้ำ เพราะถ้าตรงกัน จะได้ร่วมมือกันได้โดยง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น (8) เปิดเทอม (แรก) ตรงกับช่วงปลายปีงบประมาณซึ่งงบประมาณได้ใช้ไปเกือบหมดแล้ว ความข้อนี้ยังไม่ชัด ความจริงคือแต่ละมหาวิทยาลัยย่อมมีแผนบริหารจัดการงบประมาณแต่ละปีอยู่แล้ว แต่อาจมีปัญหาได้เฉพาะมหาวิทยาลัยที่ขาดวินัยทางการใช้งบประมาณ และ (9) เสียประโยชน์ต่อการประเมินความดีความชอบของอาจารย์/บุคลากร (รอบแรก ต.ค.-มี.ค. รอบสอง เม.ย.-ก.ย.) เพราะตรงกับช่วงปิดเทอม ข้อนี้ไม่เป็นปัญหา เพราะอาจารย์/บุคลากรมหาวิทยาลัยทำงานทุกวัน (ยกเว้นวันหยุด) ไม่มีปิดเทอมและส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยจะพิจารณาให้ “ความดีความชอบ” โดยพิจารณารายปี (กันยายน-ตุลาคม)
ส่วนการเปิด-ปิดเทอมตามอาเซียนในทรรศนะของ ทปอ. ซึ่งได้ยืนยันว่า “เป็นโอกาสที่ดี” โดยให้เหตุผลสนับสนุนว่า (1) สอดคล้องกับประเทศ “ผู้นำทางการศึกษาสากล” อาทิ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ความข้อนี้เป็นข้อเท็จจริงโดยหลักการ แต่อาจไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของสังคมไทยโดยเฉพาะการเรียนการสอนในฤดูร้อน ส่วนกรณีที่บอกว่า สอดรับกับการเปิด-ปิดเทอมของกลุ่มประเทศอาเซียนที่เปิดในช่วง ส.ค.และ ก.ย. นั้นข้อมูลนี้ไม่ชัดเจน เพราะในอาเซียนเอง ก็ยัง “เปิดเทอมลักลั่นกันอยู่” แต่จะเป็นโอกาสและประโยชน์โดยตรงแก่นิสิต บุคลากรและมหาวิทยาลัย (2) สะดวกและเป็นประโยชน์เรื่องการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษากับนานาชาติ ข้อนี้นับว่าเป็นโอกาสด้านวิชาการ วัฒนธรรม และกิจกรรมอื่นๆ ทั้งนี้ นิสิตและบุคลากรได้รับประโยชน์โดยตรง (3) สะดวกในการรับนักศึกษาต่างชาติหรือนักเรียนไทยที่จบจากโรงเรียนนานาชาติเพื่อเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยไทยเพราะเทอมตรงกัน นับว่าเป็นโอกาสที่ดีและเป็นประโยชน์โดยตรงกับมหาวิทยาลัยไทยที่จะได้นักศึกษาระดับนาชาติเพิ่มขึ้น (4) ลดปัญหาจราจรช่วงฤดูฝนและลดการเจ็บป่วยของโรคที่มาพร้อมฤดูฝน ส่งผลให้นักศึกษาขาดเรียนน้อยลง ประโยชน์ข้อนี้ชัดเจนมาก แม้ว่าจะเป็นจุดเล็กๆ ก็ตาม โดยเฉพาะจราจรมีความคล่องตัวมากกว่าเดิมเนื่องจากเปิด-ปิดเทอมไม่ตรงกันกับนักเรียน ส่วนประเด็นลดปัญหาโรคที่มาพร้อมฤดูฝนนั้น อาจยังไม่ชัดเจน แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องทีดีซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียนและการศึกษา และ (5) เป็นโอกาสและเป็นประโยชน์ที่ดีต่อนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 และประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือ ปวช. ปีที่ 3 ที่จะสำเร็จการศึกษาในเดือน เม.ย.จะได้มีเวลาศึกษาเล่าเรียน “เต็มหลักสูตร” ข้อนี้นับว่าเป็นการดีเพราะนักเรียนจะได้ไม่ต้อง “ห่วงหน้าพะวงหลัง” ทั้งเรื่อง “การเรียนในโรงเรียน” และ “การสอบเข้ามหาวิทยาลัย” หลังจากนั้นนักเรียนจะได้มีเวลา “เลือกแนวทางวางอนาคต” ตนเองเพื่อสมัครเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยก็จะได้มีเวลาเตรียมความพร้อมเพื่อปรับพื้นฐานนักศึกษาก่อนเปิดเทอมแรก
จากทรรศนะต่อการเปิด-ปิดเทอมของผู้เกี่ยวข้องกับอุดมศึกษาทั้งสองฝ่าย ประกอบกับการวิเคราะห์ “วิกฤต-โอกาส” และ “ใครได้-ใครเสียประโยชน์” ดังกล่าวแล้ว ทำให้สรุปภาพรวมได้ว่า การเปิด-ปิดตามมติของ ทปอ. จะส่งผลดีต่อเป้าหมายหลักคือนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 และประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือ ปวช. ปีที่ 3 ที่จะได้มีเวลา “เรียนเต็มหลักสูตร” ในโรงเรียนแล้วยังมีเวลาเหลือเพื่อ “เลือกแนวทางวางอนาคต” ของนักเรียนกับการเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย พร้อมกันนี้ ยังเป็นประโยชน์ต่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่าคือ “การเข้าสู่ระบบการศึกษาสากล” ที่มิใช่แค่อาเซียน ซึ่งมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ การศึกษาและแลกเปลี่ยนนักศึกษาหรือบุคลากรในระดับนานาชาติ อีกทั้ง ยังสะดวกเรื่องความร่วมมือกับต่างประเทศในด้านต่างๆ หรือแม้แต่จุดเล็กๆ ที่ไม่ควรมองข้าม แต่มีผลต่อจิตใจมากคือ “ทำให้จราจรในเมืองติดขัดน้อยลง” กระนั้น ก็มีบ้างที่ส่งผลกระทบเมื่อเปิด-ปิดเทอมตามอาเซียน อาทิ สภาพอากาศช่วงเดือน เม.ย. ที่ร้อนจัด มีวันหยุดหลายวัน อาจกระทบต่อการเรียนการสอนได้ (ถ้าจัดการไม่ดี) รวมทั้งประเด็นปลีกย่อยอื่นๆ อีกมาก แต่เมื่อพิจารณาแล้วถือว่า “เป็นเรื่องที่สามารถบริหารจัดการได้” ถ้าต้องเทียบกับความสูญเสียต่อการเข้าสู่ระบบการศึกษาสากลและอาเซียน รวมทั้งประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นโดยตรงกับนักเรียน นักศึกษา อาจารย์และบุคลากรในมหาวิทยาลัยไทย
ดังนั้น เมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้ว การเปิด-ปิดเทอมตามอาเซียนตามมติ ทปอ. นอกจากจะเข้าทำนองมองเพื่อ “พลิกโอกาส” คือ “มองทุกเรื่องให้เป็นโอกาส ไม่มองให้เป็นปัญหาหรือวิกฤต” แล้ว นักเรียน นักศึกษา อาจารย์และบุคลากรในมหาวิทยาลัยโดยมากจะได้รับประโยชน์เชิงประจักษ์ในยุคที่ใครๆ ก็ต้องการการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า ถึงกระนั้น ก็อย่าลืมคิดด้วยว่า “การทำการใหญ่ ใจต้องนิ่ง” แล้วค่อยดำเนินการอย่าง “ค่อยเป็นค่อยไป” ยิ่งถ้าทำแบบ “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น” ได้ ย่อมจะเป็นการดี ทั้งนี้ เพื่อให้กระทบต่อ “ความเป็นอยู่” และ “ความเป็นไป” ของวิถีชีวิตสังคมไทย “น้อยที่สุด”