xs
xsm
sm
md
lg

นิด้าโพล ระบุผลสำรวจเห็นด้วยเปิด-ปิด ภาคเรียนตามสากล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นิด้าโพล เผยผลสำรวจ พบร้อยละ 22.69 เห็นด้วยกับเปิด - ปิดภาคเรียนตามสากล และอาเซียน ระบุเด็ก ม.6 มีเวลาอ่านหนังสือ แลกเปลี่ยนอาจารย์

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ผลการเปิด - ปิ ด ภาคเรียนตามสากลและอาเซียน” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24 - 25 มีนาคม 2559 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปี ขึ้นไป ในระดับการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวศึกษา และนิสิตนักศึกษา รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,159 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการเปิด - ปิด ภาคเรียนตามสากลและอาเซียน ของสถาบันอุดมศึกษาไทยในช่วงเกือบ 2 ปีการศึกษาที่ผ่านมา คือ การเปิด - ปิด ภาคเรียนตามสากลและอาเซียน ของสถาบันอุดมศึกษาไทยในปัจจุบัน คือ ภาคเรียนที่ 1 เปิดเดือนสิงหาคม - ธันวาคม (จากเดิมเดือน มิถุนายน - ตุลาคม) ภาคเรียนที่ 2 เปิดเดือนมกราคม - พฤษภาคม (จากเดิม เดือนพฤศจิกายน - มีนาคม) และการเปิด - ปิด ภาคเรียนของโรงเรียนระดับประถมและมัธยมยังคงเป็นแบบเดิม คือ ภาคเรียนที่ 1 เริ่มประมาณเดือนพฤษภาคม - กันยายน ภาคเรียนที่ 2 เริ่มประมาณเดือนพฤศจิกายน - มีนาคม

การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภาคสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่า ความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 0.02

จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการเปิด-ปิด ภาคเรียนตามสากลและอาเซียน ของสถาบันอุดมศึกษาไทยในช่วงเกือบ 2 ปีการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า ประชาชน ร้อยละ 22.69 ระบุว่า มีความเหมาะสมมาก ร้อยละ 26.06 ระบุว่า ค่อนข้างมีความเหมาะสม ร้อยละ 23.81 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความเหมาะสม ร้อยละ 13.03 ระบุว่า ไม่มีความเหมาะสมเลย ร้อยละ 10.61 ระบุว่า ไม่รู้สึกอะไรเลย และร้อยละ 0.69 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ มีทั้งข้อดีและข้อเสียขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน

เมื่อถามถึงเหตุผลของประชาชนที่ระบุว่า การเปิด - ปิด ภาคเรียนตามสากลและอาเซียน ของสถาบันอุดมศึกษาไทย มีความเหมาะสมมากและค่อนข้างมีความเหมาะสม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 33.10 ระบุว่า มีความเป็นสากล รองลงมา ร้อยละ 30.80 ระบุว่า เด็ก ม.6 มีเวลามากขึ้นเพื่ออ่านหนังสือสอบแอดมิชชัน และเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย ร้อยละ 19.65 ระบุว่า การแลกเปลี่ยนคณาจารย์หรือนักศึกษาระหว่างประเทศสามารถทำได้ง่าย ร้อยละ 15.22 ระบุว่า นักเรียนที่เพิ่งจบ ม.6 สามารถใช้ช่วงเวลารอยต่อก่อนเปิดภาคเรียนในการหารายได้หรือช่วยผู้ปกครองทำงาน ร้อยละ 12.04 ระบุว่า เอื้ออำนวยต่อการจัดกิจกรรมและการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการศึกษา กีฬาและวัฒนธรรม ร้อยละ 7.79 ระบุว่า เหมาะกับนิสิต - นักศึกษาที่ต้องการจะไปศึกษาต่อต่างประเทศ ร้อยละ 3.72 ระบุว่า กิจกรรมรับน้องสามารถเสร็จสิ้นก่อนเปิดเทอมในเดือนสิงหาคม ร้อยละ 1.06 ระบุว่า การเหลื่อมล้ำของเวลาที่เปิด-ปิดไม่ตรงกับโรงเรียนประถมและมัธยมทำให้ปัญหาการจราจรลดลง ร้อยละ 0.88 ระบุว่า สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาฝนตกหนักน้ำท่วมในช่วงเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม ร้อยละ 0.53 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ มีเวลาว่างในระหว่างปิดภาคเรียนมากขึ้นและมีเวลาว่างทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว และร้อยละ 3.89 ไม่ทราบ/ไม่สนใจ

ขณะที่เหตุผลของประชาชนที่ระบุว่าการเปิด-ปิด ภาคเรียนตามสากลและอาเซียน ของสถาบันอุดมศึกษาไทย ไม่ค่อยมีความเหมาะสมและไม่มีความเหมาะสมเลย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.86 ระบุว่า การเรียนการสอนไม่มีประสิทธิภาพเนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศร้อนสุด (เมษายน และพฤษภาคม) รองลงมา ร้อยละ 29.51 ระบุว่า มีวันหยุดมากทำให้การเรียนการสอนขาดความต่อเนื่อง ร้อยละ 13.82 ระบุว่า การเรียนการสอนอยู่ในช่วงฤดูท่องเที่ยวของคนไทย (มีนาคม และเมษายน) ร้อยละ 13.35 ระบุว่า สิ้นเปลืองพลังงานเนื่องจากต้องเปิดเครื่องปรับอากาศในชั้นเรียนในช่วงที่อากาศร้อนสุด ร้อยละ 11.24 ระบุว่า เกิดความไม่ต่อเนื่องระหว่างอุดมศึกษากับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เนื่องจากการเปิด-ปิดภาคเรียนไม่สอดรับกัน ร้อยละ 9.60 ระบุว่า มีการเรียนการสอนในช่วงที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะเกิดพายุและน้ำท่วม (กันยายน และตุลาคม) และระยะเวลารอยต่อก่อนเข้าศึกษาต่ออุดมศึกษาที่มากขึ้นนั้น เด็กอาจจะใช้เวลาว่างเปล่าอย่างไร้ประโยชน์ ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 5.62 ระบุว่า เกิดปัญหาการทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว (เช่นท่องเที่ยว) ในกรณีที่ครอบครัวที่มีบุตรหลานเรียนอยู่ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและระดับประถมหรือมัธยม ร้อยละ 2.58 ระบุว่า ไม่ได้สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยในอาเซียนเพราะแต่ละประเทศในอาเซียนมีช่วงเวลาปิดเปิดเทอมที่หลากหลาย ร้อยละ 6.09 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ในช่วงเวลาที่ปิดเทอมนานเกินไปมีผลกับ

ผู้ที่เรียนระดับอุดมศึกษาในคณะศึกษาศาสตร์ เพราะช่วงฝึกสอนหรือทำกิจกรรมที่โรงเรียน การเปิดปิดเทอมไม่ตรงกับโรงเรียนประถม มัธยม ทำให้จบการศึกษาช้า อีกทั้งปิดเทอมนานผู้ปกครองไม่สามารถดูลูกหลานที่อยู่ที่บ้านได้ดี และไม่เหมาะสมกับประเทศไทย จึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตามประเทศเพื่อนบ้านที่ภูมิประเทศและการดำเนินชีวิตต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน และร้อยละ 0.94 ไม่ทราบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนว่ากระทรวงศึกษาธิการควรยกเลิก การเปิด - ปิด ภาคเรียนตามสากลและอาเซียนของสถาบันอุดมศึกษาหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.71 ระบุว่า ไม่ควรยกเลิก รองลงมา ร้อยละ 34.68 ระบุว่า ควรยกเลิกและกลับไปใช้ระบบเดิม ร้อยละ 25.30 ระบุว่า ยังไงก็ได้ ร้อยละ 0.20 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ อยากเปลี่ยนเป็นระบบใหม่เลยหรือเอามาผสมผสานกัน 50/50 และร้อยละ 1.11 ไม่ทราบ/ไม่สนใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 12.25 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 29.08 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 17.60 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 27.26 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.81 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 45.90 เป็นเพศชาย ร้อยละ 53.93 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.17 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่าง ร้อยละ 96.38 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 2.85 มีอายุ 26 - 35 ปี ร้อยละ 0.17 มีอายุ 36 - 45 ปี และร้อยละ 0.60 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 96.29 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 1.98 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.29 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.43 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 98.45 สถานภาพโสด ร้อยละ 1.21 สมรสแล้ว และร้อยละ 0.35 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 24.59 กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 7.77 กำลังศึกษาในระดับอาชีวศึกษา ร้อยละ 67.21 กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 0.43 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 93.53 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 2.50 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 2.07 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 - 20,000 บาท ร้อยละ 0.86 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 - 30,000 บาท ร้อยละ 0.09 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 - 40,000 บาท ร้อยละ 0.26 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 0.69 ไม่ระบุรายได้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น