xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” เซ็น ม.44 สองฉบับปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ สั่งตั้ง “ศึกษาธิการภาค-จังหวัด” - แก้ปัญหาหมักหมมในมหาวิทยาลัย เคลียร์ “มรภ.สุรินทร์-ชัยภูมิ” สองสถาบันแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“บิ๊กตู่” เซ็น ม.44 สองฉบับ สั่งแก้ไขการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค ให้ตั้ง “อนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด” แทนคำสั่งเดิมที่ให้ส่วนกลางรวบอำนาจ แต่ยังให้ “กศจ.” มีอำนาจแต่งตั้ง มี “ศึกษาธิการภาค” เป็นผู้บังคับบัญชาคุมศึกษาธิการจังหวัด พร้อมสั่งจัดระเบียบธรรมาภิบาลสถาบันอุดมศึกษา หวังแก้ปัญหาร้องเรียน-ฟ้องร้องทางคดีเผย มีผลบังคับใช้กับ “มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์” และ “มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ” โดยทันที

วันนี้ (13 ก.ค.) มีรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 2 ฉบับ ว่าด้วยเรื่องกาศึกษา โดยฉบับแรก คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 38/2559 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2559 และคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 11/2559 ดังนี้

“ตามที่มีคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐/๒๕๕๙ เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ลงวันที่ ๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ และคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๑/๒๕๕๙ เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ลงวันที่ ๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ นั้น ปรากฏว่ายังมีข้อขัดข้องในการดําเนินการจึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งดังกล่าวเพื่อให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความใน (๗) ของข้อ ๒ ของคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐/๒๕๕๙ เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ลงวันที่๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๗) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัดตามข้อ ๘”

ข้อ ๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๙) ของข้อ ๒ ของคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๑๐/๒๕๕๙ เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ลงวันที่๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙

“(๙) กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการบริหารจัดการการศึกษาในภูมิภาคเพื่อให้การดําเนินการตามคําสั่งนี้มีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความใน (๗) ของข้อ ๗ ของคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๑๐/๒๕๕๙ เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ลงวันที่๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๗) เสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคเพื่อแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัดตามข้อ ๘”

ข้อ ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๗/๑) ของข้อ ๗ ของคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่ ๑๐/๒๕๕๙ เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ลงวันที่๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙

“(๗/๑) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทํางานตามความจําเป็น โดยคํานึงถึงวงเงินงบประมาณที่ได้รับ ความคุ้มค่า และความประหยัด เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของ กศจ. ในส่วนที่มิใช่การปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัดตามข้อ ๘ วรรคหนึ่ง”

ข้อ ๕ ให้ยกเลิกความในข้อ ๘ ของคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐/๒๕๕๙ เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ลงวันที่ ๒๑ มีนาคมพุทธศักราช ๒๕๕๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ ๘ ให้ กศจ. เสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค เพื่อแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด เรียกโดยย่อว่า “อกศจ.” ทําหน้าที่ช่วยเหลือหรือกลั่นกรองงานเกี่ยวกับการบรรจุ การแต่งตั้ง การโยกย้าย การดําเนินการทางวินัย การกําหนดวิทยฐานะหรือการกําหนดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดให้แก่ กศจ.ให้ อกศจ. ตามวรรคหนึ่ง ประกอบด้วย

(๑) กรรมการใน กศจ. จํานวนหนึ่งคน เป็นประธานอนุกรรมการ
(๒) กรรมการใน กศจ. จํานวนสองคน เป็นอนุกรรมการ
(๓) ผู้อํานวยการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือผู้อํานวยการสถานศึกษาในจังหวัดนั้นจํานวนสองคน เป็นอนุกรรมการ
(๔) ผู้ทรงคุณวุฒิ จํานวนไม่เกินสามคน เป็นอนุกรรมการ
(๕) ศึกษาธิการจังหวัด เป็นอนุกรรมการและเลขานุการกรณีมีความจําเป็น กศจ. อาจเสนอแต่งตั้งข้าราชการในสํานักงานศึกษาธิการจังหวัดหรือสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดจํานวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการได้”

ข้อ ๖ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ ๓ ของคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๑๑/๒๕๕๙ เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ลงวันที่ ๒๑ มีนาคมพุทธศักราช ๒๕๕๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ ๓ ให้มีศึกษาธิการภาค เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างในสํานักงานศึกษาธิการภาค ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยอาจให้มีรองศึกษาธิการภาคเพื่อช่วยเหลืองานศึกษาธิการภาคก็ได้”

ข้อ ๗ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ ๕ ของคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๑๑/๒๕๕๙ เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ลงวันที่ ๒๑ มีนาคมพุทธศักราช ๒๕๕๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ ๕ ให้มีศึกษาธิการจังหวัด เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างในสํานักงานศึกษาธิการจังหวัด อยู่ภายใต้การกํากับดูแลของศึกษาธิการภาค โดยอาจให้มีรองศึกษาธิการจังหวัดเพื่อช่วยเหลืองานศึกษาธิการจังหวัดก็ได้”

ข้อ ๘ คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ ๑๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ”

ฉบับที่ 2 คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 39/2559 เรื่องการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา

“ตามที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า สถาบันอุดมศึกษาบางแห่งเปิดการสอนและจัดการศึกษาทั้งในและนอกสถานที่ตั้งโดยใช้หลักสูตรที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ผลิตบัณฑิตที่มีปัญหาด้านคุณภาพและไม่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ซึ่งสภาสถาบันอุดมศึกษาแห่งนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ สภาสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งอาศัยอํานาจและช่องว่างทางกฎหมายดําเนินการในลักษณะที่ส่อเจตนาแสวงหาประโยชน์ส่วนตน หรือเพื่อให้คงอยู่ในตําแหน่งต่อไป มีการกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม จนกระทั่งเกิดปัญหาร้องเรียนและฟ้องร้องทางคดีเป็นจํานวนมากทําให้เป็นอุปสรรคต่อการดําเนินการตามอํานาจหน้าที่และการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาแม้สํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้พยายามใช้กลไกทางกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันให้สถาบันอุดมศึกษาดังกล่าวแก้ไข ทบทวน หรือดําเนินการใหม่ในเรื่องต่างๆ แล้วแต่ไม่อาจทําให้ปัญหาคลี่คลายได้โดยเร็ว การดําเนินการของสถาบันอุดมศึกษาเหล่านี้จึงไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล และส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาของประเทศโดยตรง ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลและธํารงไว้ซึ่งความเป็นสถาบันทางวิชาการชั้นสูงของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง จึงจําเป็นต้องแก้ไขสถานการณ์ความไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรมของการดําเนินการของสถาบันอุดมศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพ และสร้างความมั่นใจให้แก่สังคมโดยรวมต่อไป

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ในคําสั่งนี้ “สถาบันอุดมศึกษา” หมายความว่า สถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่อยู่ในสังกัดและในกํากับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ และให้หมายความรวมถึงสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนด้วย

ข้อ ๒ ในกรณีที่ปรากฏว่าการดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษากรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษา หรืออธิการบดี ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีอํานาจยับยั้งการแต่งตั้งหรือการดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ที่จะดํารงตําแหน่งดังกล่าว

ข้อ ๓ เพื่อให้การดําเนินการของสถาบันอุดมศึกษามีประสิทธิภาพสูงสุด การแต่งตั้งบุคคลให้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาหรือกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(๑) ผู้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาจะดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาในเวลาเดียวกันเกินสามแห่งไม่ได้
(๒) ผู้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาจํานวนสองแห่งแล้ว อาจได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาหรือกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาอีกได้ไม่เกินหนึ่งแห่ง
(๓) ผู้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาจํานวนหนึ่งแห่งแล้ว อาจได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาหรือกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาอีกได้ไม่เกินสองแห่ง
(๔) ผู้ดํารงตําแหน่งกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาจํานวนสี่แห่งแล้ว ไม่อาจได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาหรือกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาในเวลาเดียวกันนั้นได้อีกผู้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาหรือกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐตามวรรคหนึ่ง ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน เบี้ยประชุม หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดนอกเหนือจากในฐานะนายกสภาสถาบันอุมศึกษาหรือกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษา จากสถาบันอุดมศึกษาแห่งนั้นเว้นแต่เป็นไปตามระเบียบหรือหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกําหนดหรือให้ความเห็นชอบความในวรรคหนึ่งและวรรคสองไม่นํามาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาหรือกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาอยู่ในวันก่อนวันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ

ข้อ ๔ ให้คณะกรรมการการอุดมศึกษารายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเมื่อปรากฏว่าสภาสถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันอุดมศึกษาแห่งใดมีกรณี ดังต่อไปนี้
(๑) จัดการศึกษาไม่เป็นไปตามมาตรฐานการอุดมศึกษาหรือมาตรฐานหลักสูตร จนอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นิสิตนักศึกษา ระบบการศึกษา สังคม หรือประเทศชาติ
(๒) จงใจ หลีกเลี่ยง หรือประวิงการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษา หรือคําสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่สั่งการตามคําสั่งนี้หรือตามกฎหมาย
(๓) นายกสภาสถาบันอุดมศึกษา กรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษา หรือผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษามีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต
(๔) ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในสถาบันอุดมศึกษาจนสภาสถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันอุดมศึกษาไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

ในการดําเนินการตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการการอุดมศึกษาอาจแต่งตั้งคณะกรรมการคณะอนุกรรมการ คณะทํางาน หรือมอบหมายบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคน ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน

ข้อ ๕ เมื่อมีกรณีตามข้อ ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยคําแนะนําของคณะกรรมการการอุดมศึกษามีอํานาจสั่งการให้สภาสถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันอุดมศึกษาแห่งนั้นยับยั้งการรับนิสิตนักศึกษา ปิดหลักสูตร ยุติการจัดการศึกษา หรือดําเนินการอื่นใด

ในการดําเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีอํานาจขอข้อมูลจากบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือสั่งให้ดําเนินการในเรื่องเกี่ยวกับการได้มาซึ่งผู้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆในสถาบันอุดมศึกษาภายในระยะเวลาที่กําหนด หรือให้ดําเนินการใด ๆ เพื่อระงับ ยับยั้ง หรือยุติเหตุที่เกิดขึ้นนั้น

ข้อ ๖ เมื่อมีกรณีตามข้อ ๔ และปรากฏว่าสภาสถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันอุดมศึกษาแห่งนั้นเป็นสภาสถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันอุดมศึกษาที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยคําแนะนําของคณะกรรมการการอุดมศึกษามีอํานาจสั่งให้สถาบันอุดมศึกษาแห่งนั้นอยู่ในความควบคุมของสํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาตามมาตรา ๘๖วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖

ข้อ ๗ ให้สภาสถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันอุดมศึกษาดําเนินการทางอาญา ทางละเมิดหรือทางวินัยแก่ผู้ซึ่งได้กระทําการให้เกิดเหตุตามข้อ ๔ ด้วย

ข้อ ๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยคําแนะนําของคณะกรรมการการอุดมศึกษากําหนดมาตรการให้สถาบันอุดมศึกษาแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่นิสิตนักศึกษาซึ่งได้รับผลกระทบจากการดําเนินการตามข้อ ๕ หรือข้อ ๖ หรืออาจสั่งหรือมอบหมายให้สถาบันอุดมศึกษาอื่นร่วมดําเนินการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายของนิสิตนักศึกษาเหล่านั้นด้วยก็ได้ในการดําเนินการตามวรรคหนึ่ง สภาสถาบันอุดมศึกษา ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา หรือบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษาที่ถูกดําเนินการตามข้อ ๕ หรือข้อ ๖ ไม่พ้นจากความรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่นิสิตนักศึกษา

ข้อ ๙ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยคําแนะนําของคณะกรรมการการอุดมศึกษามีอํานาจสั่งให้ผู้ดํารงตําแหน่งใดในสถาบันอุดมศึกษาหยุดการปฏิบัติหน้าที่ พ้นจากตําแหน่งหน้าที่หรือให้ไปปฏิบัติงานในหน่วยงานแห่งอื่น และแต่งตั้งหรือมอบหมายให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเข้าปฏิบัติหน้าที่ในตําแหน่งต่าง ๆ ในสถาบันอุดมศึกษานั้นในกรณีที่นายกสภาสถาบันอุดมศึกษาและกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาแห่งใดต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตําแหน่งหน้าที่ทั้งคณะ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาและกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาแห่งนั้นจํานวนไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินสิบห้าคน

ผู้ซึ่งถูกสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตําแหน่งหน้าที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเบี้ยประชุม สิทธิประโยชน์ หรือเงินประจําตําแหน่งในตําแหน่งนั้น

ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ในสถาบันอุดมศึกษาตามคําสั่งนี้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน เบี้ยประชุม สิทธิประโยชน์ หรือเงินประจําตําแหน่ง ตามระเบียบของทางราชการหรือตามที่สภาสถาบันอุดมศึกษากําหนด แล้วแต่กรณี

ข้อ ๑๐ ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ตามคําสั่งนี้ ที่ได้กระทําการไปตามอํานาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ ย่อมได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

ข้อ ๑๑ การแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่นิสิตนักศึกษาตามข้อ ๘ รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการดําเนินการตามคําสั่งนี้ ให้เบิกจ่ายจากสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นต้นเหตุแห่งการนั้น

ข้อ ๑๒ เมื่อคําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ ให้ดําเนินการตามคําสั่งนี้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์และมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิโดยทันทีการนําข้อ ๔ ข้อ ๕ ข้อ ๖ ข้อ ๗ ข้อ ๘ ข้อ ๙ ข้อ ๑๐ และข้อ ๑๑ มาใช้บังคับแก่สถาบันอุดมศึกษาอื่นนอกจากสถาบันอุดมศึกษาตามวรรคหนึ่ง ซึ่งกระทําผิดกฎหมายหรือมีกรณีตามข้อ ๔และการแก้ไขเยียวยาโดยมาตรการปกติไม่อาจทําได้ หรือล่าช้าจนเกิดความเสียหายต่อระบบการศึกษาหรือนิสิตนักศึกษาจํานวนมาก ให้เป็นไปตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศกําหนด

ข้อ ๑๓ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคําสั่งนี้ ให้เป็นไปตามคําวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ข้อ ๑๔ สถาบันอุดมศึกษาใดมิได้อยู่ในสังกัดหรือในกํากับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือรัฐมนตรีซึ่งกํากับดูแลหรือรักษาการตามพระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษานั้นมีอํานาจหน้าที่ดําเนินการหรือสั่งให้สถาบันอุดมศึกษานั้นปฏิบัติตามคําสั่งนี้โดยอนุโลม โดยจะขอคําแนะนําจากคณะกรรมการการอุดมศึกษาด้วยหรือไม่ก็ได้

ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคําสั่งนี้ ให้เป็นไปตามคําวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง

ข้อ ๑๕ คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ ๑๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ”



กำลังโหลดความคิดเห็น