รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ค้านใช้ระบบสองศาลตัดสินคดีอาญาทางการเมือง ระบุเป็นการถอยหลังเข้าคลอง เอื้อประโยชน์นักการเมืองทุจริต สามารถยื้อคดีได้ แถมเปิดช่องวิ่งเต้น ทำลายระบบศาล จี้ตอบคำถามสังคมระบบใหม่ดีอย่างไร กังขาประเด็นนี้เพื่อไทยเคยวิ่งเต้นแก้ไขแล้วแต่ไม่สำเร็จ ห่วง คมช.หลงทางแก้กฎหมายเข้าทางนักการเมืองขี้โกง จนถูกลดความน่าเชื่อถือ
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่จะมีการเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีสาระสำคัญคือ แก้ไขจากระบบศาลเดียวเป็นระบบสองศาลว่า ปัจจุบันเราใช้ระบบไต่สวนในคดีเลือกตั้ง หรือคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นระบบศาลเดียว ไม่ใช้วิธีการกล่าวหา และสามารถพิจารณาได้กว้างกว่า โดยศาลสามารถเรียกพยานหลักฐานมาได้เอง ไม่จำเป็นต้องคู่ความเสนอและใช้องค์คณะของผู้พิพากษาศาลฎีกา 9 คน ทำการไต่สวนเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว หากมีการแก้ไขเป็นระบบสองศาลโดยมีศาลอุทธรณ์เข้ามาจะทำให้กระบวนการพิจารณาต้องเปลี่ยนไป เพราะต้องมีระบบการกล่าวหาเกิดขึ้นและจะส่งผลให้การพิจารณามีความล่าช้า
ส่วนที่บางคนเสนอให้กำหนดระยะเวลาการพิจารณาเพื่อแก้ปัญหาความล่าช้านั้น นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า การพิจารณาคดีไม่สามารถขีดเส้นตายได้ เพราะอาจมีปัจจัยอื่นแทรกระหว่างพิจารณาคดีได้ เช่นพยานตาย ต้องสืบหาพยานใหม่ หรือถ้าไปขีดเส้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น ตำรวจ อัยการ หรือ ป.ป.ช. จะยิ่งทำให้มีปัญหาด้านความยุติธรรม เช่น มีการดึงเรื่องในช่วงแรกๆ แล้วเร่งรัดทำในช่วงใกล้กำหนดทำให้ขาดความรอบคอบ หรือดึงเรื่องไว้จนขาดอายุความอย่างที่เห็นกันหลายคดี
“ผมคิดว่าเราไม่ตกผลึกเรื่องนี้จะเป็นการถอยหลังเข้าคลองมากกว่า เพราะหากใช้วิธีการกล่าวหาคนที่ทุจริตจะชอบ เนื่องจากสามารถยืดยาวออกไปได้ หากจะให้ใช้ระบบไต่สวนอย่างเดียวก็ต้องมีการเขียนด้วยว่า ในคดีที่ฎีกาอีกชั้นจะฎีกาได้เฉพาะข้อกฎหมาย หรือข้อเท็จจริงด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายจะต้องมีการปรับระบบใหม่อีกหลายอย่างและองค์คณะผู้พิพากษาจะต้องเปลี่ยนไม่ต้องใช้ 9 คนเหมือนเดิมเพราะผ่านการกลั่นกรองมาแล้วชั้นหนึ่งจึงต้องถามคนที่มีความคิดเรื่องนี้ว่าทำไมถึงต้องการเปลี่ยนระบบจากหนึ่งศาลให้เป็นสองศาล ถ้าใช้ระบบสองศาลแล้วระบวิธีการพิจารณาจะเปลี่ยนหรือไม่ องค์คณะผู้พิพากษาเปลี่ยนหรือไม่เพราะถือเป็นผู้พิพาษาสูงสุดของประเทศแล้ว ไม่ใช่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลเด็กๆ แต่ละคนล้วนมีประสบการณ์สูง พิจารณาไม่เคยพลาดเพราะวิธีพิจารณาเปิดกว้าง”
ผู้สื่อข่าวถามว่าตั้งข้อสังเกตหรือไม่ว่าทำไมถึงมาเสนอแก้ไขในช่วงนี้ทั้งที่คดีสำคัญของนักการเมืองหลายคนๆ กำลังจะเดินเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีอาญา นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ตนก็สงสัยว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงมันคืออะไร เราต้องดูปัญหาของประเทศว่าเรามีปัญหาการทุจริตสูง จึงเป็นที่มาว่าไม่ต้องใช้ทั้ง 3 ศาลในการแก้ปัญหาทุจริต ใช้ศาลสูงศาลเดียวและเพิ่มองค์คณะผู้พิพากษาและใช้วิธีการไต่สวนเพื่อความรวดเร็ว จะสามารถแก้ปัญหาคดีทุจริตได้ จะทำให้นักการเมืองเกิดความกลัว แต่หากจะมีการแก้เป็นระบบอื่นก็ต้องตอบคำถามกับสังคมว่าระบบศาลเดียวไม่ดีอย่างไร และระบบใหม่ที่จะมีขึ้นดีกว่าอย่างไร ที่สำคัญอย่าลืมว่าเรื่องนี้พรรคเพื่อไทยเคยวิ่งเต้นให้มีการเปลี่ยนเป็นระบบสองศาลมาก่อนหน้านี้ บ่นมาตลอดว่าระบบนี้มีศาลเดียว ไม่มีโอกาสแก้ตัวโดยอ้างประเทศอื่นไม่ทำกัน
“รัฐบาลเพื่อไทยมีการคุยกันมานานแล้วแต่ผลักดันไม่สำเร็จ ไม่ทราบว่าจะมาสำเร็จเอาในสมัย คสช.หรือไม่ ผมกังวลว่า คสช.ยังใหม่กับเรื่องเหล่านี้ ไม่ตกผลึกว่าระบบนี้เกิดขึ้นด้วยหลักคิดอะไร ซึ่งหลักคิดก็คือคดีนักการเมืองต้องรวดเร็วแต่เปิดโอกาสไต่สวนโดยผู้พิพากษาอาวุโส 9 คน หากแก้เป็นระบบสองศาล จะแก้ปัญหานี้ไม่ได้เลย ดังนั้น คสช.จะต้องระวังอย่าไปเข้าทางคนเหล่านี้ มิเช่นนั้นสิ่งที่เราทำมาพังหมด ต้องเริ่มต้นใหม่หมด ผมรู้สึกกังวลว่าเกิดความคิดนี้มาได้อย่างไร แต่ก็ไม่กล้าจะพูดว่าพฤติกรรมนี้เป็นการซ่อนเร้นนิรโทษกรรมให้ใครบางคนหรือไม่ แต่ถ้าจะพูดแบบตรงไปตรงมาคือนักการเมืองในรัฐบาลชุดที่แล้วมีคดีที่กำลังจะขึ้นศาลฏีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเยอะมากซึ่งคนพวกนี้จะได้ประโยชน์จากการแก้ของ คสช. คือ 1. ระยะเวลาการพิจารณาจะยาวนานขึ้น 2. การไต่สวนจะเปิดโอกาสให้มีการเห็นหน้าเห็นตาผู้พิพากษาอาจจะมีการวิ่งเต้นได้ และ 3. หากศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาตัดสินในคดีต่างกันก็จะมีปัญหาต่อความน่าเชื่อถือของศาล ทำให้เกิดข้อถกเถียงเรื่องสองมาตรฐานทำให้ความศักดิ์ศิทธิ์ของระบบนี้ลดลง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสถาบันตุลาการของไทย”
ส่วนหากมีการแก้ไขสำเร็จจะทำให้สังคมเกิดความแตกแยกขึ้นอีกครั้งหรือไม่ นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ตนคิดว่าสังคมอาจจะยังไม่เข้าใจในระบบนี้เท่าไหร่ แต่เชื่อว่าประชาชนไม่พอใจแน่นอน เพราะเมื่อเริ่มต้นการปฏิรูปเขาต้องการให้ขจัดการทุจริต กระบวนการลงโทษต้องเร็วเด็ดขาด หากจะปรับใหม่ให้ยืดยาวไม่เด็ดขาดถือเป็นการเริ่มต้นการปฏิรูปที่ผิด คนที่มีคดีในเรื่องนี้อยู่จะได้ประโยชน์ ขณะที่ คสช.บอกว่าจะกำจัดคนทุจริต แต่กลับออกกฎหมายเปลี่ยนระบบใหม่ให้คุณกับคนเหล่านี้ หากความน่าเชื่อถือของ คสช.ถูกลดลงจากเรื่องนี้ต่อไปเรื่องอื่นๆก็จะลดน้ำหนักลงไปด้วย
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า หากผู้พิพากษาเป็นต้นคิดในเรื่องนี้จริง คงเป็นเพราะถูกตำหนิจากรัฐบาลชุดที่แล้วว่ามีศาลเดียว ไม่ได้รับความยุติธรรม แต่เราต้องดูปัญหาของประเทศว่า เราเผชิญปัญหากับการทุจริต ถือเป็นเรื่องร้ายแรงของประเทศ วิธีการแก้ปัญหาไม่จำเป็นต้องดูแบบอย่างประเทศอื่น ตนเคยตั้งข้อสังเกตว่าเราต้องปกป้องศาลเพราะเขาไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ เมื่อถูกทำให้ถูกลดความน่าเชื่อถือก็ไม่สามารถออกมาแก้ตัวได้จึงอยากเซตระบบใหม่เพื่อไม่ให้ถูกด่า แต่ตนว่าระบบใหม่ออกมาอาจจะถูกด่ามากกว่าเดิมก็ได้ หาก คสช.ต้องการอย่างนั้น สนช.เองอาจจะมีบางคนกล้าลุกขึ้นอภิปรายแต่คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลักการใหญ่ๆ หรือคว่ำร่าง เพราะทุกคนล้วนได้รับการแต่งตั้งมาจาก คสช.ทั้งสิ้น