ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังจากที่ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ได้รับโปรดเกล้าฯ และมีผลบังคับใช้ ตามฤกษ์งามยามดี 22 กรกฎาคม ครบรอบ 2 เดือนการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองโดย “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) เนื้อหาที่มีทั้งหมด 48 มาตรา ก็เริ่มถูกชำแหละวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
แถมด้วยเสียงก่นด่า-เหน็บแนม-เสียดสี ที่ไล่เรียงดูแล้วก็มีแต่ “คนกันเอง”อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเล่นคีย์เดียวกันมาตลอด
แม่ทัพใหญ่อย่าง"มาร์ค" อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคสีฟ้า อาศัยพื้นที่บนสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก ร่ายยาวถึงกติกาบ้านเมืองที่เพิ่งทำคลอดออกมา จับใจความได้เพียงนิดเดียวว่า ไม่เห็นด้วยกับการคงอำนาจของคสช. ให้เหนือกว่าอำนาจ 3 ฝ่าย “บริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการ”
มุมมอง“เดอะมาร์ค”กรีดเบาๆว่า ไม่มีความจำเป็น
พ่วงด้วยลูกพรรคอย่าง“นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ”ที่ออกมาประชดประชันแดกดันถึง มาตรา 44 ที่ให้ คสช.ถืออำนาจเต็ม เสมือนการเหน็บปืนไว้ที่เอว ราวกับจะชักออกมายิงตอนไหนก็ได้
ขณะที่ขั้วตรงข้ามของ คสช.ทั้ง “พรรคเพื่อไทย-คนเสื้อแดง-นักวิชาการแดง” ยังไม่ออกโรงมาคอมเม้นท์รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ตามที่คาดการณ์ไว้เลย หลักๆ ก็อาศัยซอกหลีบสุมหัววิเคราะห์หมากของ คสช. กันในทางลึก ยังไม่มีใครหาญกล้าออกมาเปิดหน้าโจมตี
มองไม่ยากว่า คงเป็นเพราะคนใน“ระบอบแม้ว”โดน “ของดี”มาจากการเข้ารายงานตัวต่อคสช.แล้ว ส่วน“ค่ายสีฟ้า-กปปส.” ยังคงสนุกสนานเต้นรำกันสบาย
พฤติกรรมคนสองขั้ว หลังออกจากค่ายทหารมาผิดกันลิบลับ
น่าสนใจว่า เพียงแค่วันเดียวที่กติกาชั่วคราวประกาศใช้ ก็เป็นคิว“คนรู้จักกัน”ที่ออกมาถล่มกันเองเสียแล้ว ต้องจับตาว่า สถานการณ์หลังจากนี้จะผลัก“มิตร”แปรเปลี่ยนเป็น“ศัตรู”ได้เร็ว และมากขนาดไหน
โดยมีโควตาเก้าอี้ในดรีมทีมชุดต่างๆ“สนช.-สปช.-ครม.-กมธ.ยกร่างฯ”เป็นตัวชี้วัด
หากกางดูบทบัญญัติของ มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2547 ที่เขียนให้อำนาจของคสช.ไม่ลดน้อยถอยลงไปกว่าเดิมที่มีอยู่เลย จึงมีคำถามต่อไปว่า เมื่อวางบทบาท คสช.ไว้อยู่เหนือกว่าทุกๆภาคส่วนแล้ว มีความจำเป็นที่"บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เบอร์หนึ่งแห่งสำนักคสช. จะโดดลงมาเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเองอีกหรือไม่
เพราะประเมินแล้วว่า ฐานะ และบทบาท คสช. หลังจากนี้ยังคงสูงลิบลิ่ว แม้จะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาแล้วก็ตาม
ไม่ว่าจะเป็นสูตรถ่างขานั่งควบนายกฯ-คสช. หรือสละนาวา คสช. มาใส่สูทผูกไท นั่งเต๊ะจุ๊ยที่ตึกไทยคู่ฟ้า
เมื่อรูปการเป็นเช่นนี้ การรั้งตำแหน่งหัวหน้าคสช. เอาไว้ก็เท่ากับ นั่งอยู่บนยอดภู คอยสั่งการ ทั้งทางลับ-ทางเปิด จะดูราบรื่นสะดวกมากกว่า ดีกว่าโดดลงมาเป็นนายกฯ ที่เหมือนการขึ้นฟลอร์ เปิดหน้าให้ฝ่ายตรงข้ามชกเอาง่าย
ส่วนเบอร์ 1 ฝ่ายบริหารนั้น แน่นอนว่าย่อมต้องเป็นคนที่ไว้ใจได้ เพราะต้องเป็นเสมือน“นายกฯเงา”ปฏิบัติหน้าที่รับหน้า โดยมี คสช. ยืนตระหง่านคุมเกมทั้งหมดเอาไว้ เพื่อไม่ให้“ขั้วตรงข้าม”ได้กระดิกในเวลาที่เร็วเกินไป ปล่อยให้กระแสของ“นายใหญ่-คนเสื้อแดง”ลดโทน-ลดเฉด-ลดแรง ลงไปเรื่อยๆ คงคาดหวังกันว่า มนต์คลังของ“นายใหญ่”จะเสื่อมลงไปบ้าง โดยเฉพาะในภาคเหนือ-ภาคอีสาน
ที่สำคัญเมื่อศึกษาถึงขั้นตอนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีอย่างละเอียด มีประเด็นให้ชวนสงสัยอยู่เหมือนกัน
เพราะอำนาจการแต่งตั้ง “ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ”จะเป็น “บิ๊กตู่”ในฐานะหัวหน้า คสช. ที่เป็นคนนำเสนอให้แต่งตั้ง ประธานสนช. ส่วนการแต่งตั้ง “นายกรัฐมนตรี”นั้นเป็นไปตามมติของสนช. โดยหัวหน้า สนช. มีหน้าที่ทูลเกล้าฯชื่อนายกฯ
ทำความเข้าใจกันง่ายๆ คือ “บิ๊กตู่”สามารถแต่งตั้งใครก็ได้ให้มาเป็นประธาน สนช. จากนั้น“ประธาน สนช.”จะเสนอแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากชื่อนายกฯ เป็น “บิ๊กตู่”ก็เปรียบเสมือน “บิ๊กตู่”แต่งตั้งตัวเองให้ขึ้นดำรงตำแหน่งโดยปริยาย
หนีไม่พ้นต้องตกเป็นขี้ปากชาวบ้านแหงๆ
ดูตามเหลี่ยมมุมนี้ หากชื่อนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่“บิ๊กตู่”ขั้นตอนการปฏิบัติที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว คงสวยหรูกว่ามากทีเดียว
นอกจากนี้ หากดูในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตราอื่นๆ แทบทุกเรื่องสำคัญจะต้องทำผ่านอำนาจของ“หัวหน้า คสช.”โดยเฉพาะการเสนอให้มีการถอดถอนนายกฯ
ดังนั้นหาก หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี เป็นคนเดียวกัน ก็คงดูจะติดๆ ขัดๆ ชอบกล
เมื่อแกะลายแทงจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มีเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างสูงทีเดียวที่ “บิ๊กตู่”จะขอบาย ไม่นั่งเบอร์หนึ่ง“ตึกไทยคู่ฟ้า” ด้วยตัวเอง
แต่ก็ใช่ว่า จะเป็นการปิดทาง หรือปิดตำนาน“นายก ป.”เพราะไล่เรียงดูแล้วในคสช. ยังมี “คนชื่อ ป.”อีกหลายหน่อ
โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวแปลกๆ ของ “บิ๊ก คสช.บางคน”ที่ก่อนหน้านี้ฟิตจัดงานที่อยู่ในความรับผิดชอบ สั่งการเคลียร์คัตทุกงาน แต่ระยะหลังเลือกลดบทบาทลงไปบ้าง เหมือนจะรักษาเนื้อรักษาตัว ให้รอดพ้นจากสายตาของ “อำมาตย์”บางคนที่อยากแสดง“คนนอก”มาเสียบรับตำแหน่งนายกฯแทน
หนำซ้ำยังมีข่าวลือหนาหูว่า ในการบูรณะซ่อมแซมทำเนียบรัฐบาล โดยเฉพาะ“ตึกไทยคู่ฟ้า”ซึ่งเป็นที่ทำงานของนายรัฐมนตรี มีการปรับปรุงห้องน้ำอย่างเร่งด่วน
เนื่องจากในช่วงที่“ปูแดง”นั่งเก้าอี้ “สร. 1 หญิง”คนแรกของประเทศไทย ได้สั่งทุบโถปัสสาวะ ซึ่งเป็นแบบยืนที่“ผู้นำชาย” ส่วนใหญ่ใช้กันออกไปจากห้องน้ำ ภายในห้องทำงาน
จนทำให้ฝ่ายอาคารสถานที่ทำเนียบรัฐบาล ต้องปรับปรุงนำโถปัสสาวะผู้ชายมาติดตั้งใหม่ เพื่อรอการมาของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่ฟันธงล่วงหน้าได้ว่า ไม่ใช่ผู้หญิงแน่นอน
นอกจากนี้ยังมีการสั่งเปลี่ยนแปลงชุดสุขภัณฑ์ห้องน้ำใหม่ทั้งหมดด้วย เพราะไม่ปรารถนาที่จะใช้ของเดิมที่“ปูแดง”เคยใช้ เหตุผลจำเป็นคงมีหลายประการ แล้วแต่จะคาดเดา
ส่วนคนที่ได้รับอำนาจตรงในการเลือกสรรเครื่องสุขภัณฑ์นั้นไม่ใช่“บิ๊ก คสช.”อย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็นทายาทของ“บิ๊กคสช.” รายหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเล่นว่า“น้องตาล”
ฟังผิวเผินชื่อ“ตาล”คล้ายกับชื่อ “ตู่”ที่มี ต.เต่า เหมือนกัน จนนึกไปว่า“น้องตาล”เป็นลูก “บิ๊กตู่”แต่หากลองคลิ๊กเข้าไปใน “อาจารย์กูเกิ้ล”แล้วคงจะถึงบางอ้อว่า“บิ๊กตู่”มีลูก 2 คน เป็นผู้หญิงทั้ง 2 คน และไม่ได้ชื่อใกล้เคียงกับ“ตาล”เลย
แต่“น้องตาล”กลับเป็นชื่อทายาทของ“บิ๊ก คสช.”ผู้ที่ยังมากบารมี แต่ขอลดบทบาท เพื่อแต่งตัวรอบางสิ่งบางอย่าง ที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่า การให้“ลูกตาล”ซึ่งถือเป็นคนรู้ใจมาเลือกสิ่งอำนายความสะดวกใน“ทำเนียบรัฐบาล-ตึกไทยคู่ฟ้า”อาจจะส่งสัญญาณบางอย่างออกมาให้เห็น
“บิ๊ก คสช.”ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี อาจจะไม่ใช่ “บิ๊กตู่”อย่างที่คาดเดากัน แต่มี“ตาอยู่”ที่ “บิ๊กตู่”วางใจให้มาสานงานต่อ ก็เป็นได้ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คนกันเองในคสช.นั่นแล