xs
xsm
sm
md
lg

"ทิชา"ตอก"ประยุทธ์"สั่งปิดปาก สปช.ไม่ได้ทำงานรับใช้นายกฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมี่อวานนี้ ( 15 ต.ค.) สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดให้สมาชิกเข้ารายงานตัวเป็นวันสุดท้าย ทั้งนี้ นางทิชา ณ นคร สมาชิก สปช. ลำดับที่ 91 ได้มารายงานตัวเป็นคนที่ 249 ทั้งนี้คงเหลือเพียง นายสุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง สมาชิกสปช. ลำดับที่ 219 ซึ่งติดภารกิจต่างประเทศ และแจ้งขอ แสดงตนในวันที่ 20 ต.ค. 57
นางทิชา ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ขอความร่วมมือสมาชิก สปช. หยุดการแสดงความเห็นปฏิรูปด้านต่างๆ ผ่านสื่อ ขอให้รอไว้ไปพูดกันในสภา ว่า ขอให้นายกฯ เข้าใจว่า สปช.ไม่ได้เข้ามาทำงานรับใช้นายกฯ แต่เข้ามาทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ และน่าจะเป็นเป้าหมายเดียวกันกับนายกฯ และเห็นว่ารัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร เพียงช่วยปลดล็อกให้สามารถเข้ามาแก้ปัญหาได้สะดวกขึ้นเท่านั้น ดังนั้นเห็นว่าสปช. ควรมีโอกาสแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องอยู่ในแถว ไม่เช่นนั้นมุมมองในการแก้ปัญหาจะอยู่ในวงที่แคบ
" สปช. ต้องตระหนักว่า ไม่ได้เป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ ยังมีตัวจริง เสียงจริง อยู่เต็มประเทศ จึงต้องทำให้เสียงของประชาชน มีความหมายอย่างแท้จริง อีกทั้งสปช. ทุกคนต้องไม่ลืมว่า ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังนั้นต้องทำให้เกิดแนวทางการรับฟังความเห็น การมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อนำความเห็นเหล่านั้น สู่เวทีสภาปฏิรูปให้ได้มากที่สุด " นางทิชา กล่าว และว่า ภายใต้กรอบเวลาที่จำกัด อาจจะไม่สามารถปฏิรูปได้สำเร็จ ไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ไม่เป็นไปความคาดหวังจากสังคมวงนอก แต่ขอยืนยันอุดมการณ์ ต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนให้มากที่สุด หากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ก็จะไม่ตอบโจทย์ใดๆ และปัญหาของประเทศในรูปแบบวังวนเดิมๆ ก็จะกลับมา
นายวันชัย สอนสิริ สปช. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อดีตแกนนำ 40 ส.ว. กล่าวถึง กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาปรามไม่ให้สปช. พูดมากเกินไปว่า ในสภาวะบ้านเมืองปฏิรูปประเทศ เห็นควรจะพูดเรื่องปฏิรูปได้ แต่ต้องเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ และเกิดประโยชน์ เพื่อให้สังคมรับทราบ สปช. คนอื่นๆ พิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่ ที่จะนำข้อเสนอหรือผลักดันประเด็นต่างๆต่อไป เพราะสุดท้ายข้อเสนอทั้งหมดก็ต้องนำเสนอในที่ประชุมสปช. ส่วนจะได้ทำตามแนวคิดที่ตัวเองต้องการหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม สปช. ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่ตนจะไม่เห็นด้วยหากไปพูดข้างนอกเพื่อสร้างความแตกแยกในสังคม และประโยชน์ของตัวเอง
** พท.ยุให้โละองค์กรอิสระ

นายอำนวย คลังผา อดีตประธานวิปรัฐบาล และ อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงบทบาทของ สปช. ว่า อยากให้ สปช. ที่เข้ามาปฏิรูปประเทศ ยึดหลักการสร้างประชาธิปไตย ลดความเหลื่อมล้ำ ทำตามกรอบที่คสช. กำหนดไว้ 11 ด้าน อย่าสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ขึ้นมาจน คสช. ต้องรู้สึกอึดอัด เพราะเท่าที่เห็น บางคนแสดงความเห็นออกมาในสิ่งจะเป็นปัญหา เช่น การเลือกผู้แทนจังหวัดละ 1 คน หรือการเลือกนายกฯ โดยตรง เป็นต้น เพราะตามหลักประชาธิปไตย การให้ประชาชนเลือกพรรค และ ส.ส.เลือกนายกฯนั้น ถูกต้องแล้ว เพื่อสนับสนุนให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง
"เหนืออื่นใด สปช.ต้องปฏิรูปตัวเองเสียก่อน หากสปช. คนไหน หรือกลุ่มไหนไม่ทำตามกรอบ ก็ขอให้ คสช. ปลดออกไปแล้วเลือกเข้ามาใหม่" นายอำนวย กล่าว
นายอำนวย กล่าวว่า ในกระบวนการปฏิรูปนั้น ส่วนตัวขอแนะนำว่า ให้ปรับเปลี่ยนองค์กรอิสระทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น กกต. - ป.ป.ช.- และศาลรัฐธรรมนูญ เพราะในเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2550 หมดไปแล้ว องค์กรเหล่านี้ก็ควรพ้นไปด้วย เมื่อได้รัฐธรรมนูญใหม่ กติกาใหม่ ค่อยตั้งใหม่ และน่าจะมีวาระอยู่เพียง 5 ปี ส่วนที่มา ควรใช้รูปแบบคัดเลือกแบบ สปช. เอาตัวแทนจากทุกจังหวัดไปคัดเอา หรือให้มาจากการเลือกตั้ง ยึดโยงประชาชน อย่าใช้แบบเดิมที่มีคนเพียงไม่กี่ คนแต่งตั้งเข้ามา

**เลือกตั้งขึ้นอยู่กับรธน.เสร็จเมื่อไร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวถึงแนวโน้มที่จะขยายเวลาโรดแมป ในระยะ 3 ออกไปหรือไม่ว่า ตนได้กำหนดโรดแมปไปแล้ว ขึ้นอยู่กับการดำเนินการจะทำได้อย่างไร ก็ทำกัน และช่วยกัน ถ้ามัวแต่ ตีรัน ฟันแทง ต่อสู้กันไปตลอด จะทำอะไรก็ขยับไม่ได้ สรุปไม่ได้ แล้วจะไปได้หรือไม่ การเลือกตั้งครั้งใหม่ต้องมาด้วยรัฐธรรมนูญ และผลของการปฏิรูป 11 เรื่อง ถ้าทำรัฐธรรมนูญเสร็จ ปฏิรูปทั้ง 11 เรื่องได้ นี่คือระยะแรก เพราะคงแก้ไม่ได้ทั้งหมด เพราะบางอันต้องใช้ระยะเวลายาว ใครเป็นรัฐบาลต้องมาแก้ต่อ จะมาคาดคั้นกับตนมาก มันไม่ใช่ ซึ่งได้พูดจบไปแล้ว ดูตามโรดแมปนั่นแหละ ปัญหาอยู่ที่ว่าการทำตามโรดแมป ทำได้หรือไม่ ก็ทำกันไป ไม่ใช่ตนคนเดียวที่ทำโรดแมป และตนก็ไม่ได้นั่งเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ส่วนที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ออกมาระบุว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นต้นปี 2559 นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าโรดแมปจะเสร็จเมื่อไร ถ้ารัฐธรรมนูญเสร็จก็ต้องใช้เวลาในการเตรียมการเลือกตั้ง

**เย้ยเลือกตั้งปี 59 หวังยืดอำนาจ

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายประเมินกรอบเวลาในการเลือกตั้งว่าจะอยู่ราวเดือน ม.ค.59 เพราะต้องรอการแก้ไขกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องว่า ฟังดูแล้วไม่ตรงกับโรดแมปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยประกาศไว้คือ ต.ค. 58 จะมีรัฐบาลใหม่ โดยพูดย้ำบ่อยจนตนจำได้ แต่ก็ไม่แปลกใจ เพราะเมื่อมีช่องทาง คนที่ได้อำนาจโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง ก็จะใช้เพื่อยืดเวลาเพื่อใช้อำนาจในมือให้นานที่สุด เพราะตนฟัง สปช. แต่ละคนที่มารายงานตัวถึงแนวคิดต่างๆ ไม่มีสปช.แม้แต่คนเดียว ที่บอกว่า จะทำหน้าที่และทำตามโรดแมปในกรอบเวลาตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศไว้
" คนเหล่านี้ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรกับผลที่จะตามมา แต่คนที่ต้องรับผิดชอบทั้งขึ้น ทั้งล่อง คือ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะเมื่อชาวบ้านจะด่าเขาไม่ด่า สปช. แต่เขาจะด่านายกฯ ฉะนั้นสปช.จะพูดอะไรก็ได้ เพื่อยืดอำนาจของตัวเองออกไป เห็นมีแต่นายกฯ ที่ยังยืนยันว่า ทุกอย่างจะเป็นไปตามโรดแม็ป จึงเป็นที่มาของการออกมาปรามให้ สปช. พูดให้น้อยๆ เพราะยิ่งพูดมาก นายกฯ เองก็ยิ่งเสียหาย เพราะร่วมตั้งคนเหล่านี้มาเอง ที่สำคัญนายกฯรู้ว่า อะไรจะเกิดขึ้น หากไม่ทำตามที่ประกาศไว้ เพราะถือเป็นสัญญาประชาคม ที่ประกาศไว้ทั้งต่อคนในชาติ และนานาชาติ ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และภาพลักษณ์ " นายนิพิฏฐ์ กล่าว

** "วิสุทธิ์"ไม่ให้ค่าคนที่"ประยุทธ์"เลือกใช้

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงรายชื่อของบุคคลที่เข้ามาเป็นสมาชิก สปช.ว่า ตนไม่ใด้ติดตามข่าว และไม่สนใจ อยากทำอะไรก็ให้เขาทำตามสบาย ตอนนี้คนส่วนโหญ่ไม่ใด้ดูข่าวในประเทศด้วยซ้ำ เพราะเขาดูทีวีลาวแล้วสบายใจกว่า ตอนนี้เขามีอำนาจเต็ม อยากทำอะไร ให้ทำเต็มที่เชิญตามสบาย ตนไม่ใด้ให้ความสำคัญ หรือสนใจ เพราะเสียเวลาเปล่าๆ คนที่เข้ามาเป็นสปช.แต่ละคน เขาเลือกมาเอง คงได้คนที่ถูกใจ ก็น่าจะทำให้บ้านมีความสุขตามที่พูดเอาไว้ แต่ถ้าทำให้บ้านเมืองมีความสุขไม่ได้ เขาก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ
"ผมไม่เคยให้ความสำคัญ หรือติดตามพวกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ขัดขวาง" นายวิสุทธิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า ถ้าคสช.ยังยึดอำนาจนานกว่า 1 ปี จะเกิดความวุ่นวายขึ้นหรือไม่ นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า เขาจะอยู่กี่ปีก็ตามใจเขา เพราะเขามีอำนาจ ไม่เช่นนั้นจะมาอ้างอีกว่าเวลาน้อย
"ผมไม่ได้อ่านรายชื่อด้วยช้ำว่าเขาเลือกใครมาใช้บ้าง และไม่ดูแม้แต่ใครมาเป็นรัฐมนตรีบ้าง เพราะเขาไม่มีค่าพอที่จะไปใส่ใจ แต่สิ่งสำคัญเราไม่ขวาง อยากทำอะไรเชิญตามสบาย จบแล้วค่อยมาดูความเสียหายที่จะเกิดขึ้น" อดีตรองประธานสภา กล่าว

** เลขาสภาฯแจงการตั้งผู้ช่วย สปช.

นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า การที่คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา (ก.ร.) มีมติให้ผู้สมัคร สปช. ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาทำหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญให้กับสมาชิก สปช.นั้น เป็นเพียงหลักการเท่านั้น โดยไม่ได้บังคับว่าสมาชิกสปช. จะต้องแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวเข้ามาเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือไม่ เพียงแต่อาจจะเสียสิทธิประโยชน์เท่านั้น
ทั้งนี้ สมาชิกสปช. สามารถแต่งตั้งบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 1 คน ผู้ชำนาญการ 1 คน และผู้ช่วยดำเนินงาน จำนวน 3 คน ตามระเบียบของรัฐสภากำหนด ซึ่งถ้าสมาชิก สปช. จะแต่งตั้งบุคคลให้ครบตามตำแหน่งดังกล่าว จะต้องมีผู้สมัคร สปช. ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาทำหน้าที่จำนวน 1 คน แต่สมาชิก สปช.จะไม่แต่งตั้งผู้สมัครสปช. ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกก็ได้ ซึ่งจะทำให้ตำแหน่งนั้นว่างลง
เมื่อถามว่า ผู้ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกเป็นสปช. หากเข้ามาทำงานในสปช. จะมีขอบเขตการทำงานอย่างไร นายจเร กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องแล้วแต่ที่ประชุมสปช. จะเป็นผู้ตกลงว่าจะกำหนดบทบาทการทำงานอย่างไร เช่น ถ้าจะให้บุคคลเหล่านี้เข้าไปทำงานในตำแหน่งคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสปช. ก็ต้องไปกำหนดคุณสมบัติและอำนาจหน้าที่ไว้ข้อบังคับการประชุม สนช.ต่อไปในอนาคต
สำหรับการยกร่างข้อบังคับการประชุม สปช.ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ได้ทำการจัดทำ ร่างข้อบังคับการประชุมสปช.ในเบื้องต้น โดยเนื้อหาจะสอดคล้องกับข้อบังคับการประชุม สนช. เพียงแต่จะนำมาปรับปรุงเพื่อให้สอดรับกับภารกิจของสปช. ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ. 2557 ทั้งนี้เมื่อได้นำข้อบังคับฉบับนี้เสนอต่อที่ประชุมสปช. คาดว่า สปช. จะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 เดือน เพื่อให้ความเห็นชอบและบังคับใช้ในการทำงาน
เมื่อถามอีกว่า ในเรื่องปัญหาเกี่ยวกับข้อสงสัย เรื่องการแสดงบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินของสปช. ทางสำนักงานเลขาธิการสภาฯได้ทำเรื่องสอบถามไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือไม่ เลขาธิการสภาฯ กล่าวว่า คงจะไม่มีการทำเรื่องไปถามป.ป.ช. เพราะเห็นว่าเป็นอำนาจหน้าที่ที่ ป.ป.ช.สามารถวินิจฉัยได้โดยตรง โดยที่ สปช.ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือไปสอบถาม
นายจเร กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาฯ จะทำหนังสือเชิญประชุมไปยัง สปช. ให้รับทราบ ในวันที่ 15 ต.ค.ว่าจะมีการประชุมสปช.ครั้งแรกอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 ต.ค.นี้ โดยมีวาระสำคัญ คือ การรับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสปช. จำนวน 250 คน จากนั้นจะเป็นการเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งประธาน สปช. 1 คน และรองประธานสปช. อีก 2 คน ส่วนภายหลังการเลือกประธานและรองประธานสปช.แล้ว หากสมาชิก สปช. จะนำเรื่องอื่นๆโดยเฉพาะการตั้งคณะทำงาน เพื่อดำเนินการเรื่องการปฏิรูป ก็ขึ้นอยู่กับความเห็นที่ประชุมว่าจะตัดสินอย่างไร

----------
กำลังโหลดความคิดเห็น