“ปานเทพ” ประธาน ป.ป.ช.เผยเตรียมลุยฟ้อง"พัชรวาท" คดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ปี 51 หลังคณะทำงานร่วม อสส.-ป.ป.ช.สั่งไม่ฟ้อง อ้าง กม.ไม่บังคับ คสช.แจงทรัพย์สิน แต่ใครร่วม ครม.ต้องยื่นตามกระบวนการ ด้านเลขาฯโยนหากต้องการแสดงความบริสุทธ์ใจให้ทำ เล็งนัดถกเลขาฯ สปช.ต้องให้สมาชิกยื่นด้วยหรือไม่ ขณะที่ “นิพิฏฐ์” เย้ย “นช.แม้ว” ทำทีเป็นเด็กดี หวังร่วมเข่ง กม.นิรโทษกรรม คักคอต้องแยกประเภทคดีด้วย
วานนี้ (18 ส.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถ.พิษณุโลก นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีคณะทำงานร่วมอัยการสูงสุด (อสส.)และ ป.ป.ช. มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อปี 2551 ว่า หลังจากคณะทำงานร่วม อสส.-ป.ป.ช. สั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว เรื่องจึงกลับมาสู่การพิจารณาของ ป.ป.ช. โดยที่ผ่านมาหากเกิดกรณีเช่นนี้ ป.ป.ช.จะสั่งฟ้องเองได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการฟ้องเอง แต่ยังไม่ระบุกรอบเวลาที่ชัดเจนว่า จะสั่งฟ้องเมื่อใด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
** ให้ คสช.คิดเองแจงทรัพย์สินหรือไม่
ส่วนประเด็นการแสดงรายการบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น นายปานเทพ กล่าวว่า หากยึดตามหลักกฎหมาย และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ไม่ได้กำหนดให้ คสช.จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ทั้งนี้จะต้องพิจารณาในส่วนที่มีเหตุผลรองรับ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ระบุเอาไว้ แต่หาก คสช. คนใดได้รับการแต่งตั้งใน คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะต้องมีหน้าที่ยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินฯ และเปิดเผยต่อสาธารณชนตามปกติ
ด้านนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวเสริมว่า กฎหมายไม่ได้กำหนดว่า คสช. จะต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน จึงขึ้นอยู่กับเจ้าตัว หากต้องการแสดงความบริสุทธิ์ใจที่จะยื่นบัญชีทรัพย์สินฯต่อ ป.ป.ช. สามารถทำได้ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่รัฐตำแหน่งอื่นๆที่ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องยื่น แต่กรณีนี้ เมื่อมีการยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินฯแล้ว คงจะไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน เนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐตำแหน่งใดบ้างที่จะต้องยื่น และที่จะต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน
** แย้ม สปช.ต้องยื่นด้วย-รอเคาะอีกที
ส่วนกรณีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีหน้าที่จะต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินฯต่อ ป.ป.ช.หรือไม่นั้น นายสรรเสริญกล่าวว่า เนื่องจากเมื่อปี 2549 ไม่มี สปช.จึงไม่ได้มีการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ กรณีนี้จึงต้องไปดูแนวทางการปฏิบัติเก่า เพื่อนำมาเปรียบเทียบกันว่า เหมือนหรือต่างกันอย่างไรกับครั้งนี้ ทั้งนี้ในส่วนของ ป.ป.ช. มีมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐตำแหน่งใดบ้างจะต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินฯ อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องนี้คงต้องรอการประสานงานจากสำนักงานเลขาธิการ สปช.เพื่อขอหารือในประเด็นดังกล่าวก่อน
นายสรรเสริญ ยังได้กล่าวถึงกรณีได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็น สปช. ด้านการเมืองว่า เป็นมติของคณะกรรมการป.ป.ช. ที่ได้รับโควต้าในการเสนอชื่อได้ 2 คน โดยในส่วนของตนที่ถูกเสนอชื่อทางด้านการเมืองนั้น สาเหตุเพราะ ป.ป.ช. มีความเกี่ยวข้องกับการป้องกันบุคคลที่จะเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง เพื่อไม่ให้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่
** จับไต๋ “แม้ว” รอส้มหล่น กม.ล้างผิด
อีกด้าน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เปิดเผยหลังไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เกาะฮ่องกง ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทย โดยปล่อยให้ทหารแสดงฝีมือไปก่อน เชื่อว่า คสช.จะอยู่ได้แค่ 1 ปี เพราะสู้แรงกดดันจากนานาชาติ และอาจประสบปัญหาเศรษฐกิจ โดยให้อดีต ส.ส.เพื่อไทย ถอนฟ้องในคดีต่างๆ ลดความขัดแย้งเพื่อปูทางไปสู่การนิรโทษกรรมว่า ตนคิดว่าเป็นการส่งสัญญาณต่อสังคม รวมถึง คสช. เพื่อแสดงให้เห็นว่าเขาหยุด และพร้อมทำตามที่ คสช.ขอร้องแล้ว คือเล่นบทเด็กดี แต่ท้ายที่สุด ก็ยังเปิดเผยความต้องการที่แท้จริงที่ต้องการมากที่สุดของตัวเองออกมา คือ การออกกฎหมายนิรโทษกรรม เห็นได้ชัดจากที่ผ่านมา ในการดันออกกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ที่ไม่สำเร็จ ถูกประชาชนขัดขวาง ตอนนี้ได้มีการนำเสนอประเด็นนี้ขึ้นมาอีก ถือเป็นคำตอบสุดท้าย ส่วนจะมีการพูดคุยเจรจากับผู้มีอำนาจหรือไม่ ตนไม่ทราบ ซึ่งตนเชื่อว่าทั้ง สนช. และ สปช.ที่กำลังสรรหา ก็คงจะไม่ยอมให้มีการนิรโทษกรรมคดีทุจริต แต่ต้องยอมรับความจริงว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ลืมง่ายไม่เอาอดีตมาเป็นบทเรียน ประเทศไทยจึงไม่มีผิดไม่มีถูก คือผิดก็ทำให้ถูกได้ หรือถูก ก็ทำให้ผิดได้ ไม่ยึดหลักกฎหมาย
“การออกกฎหมายนิรโทษกรรม สามารถทำได้ แต่ต้องแยกประเภทของกลุ่มคดี ไม่ใช่เหมารวมเข่ง เพราะสังคมส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้มีการนิรโทษกรรมคดีเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง ที่คนหมู่มากเข้าร่วม และผลกระทบ แต่ไม่รวมถึงคดีที่ผู้ชุมนุมไปกระทำความผิดทางอาญาอื่น เช่น คดีปล้น เผา โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันต้องแยกออกให้เด็ดขาด เพราะถ้าเดินหน้านิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ที่สุดความวุ่นวายจะหวนกลับมาอีก” นายนิพิฏฐ์ กล่าว