ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เพราะเห็นว่าปัญหาพลังงานเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากเป็นความมั่นคงและความมั่งคั่งของชาติ ทำให้ “พ.ท.รัฐเขต แจ้งจำรัส” นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ต้องการบอกความจริงประชาชนว่า “ท่านกำลังถูกปล้น” รวมถึงต้องการบอกว่าใครกันแน่ที่ทำให้เกิดปัญหาวิกฤติพลังงาน
คนไทยกำลังเสียผลประโยชน์เรื่องอะไร ?ทำอย่างไรจึงจะได้ใช้น้ำมันถูกลง? นี่คือคำถามที่พ.ท. รัฐเขต จะมาตอบข้อสงสัยเหล่านี้ เพื่อหวังให้มีการตรวจสอบ เกิดความโปร่งใส และสร้างความเป็นธรรมแก่ประชาชนอย่างแท้จริง
ในฐานะที่คุณเป็นนักเคลื่อนไหวเรื่องพลังงาน มีเรื่องไหนที่คุณไม่เห็นด้วยบ้างในเรื่องการปฏิรูปพลังงาน
ผมไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพราะว่าการเปิดสัมปทานของเก่าตั้งแต่รอบที่ 1-20 มีการละเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ยกตัวอย่างน้ำมันในประเทศไทย ในส่วนเฉพาะของบริษัท ปตท. ซึ่งมีบริษัท ปตท.สผ. เป็นบริษัทลูก รายงานในตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าประเทศไทยมีแหล่งน้ำมันในส่วน ปตท.ที่รับผิดชอบอยู่ประมาณ 250 ล้านบาร์เรลต่อปี แต่เมื่อไปตรวจสอบแล้วปรากฏว่ามีน้ำมันถึง 100 ล้านลิตรต่อวัน โดยที่เราไม่จำเป็นต้องนำเข้าแม้แต่นิดเดียว นี่จึงเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง
ตอนนี้ประเทศไทยใช้น้ำมันวันละ 70 ล้านลิตร ถ้าใช้เพื่อยานยนต์ แยกเป็นดีเซล 50 ล้านลิตร ตระกูลเบนซินต่างๆ อีก 20 ล้านลิตร รวมกันแค่ 70 ล้านลิตร แต่น้ำมันดิบในเฉพาะส่วนของ ปตท.สผ. มีอยู่ถึง 100 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศไทยไม่ต้องนำเข้าน้ำมันเลยแม้แต่นิดเดียว นี่เรายังไม่ได้รวมกับบริษัทสัมปทานต่างชาติอีก 34 บริษัท ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ปริมาณน้ำมันดิบในประเทศไทยนั้นมีมากกว่าที่ ปตท. และกระทรวงพลังงานกล่าวอ้างว่าประเทศไทยไม่มีน้ำมัน หรือเรามีน้อยแค่ 20% ของความต้องการบริโภค หรือใช้ภายในประเทศ ฉะนั้น ตรงนี้ขัดกับหลักข้อเท็จจริงแล้ว
ถ้าไปดูในประมวลกฎหมาย พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 มาตรา 110 และ 111 เป็นบทลงโทษสำหรับการรายงานเท็จข้อมูลด้านปิโตรเลียม ระบุไว้ว่าผู้ที่ได้รับสัมปทานน้ำมัน หากให้ข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับด้านปิโตรเลียม เพื่อหลีกเลี่ยงการชำระค่าภาคหลวง ผลตอบแทนพิเศษให้กับรัฐนั้น โทษจำคุก 7 ปี และมีปรับด้วยประมาณ 3 แสนบาท ส่วนมาตรา 111 ระบุไว้ว่าให้ริบเครื่องจักรกล ยานพาหนะ แม้แต่ยังไม่มีคำพิพากษาว่ามีความผิด แต่ตลอดระยะเวลาที่มี พ.ร.บ.2514 นี้ ผ่านมาประมาณ 43 ปี เรากลับไม่เคยบังคับใช้กฎหมายบทลงโทษแก่ผู้ที่กระทำผิดเลย
คิดว่ามีข้อมูลไหนที่ประชาชนยังไม่ทราบอีก
ถ้าไปตรวจสอบข้อมูลปัจจุบัน ตั้งแต่ปี 2514 ถึงปัจจุบัน สัมปทานทั้งหมด 20 รอบ เราจะได้แหล่งน้ำมันทั้ง 6,500 หลุม เพราะตอนนี้ขุดแล้ว 6,500 หลุมนะ แต่คนไทยยังไม่รู้เลย นอกจากนั้นแต่ละหลุมแต่ละแหล่งนั้นรายงานจริงหรือไม่ ก็ไม่มีใครยืนยันได้
แล้วไม่รู้ว่าเอาข้อมูลไม่ถูกไปให้ท่านนายกรัฐมนตรี ท่านถึงออกมาพูดแบบผิดๆ ว่า ประเทศไทยขุดน้ำมัน เจอน้ำมันดิบแค่ 0.5% ซึ่งมันเป็นข้อผิดพลาดครับ เพราะในรายงานของกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่าขุดเจาะน้ำมันได้มากถึง 40% นี่จึงเป็นการเอาข้อมูลเท็จไปให้ผู้บริหารประเทศ เพื่อตัดสินใจพิจารณาในการสัมปทานรอบที่ 21 ผลที่ตามมาคือรัฐกำลังจะสูญเสียคลังสมบัติ และงบประมาณน้ำมันดิบใต้ผืนแผ่นดินอย่างมหาศาลให้กับต่างชาติ
ผมยืนยันว่าผู้ที่จะได้รับสัมปทานไม่ใช่คนไทย หรือประเทศไทยจะไม่ได้บ่อน้ำมันเลยแม้แต่ หลุมเดียว ซึ่งไม่เกิดประโยชน์กับประเทศชาติแต่อย่างใด ทั้งที่ 20 ปีที่ผ่านมา เรามีน้ำมันล้นเหลือ จน อาจไม่ต้องนำเข้าแม้แต่นิดเดียว แต่ทุกวันนี้จะเห็นได้ว่ามันไม่เป็นธรรมเลย
เห็นว่าสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 นี้ จะมีการเปิดบ่อน้ำมันที่ภาคอีสานมากขึ้น คิดว่าเรื่องนี้จะทำให้ ประเทศไทยเสียโอกาสหรือเสียผลประโยชน์ด้านไหนหรือเปล่า
ตอนนี้หลักของความมั่นคงของประเทศ เขาไม่ได้ยึดที่ทองคำแล้ว แต่ชาติมหาอำนาจเข้าไปแผ่อิทธิพลในการยึดและครอบครองแหล่งน้ำมันดิบ เพราะนี่คือมิติของความมั่นคงและความมั่งคั่งของ ประเทศ ประเทศใดมีน้ำมันดิบเยอะ ประเทศนั้นจะมีเสถียรภาพทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง รวมไปถึง กำลังการทหาร เพราะงบประมาณการทหารมาจากเม็ดเงินจากน้ำมันดิบนี่เอง ที่มีการอ้างว่าประเทศ ไทยไม่มีน้ำมันดิบจริง อีก7 ปีจะหมด ความจริงมันเป็นเรื่องของสัญญา แต่ปริมาณน้ำมันดิบยังมีอีก เยอะมาก
ที่ผ่านมา ผมเคยได้ไปตรวจสอบบ่อน้ำมันที่ จ.เพชรบูรณ์ พบว่ามีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.มาตรา 110 กับมาตรา 111 ซึ่งตอนนั้นพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ท่านเคยไปตรวจสอบแหล่งน้ำมันที่ เพชรบูรณ์ เมื่อปี 2552 พบว่ามีน้ำมันดิบที่เพชรบูรณ์วันละหมื่นกว่าบาร์เรล คือ ผลิตได้วันละประมาณ 11,530 บาร์เรล
แต่ข้อมูลในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2551 บอกน้ำมันดิบจากเพชรบูรณ์มี 3 แหล่ง รวมกันแล้วได้แค่ประมาณวันละ 800 บาร์เรล เป็นอย่างนี้ตั้งแต่ปี 2551-2557 น้ำมันดิบเราหายไปถัวเฉลี่ยแล้วมูลค่า วัน ละ 30 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 ปี คิดดูครับ แล้วยังมาเปิดสัมปทานรอบที่ 21 อีกได้อย่างไร ของเก่าคุณบริหารงานบกพร่อง และความบกพร่องตรงนี้มันเป็นความเสียหายกับประเทศชาติ ดังนั้น ตรงนี้มีการรายงานเท็จแน่นอน เพราะน้ำมัน 10,000 บาร์เรล เท่ากับใช้รถบรรทุกประมาณ 50-60 คันต่อวันเฉพาะในแหล่งเพชรบูรณ์ แต่รายงานว่ามีแค่ 4 คันรถ คิดดูว่าจาก 50 คัน เหลือแค่ 4 คันรถ พอเราไปตรวจสอบในพื้นที่ก็ยอมรับแบบน้ำขุ่นๆ ว่า ใช่ 50 คัน แต่มีน้ำมันมีจริง 5 คัน ที่เหลือเป็นน้ำ แล้วจะ บรรทุกน้ำไปทำไมครับ ถ้าจะบรรทุกน้ำแล้วเอาน้ำมาส่งโรงกลั่น คุณดูดน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาก็ได้ ดังนั้นนี่คือความบกพร่อง และไม่มีการดำเนินคดีอย่างใด
เราเคยไปกล่าวโทษร้องทุกข์กับตำรวจทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าบริษัทสัมปทานเหล่านี้บุกรุกพื้นที่ส.ป.ก. ท่านลงบันทึกหลักฐานต่างๆ ของผมไว้ แต่ที่น่าเศร้าใจเขาบอกว่าไปตรวจสอบที่กระทรวงพลังงาน 5 ครั้ง แต่ไม่ได้รับคำตอบเลยแม้แต่ครั้งเดียว ล่าสุดทางอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ส่งรายงานมาถึงผมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม โดยแก้ต่างแทนบริษัทผู้รับสัมปทานว่าบริษัทเหล่านี้ไม่ได้มีความผิด การที่เขาเข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ของ ส.ป.ก.นั้น อยู่ระหว่างการขออนุญาต เพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติออกไปใช้ประโยชน์ จึงไม่มีความผิด ทั้งที่ความจริงแล้วท่านนี่แหละครับที่เข้าใจผิด เพราะใน พ.ร.บ. ส.ป.ก.ระบุไว้ชัดเจนว่าพื้นที่ส.ป.ก.มีไว้เพื่อการเกษตร สถาบันการเกษตร เพื่อกิจการด้านการเกษตรเท่านั้น
อย่างกรณีของท่านผู้หญิงยศวดี บูรณะสัมฤทธิ์ อัมพรไพศาล ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ท่านมีที่ดินอยู่ในเขตป่า และออกนส.3 ก.เรียบร้อยแล้ว 700 กว่าไร่ คสช.ยังตามไปยึดที่ดินสวนป่าของคุณหญิงยศวดี รวมถึงเพิกถอน ส.ป.ก.ออกไม่ชอบด้วยกฎหมาย รัฐก็ยึดที่คืนเลย ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นกรณีเดียวกันครับ ส.ป.ก.มีไว้เพื่อการเกษตรเท่านั้น ในบริเวณ ส.ป.ก.ถ้าไม่มีเอกสารสิทธิก็เป็นที่ป่าไม้ แต่เห็นได้ว่าก็ยังมีการละเลยละเว้น ไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งยังแก้ตัวแก้น้ำขุ่นๆ ให้แก่บริษัทผู้รับสัมปทาน
พอเราไปตรวจสอบว่าทำไมมันเป็นอย่างนั้น ปรากฏพบว่าข้าราชการในกระทรวงพลังงานระดับสูงหลายตำแหน่ง หลายท่าน มีผลประโยชน์ทับซ้อนในกิจการด้านพลังงาน คือ ไปมีเงินเดือนในตำแหน่งธุรกิจเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากนั้น พอไปตรวจสอบบริษัทบ่อน้ำมันที่เพชรบูรณ์ ปรากฏว่าข้าราชการกระทรวงพลังงานมีตำแหน่งทับซ้อนในบริษัทเหล่านี้ด้วย ดังนั้นกรณีการละเลย ละเว้น ช่วยเหลือธุรกิจพลังงานตั้งแต่ต้นน้ำ คือบริษัทที่ได้รับสัมปทาน นี่แหละครับคือความไม่เป็นธรรม กลายเป็นว่าเรื่องเก่าคุณยังไม่แก้ ถึงแม้จะมีการเปิดสัมปทานไปอีก 10 รอบ ประชาชนก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร
ทั้งหมดนี่คือความบกพร่องด้านพลังงาน ผมอยากจะบอกกล่าวท่านนายกรัฐมนตรีว่า คนที่ทำให้เกิดวิกฤตพลังงานไม่ใช่ประชาชนใช้น้ำมันแพง หรือสิ้นเปลืองแต่อย่างใด แต่เป็นบุคลากรหน่วยงานของรัฐ ผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านนายกฯ เองนั่นแหละครับ
ในแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมของประเทศไทย มีแหล่งไหนที่คุณห่วงเป็นพิเศษบ้างไหม และเพราะอะไร
ผมห่วงแหล่งสัมปทานทั้งหมดในประเทศไทย โดยเฉพาะในแหล่งทะเล ผมเคยคุยกับคณะกรรมาธิการ ส.ส. ซึ่งมีท่านคุรุจิต นาครทรรพ เป็นรองปลัดในเวลานั้น ผมบอกท่านว่าขนาดบนบก น้ำมันดิบยังหายได้เลย แล้วในทะเลใครจะไปตรวจสอบ มีแต่ฉลาม คนมองไม่เห็น ก็คงหายเหมือนกันครับ พอผมพูดอย่างนี้ เงียบกันหมด ไม่มีใครตอบอะไรเลย บอกเดี๋ยวจะไปตรวจสอบ และหลังจากนั้นก็ไม่เคยเรียกผมไปตรวจสอบอีกเลย
ผมเห็นว่าอายุสัมปทานปิโตรเลียมจะหมดในอีก 7 ปีแล้ว ดังนั้น ไม่ต้องไปต่อสัมปทานหรอกครับ ปล่อยเขาหมดแล้วกลับมาเป็นของรัฐดีกว่า ตอนนี้ประชาชนถูกกดขี่ องค์ความรู้ด้านพลังงานก็ไม่ได้รับข่าวสารที่ตรงตามข้อเท็จจริง ประชาชนอยากได้ใช้น้ำมันราคาถูก เขาไม่เข้าใจว่าทำไมมาเลเซียน้ำมันถูก แต่ประเทศไทยทำไมน้ำมันแพง แล้วในพื้นที่ 3-4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ใช้น้ำมันราคามาเลเซีย ตั้งขายกันข้างถนนเลย แต่ทำไมละเลยละเว้น ในขณะที่คนภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ คนอีสาน จ.นครพนม จ.หนองคายก็อยากใช้น้ำมันราคาเดียวกับพี่น้อง 3-4 จังหวัดชายแดนบ้างจะได้ไหม เพราะลิตรละประมาณ 19-20 บาทเท่านั้นเอง
เรื่องนี้รัฐสามารถทำให้ได้หรือไม่ ตอบประชาชนได้หรือไม่ว่าจะทำได้ ที่ผ่านมายังไม่มีใครตอบได้เลย มีแต่ให้ข้อมูลบิดเบือน ผมอยากบอกประชาชนว่าท่านกำลังถูกปล้น ปัญหาพลังงานเกิดจากการบริหารงานที่บกพร่องของผู้มีอำนาจ ตั้งแต่ฝ่ายการเมือง ข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจ ทำให้ประชาชนยากจนลง แก๊สแพง สินค้าทุกชนิดแพงขึ้น
วันนี้ผมต้องการให้ทุกอย่างโปร่งใส ฝากความหวังไว้อยู่กับท่านนายกฯ และอยากให้ท่านรับฟังข้อมูลจากฝ่ายประชาชนบ้าง
มีวิธีไหนที่คุณมองว่าจะช่วยบริหารแหล่งปิโตรเลียมแต่ละที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนได้บ้าง
ผมยกตัวอย่างบ่อน้ำมันฝาง จ.เชียงใหม่ เราเปิดบ่อน้ำมันมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม 60 กว่าปีแล้ว ทุกวันนี้น้ำมันยังไม่หมด แต่แหล่งสัมปทานปิโตรเลียมของเอกชน ทำมานานเหมือนกันตั้ง 40 กว่าปี พอมายุคนี้ บอกจะหมดแล้ว 7 ปี
ดังนั้นผมขอเสนออย่างนี้ครับ ถ้าเราตรวจสอบร่วมกันกับภาครัฐ ภาคประชาชน ได้ข้อมูลชัดเจนแล้วว่ามีการฉ้อฉลในเรื่องของปริมาณไม่ตรงไปตามข้อเท็จจริงแล้ว ก็ควรให้กรมพลังงานทหารจับมือกับประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำหน้าที่บริหารกันเองเลย เหมือนในอดีตเราไม่เคยมีกระทรวงพลังงาน ปัญหาวิกฤตพลังงานไม่เคยเกิดขึ้น
อดีตเรามีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงกลาโหม 4 กระทรวงบริหารกิจการน้ำมัน น้ำมันเราไม่เคยแพง เมื่อปี 43 ราคาน้ำมันในอ่าวไทย เราขายออกไปต่างประเทศ ขายบาร์เรลละ 100 ดอลลาร์ หรือลิตรละประมาณ 20 บาท ช่วงนั้นราคาน้ำมันดีเซล 16 บาท เบนซิน 19 บาท ผ่านมาจากปี 43 มาถึงปี 57 วันนี้น้ำมันในอ่าวไทยขายส่งออกไปต่างประเทศบาร์เรลละ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือลิตรละ 20 บาทเหมือนกัน แต่ราคาน้ำมันแพงไปคนละเรื่อง เรื่องนี้ส่อให้เห็นแล้วว่ามีความบกพร่อง จึงเป็นเรื่องที่จะต้องนำไปสู่การตรวจสอบให้โปร่งใสจริง หากเราไม่ให้สัมปทาน หรือยึดบ่อน้ำมันคืนภายใต้กรอบกฎหมาย พ.ร.บ. 2514 ประเทศไทยไม่ต้องใช้แบ่งปันผลผลิตก็ได้ แต่เราอาจให้รัฐและประชาชน องค์กรในท้องถิ่นบริหารจัดการเอง ผมยกตัวอย่างประเทศจีน จีนให้ผู้ว่าการระดับตำบล หรือคล้ายแบบนายก อบต. บริหารดูแลบ่อน้ำมันเอง คือ ดูดเอง ขุดเอง กลั่นเอง จีนจึงมีหอกลั่นน้ำมัน 10,000 กว่าหอ ซึ่งหอกลั่นน้ำมันไม่ได้ยากได้ ทำเองก็ได้ ซื้อมาจากจีนก็ได้ มีราคาตั้งแต่หลักล้าน สิบล้าน ร้อยล้าน พันล้านมีหมด ไม่ต้องมาลงทุนเป็นแสนล้านเหมือนในประเทศไทย
ส่วนน้ำมันดิบบนบกที่ขนจากกำแพงเพชรเข้ากรุงเทพฯ วันละ 5 ล้านลิตรนั้น ก็ไม่ต้องขนหรอกครับ แต่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งโรงกลั่นน้ำมันที่กำแพงเพชรเลย หรืออาจตั้งที่พิษณุโลกเลย คือ ตรงไหนมีบ่อน้ำมัน ก็ให้ท้องถิ่นตั้งโรงกลั่นน้ำมันตรงนั้น แล้วเราจะได้ผลผลิตมากกว่าน้ำมันดีเซล และเบนซิน ก็คือแก๊สแอลพีจี แก๊สหุงต้ม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้ฟรีครับ
ตรงนี้จะทำให้ประชาชนมองเห็นโอกาสว่า เราน่าจะมาเรียนรู้ทำโรงกลั่นน้ำมัน ทำแท่นขุดเจาะ และบริหารกันเองดีไหม ประเทศไทยมีบ่อน้ำมัน 6,500 หลุม ประเทศไทยมี 8,000 อบต. อาจส่งตัวแทนมาเลยว่าอบต.และเทศบาลคุมบ่อน้ำมัน 1 หลุม ซึ่ง1 หลุมน้ำมันเทียบเท่ากับผลผลิตของการทำนาข้าว 1 ล้านไร่ เพราะ ณ เวลานี้ข้าวราคาตกต่ำ ต้นทุนผลิตสูง ชาวนาเอากำไรแค่ไร่ละพันบาท ดังนั้น1 ล้านไร่ก็คือ 1 พันล้านบาท ส่วนบ่อน้ำมัน 800 บาร์เรลต่อหลุม บาร์เรลละ 3,000 ก็ตกวันละ 2.4 ล้านบาท เอาไปคูณ 365 วันก็ออกมาประมาณ 800-900 ล้านบาท เทียบเท่ากับการปลูกข้าว 1 ล้านไร่ ผมให้เห็นตัวเลขเปรียบเทียบอย่างนี้
นอกจากนั้น นักศึกษาด้านนิติศาสตร์เคยให้ข้อเสนอผมมาว่า ความจริงกระทรวงพลังงานไม่ต้องมีเลยก็ได้ คือให้ยุบกระทรวงพลังงาน และทำการบัญญัติกฎหมาย โดยให้มีผู้ตรวจการณ์พลังงานโดยตรง ประชาชนสามารถร้องเรียนกับผู้ตรวจการได้ ซึ่งผมเห็นด้วยกับวิธีนี้ กระทรวงพลังงานยุบมาเหลือแค่ระดับกรมก็พอ มีหน้าที่ในการให้ข้อมูลข่าวสาร แต่ไม่ต้องมาบริหารงานใดๆ ทั้งสิ้นแล้ว
ณ วันนี้ พอท่านนายกฯ มาขึ้นราคาแก๊สน้ำมัน รัฐจะให้สัมปทานปิโตรเลียม ต่างชาติเขามองเห็นแล้วว่าคลังสมบัติของประเทศชาติ กำลังจะถูกปล้นโดยต่างชาติ ไม่มีใครเขามองว่าเศรษฐกิจไทยดีเลยครับ มีแต่กำลังซื้อหดหาย ไม่มีใครมาลงทุน เพราะฉะนั้น ท่านแก้ปัญหาไม่ตรงจุด
ถ้าอย่างนั้นประเทศไทยควรแก้ไขอย่างไรจึงจะตรงจุด
แก้ปัญหาตรงจุดก็ต้องอย่างผู้นำอดีตเวเนซุเอลา “ฮูโก ชาเวซ” หรือผู้นำโบลิเวีย “อีโว โมราเลส” เขาปฏิวัติพลังงาน ออกกฎหมายเลยว่า ให้เรียกเก็บค่าภาคหลวง 80% ของน้ำมัน เมื่อก่อนประเทศเวเนซุเอลาก็เหมือนประเทศไทยที่ได้ค่าภาคหลวงกว่า 10% ต่างชาติได้กำไรกอบโกยกันมหาศาล แต่พอเขาเรียกเก็บค่าภาคหลวง 70-80% ก็ปฏิวัติน้ำมันจากราคา 40 บาทเหลือ 4 บาทเอง แล้วพอรัฐและทหารเข้าไปตรวจสอบบ่อน้ำมันทุกหลุม ปรากฏว่าความจริงน้ำมันไม่ได้น้อย มันมีเยอะ
หรือเราอาจจะทำระบบการตรวจสอบน้ำมันทุกหลุม ถ้าเป็นอเมริกาเขาเรียกระบบ Two-way Communication หมายถึงน้ำมันทุกหลุมเข้าศูนย์รวมไว้ที่ส่วนกลางเรียลไทม์ ทุกนาทีน้ำมันขึ้นมาจากหลุมไหนแหล่งไหนเขาจะรู้หมด อันนี้เป็นแบบเดียวของประเทศซาอุดีอาระเบีย เขาใช้วิธีนี้ แม้กระทั่งระบบน้ำประปา และไฟฟ้า ในประเทศอเมริกา คนกว่า 300 ล้านกว่าคน หรือประมาณเกือบ 100 ล้านครอบครัว ใช้น้ำไปเท่าไหร่ ทุกมิเตอร์จะขึ้นเห็นที่จอภาพของรัฐบาลเลย หรือส่วนกลางใช้ไฟฟ้าเท่าไร วันนี้เท่าไร เห็นหมดเลย แต่ของประเทศไทยไม่บอก มาสรุปเป็นรายเดือน และเป็นข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง นี่คือปัญหาในเรื่องของระบบการตรวจสอบบกพร่อง อันนี้เฉพาะในเรื่องของแหล่งน้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ
ข้อเสนอของผม คือ ขอให้ตรวจสอบทุจริตก่อนที่จะมาเปิดสัมปทานที่ 21 เพราะหากมีการตรวจสอบแล้ว คนไทยจะได้มีน้ำมันใช้ แล้วถ้าบริหารจัดการเองแบบใหม่ ตรงไปตรงมา ประเทศไทยจะมีน้ำมันใช้ในราคาไม่เกิน 19 บาท เหมือนกับมาเลเซียที่เวลานี้ดีเซล 16 บาท เบนซิน 19 บาท เพราะความจริงน้ำมันของไทยเราก็มีมาก จนไม่ต้องนำเข้าเลย
ทุกวันนี้ผมคิดว่าปัญหาการฉ้อฉลพลังงานไทย วิกฤตชาติด้านความมั่นคง หนักหนาสาหัสกว่าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาก เหตุเพราะผู้มีอำนาจฝ่ายบริหาร บริหารงานบกพร่องในกิจการพลังงานตั้งแต่นโยบาย รวมถึงผู้มีอำนาจบริหาร มีองค์ความรู้ที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อการปฏิรูปพลังงานเลย และนี่คือกุญแจสำคัญของวิกฤตพลังงานแห่งชาติของวันนี้ครับ
ภาพโดย พลภัทร วรรณดี