xs
xsm
sm
md
lg

เอกซเรย์ 14 คีย์แมน “สภาปฏิรูปด้านพลังงาน” พบสาย ปตท.-ทุนพลังงาน-อุตฯ ยึดเกือบหมด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการ – เจาะประวัติสมาชิกสภาปฏิรูปด้านพลังงานทั้ง 14 คน พบกลุ่มทุนพลังงาน - อุตสาหกรรม ปตท. ยึดเกือบหมด เข็มทิศชี้อนาคตพลังงานหลังยุค คสช. ไม่น่าจะข้ามพ้นกลุ่มเดิม

นับวันกระแสตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องพลังงานของประชาชนมีมากขึ้นจนกลายเป็นประเด็นร้อนแรงระดับชาติขึ้นมาทันที โดยเฉพาะกระแสความเคลื่อนไหวคัดค้านการที่รัฐบาล โดยกระทรวงพลังงานอนุญาตให้เปิดสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 จำนวน 29 แปลงทั้งบนบกและในทะเล ซึ่งมีระยะเวลารวมเบ็ดเสร็จไม่ต่ำกว่า 35 ปีนับจากนี้ ถึงขนาดที่ว่าหากรัฐบาลไม่ยอมชะลอเรื่องนี้เอาไว้ก่อน จะมีการออกมาชุมนุมประท้วง

ทำให้ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี ต้องสั่งให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าไปถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงานภายในเวลา 2 เดือน แล้วนำความเห็นที่ได้มาเสนอรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง

วันนี้ ASTVผู้จัดการ จึงพาไปรู้จักสภาปฏิรูปด้านพลังงานทั้ง 14 คน ประวัติความเป็นมาแต่ละคน โดยทั้งหมดถือเป็นกลไกสำคัญที่จะชี้ชะตา อนาคตด้านพลังงานของประเทศไทย

1. ดร.ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ อดีตผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย มาจากสายบริษัทพลังงานโดยตรง โดยในปี 2521 เมื่อครั้งมีการก่อตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. ขึ้นนั้น ได้รับการเชิญชวนจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นให้เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ปตท. คนแรก ซึ่งในฐานะผู้ว่าการ ปตท. คนแรก

นอกจากนี้ เมื่อครั้งคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ก่อตั้ง บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ขึ้นเพื่อทำหน้าที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งในและต่างประเทศ ดร.ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ เป็นคนแรกที่ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ / กรรมการอิสระ/ กรรมการตรวจสอบ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น นอกจากนี้ยัง เคยเป็นที่ปรึกษาอาวุโส บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอลและที่ปรึกษาคณะกรรมการบริษัท บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม

2. นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน มาจากสายบริษัทพลังงานโดยตรง ประสบการณ์การทำงานด้านพลังงาน เคยเป็นวิศวกรปิโตรเลียม ระดับ 8/9 วช. กรมทรัพยากรธรณี/กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร ขององค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย เป็นผู้อำนวยการสำนักวิชาการ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงพลังงาน รักษาการหัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงพลังงาน รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติรองปลัดกระทรวงพลังงาน (12 ธ.ค.2549 – 21 ก.ย.2551) และอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (22 ก.ย.2551 – 3 พ.ย. 2553)

ตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบัน เป็นกรรมการบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เคยนั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ทั้งหมด 11 ตำแหน่ง เช่น กรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สมัยนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และยังเป็นโฆษกกระทรวงพลังงาน และเป็นผู้หนึ่งที่ออกมาหนุน ให้กระทรวงพลังงานหนุนเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

3. นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน มาจากสายมาบริษัทพลังงานโดยตรง เป็นอดีตผู้บริหารบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เป็นคอลัมนิสต์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพลังงาน มีคอลัมม์ประจำอยู่ในหลายสื่อ มักพบเห็นเป็นประจำตามงานสัมมนาของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในตัวยืนของ “กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน” ที่มีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นหัวเรือใหญ่

4. นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ในกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนของ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในช่วงรุ่งเรืองสุดขีดของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เคยเป็นหนึ่งคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ ที่มาจากตัวแทนของกระทรวงการคลัง มีข่าวโด่งดังในช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร กรณีประเด็นการโอนเงินของทีพีไอไปให้กับบริษัท ซินเนอจี โซลูชั่น จำกัด และกรณีการขายหุ้นทีพีไอให้กับพันธมิตรของกระทรวงการคลัง ทั้งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนวายุภักษ์ 1 ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์กิจการทางด้านพลังงานและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของทีพีไอในสมัยนั้น

5. นายดุสิต เครืองาม มาจากสายการเมือง มีคอนเนกชันคือเป็นน้องชายคนสุดท้องของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย และที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประวัติการทำงานของนายดุสิต เป็นที่น่าสนใจทางด้านพลังงาน พบว่าเป็นผู้นำการออกแบบ ก่อสร้างโซลาร์รูฟ และเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท ไทยโซลาร์ฟิวเจอร์ จำกัด

ทั้งยังเคยเป็นผู้บริหารระดับสูง เป็นศาสตราจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ อดีตที่ปรึกษานโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้ชำนาญการของคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

6. นายวิบูลย์ คูหิรัญ มาจากสายข้าราชการ เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา และอดีตผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จบการศึกษาระดับ Master of Science (Electrical Engineering) จาก Illinois Institute of Technology สหรัฐอเมริกา ผ่านหลักสูตรหลักประจำ รุ่นที่ ชุดที่ 34 จาก (วิทยาลัยการทัพบก) หลักสูตรปริญญาบัตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ รุ่นที่ 37 จาก วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการเร่งรัดพัฒนาไฟฟ้าชนบท และผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เคยได้รับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากภาคเอกชน เมื่อปี พ.ศ. 2554 ปัจจุบันนายวิบูลย์ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษามูลนิธิโครงการหลวงและประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลโพธาราม จ.ราชบุรี และยังคงติดตามความเคลื่อนไหวในประเด็นพลังงานอย่างใกล้ชิด

7. นายพรายพล คุ้มทรัพย์ มาจากสายนักวิชาการ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงปี 2548 - 2549 เคยทำโครงการวิจัยให้กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีความเชี่ยวชาญในด้านทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาค เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ เศรษฐศาสตร์การพัฒนา และเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เคยเป็นกรรมการอิสระ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในปี พ.ศ. 2550 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วย รมว.พลังงาน ซึ่งตำแหน่งดังกล่าว นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน เป็นผู้เสนอชื่อเอง

8. นายอลงกรณ์ พลบุตร มาจากสายการเมือง อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยในปี พ.ศ. 2551 พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้ง ครม.เงา ขึ้นเป็นครั้งแรก นายอลงกรณ์ พลบุตร ได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ ให้ทำหน้าที่ รองนายกรัฐมนตรีเงา ดูแลตรวจสอบ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงพลังงาน

ในด้านพลังงาน เคยเป็นประธานคณะกรรมการโครงการผลิตแอลกอฮอล์จากมันสำปะหลังและพืชอื่นๆ (โครงการเอทานอล) ปี พ.ศ. 2543 และกรรมการในคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ กันยายน ปี พ.ศ. 2543

9. นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล มาจากสายบริษัทพลังงาน ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ปี 2549 - 2551 เป็น กรรมาธิการและเลขานุการคณะกรรมาธิการพลังงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

สำหรับ นายอนุสรณ์ ถือเป็นลูกหม้อทำงานที่บางจากกว่า 30 ปี หลังจากเรียนจบจากประเทศออสเตรเลียได้เข้ามาทำงานที่บริษัท เอสโซ่ จำกัด ในช่วงเวลาสั้นๆ จากนั้นเข้าทำงานเป็นวิศวกรโรงกลั่นน้ำมันบางจาก จนก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด และดำรงตำแหน่งดังกล่าวมา 2 วาระ วาระละ 4 ปี ครบกำหนด 8 ปีเต็ม

10. พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช มาจากสายทหาร ถือเป็นนายทหารคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงและบทบาทในทางการเมืองเคยเป็นประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภาและยังเคยนั่งเป็นบอร์ด ปตท.สผ. (บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม) มานานถึง 12 ปี

มีแนวคิดทางด้านพลังงานในประเทศว่า ปริมาณสำรองพลังงานในประเทศไม่ได้มีอยู่เยอะก๊าซในอ่าวไทยที่มีการสำรวจได้ มีปริมาณสำรองได้เพียง 6 - 8 ปีเท่านั้น ตอนนี้ต้องเริ่มศึกษาหาพลังงานทางเลือกเพื่อมารองรับการใช้พลังงานของประเทศในอนาคต โดยพลังงานทางเลือกเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้การใช้พลังงานของประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม

11. พล.อ.ประสูติ รัศมีแพทย์ มาจากสายทหารเป็นหนึ่งใน ส่วนของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2557 ซึ่งมีสัดส่วนของอดีตนายทหารเกษียณอายุราชการ จำนวน 31 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายทหารบก จำนวน 21 คน รองลงมาคือทหารเรือ จำนวน 5 คน และทหารอากาศจำนวน 5 คน ตามลำดับ ในอดีตเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

12. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา มาจากสายเอ็นจีโอ เป็นนักรณรงค์ด้านสุขภาพและสิทธิผู้บริโภคผลงานในด้านการเคลื่อนไหวทางสังคม ยับยั้งการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองในการยับยั้งการแปรรูปของ กฟผ. อันนำมาสู่คำสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาแปรรูป กฟผ. ทั้ง 2 ฉบับ [ต้องการอ้างอิง] เป็นหนึ่งในแกนนำฟ้องร้องคดีของบริษัท ปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. จนส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้รับความเสียหายเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท

ถูกตั้งฉายาให้ว่าเป็นแกะดำในกลุ่มสภาปฏิรูปพลังงาน เนื่องจากเป็นแนวหน้าในการเคลื่อนไหวต่อต้านการเปิดสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 เป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย ที่อยู่ตรงข้ามกับกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน” ที่มี นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นหัวเรือใหญ่

13. นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ มาจากสายบริษัทพลังงาน ทำงานให้กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มาอย่างยาวนาน จนได้ขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

14. นายเจน นำชัยศิริ มาจากสายอุตสาหกรรม เคยดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สถาบันบูรณาการพลังงาน


กำลังโหลดความคิดเห็น