xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ปรองดอง”เหลว งัด ม.44 ขู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ประชุมร่วมคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 4 พ.ย.
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ต้องไม่ลืมว่า กลุ่มทหารในนาม “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)” กระทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 นั้น ก็ด้วยเป้าหมายสำคัญอันหนึ่งก็คือการลดความขัดแย้งของคนในชาติเพื่อสร้างความปรองดองแล้วนำไปสู่การปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ

หลังจากการยึดอำนาจไม่กี่สัปดาห์ คสช.ได้จัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) โดยมี “บิ๊กโชย-พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์

การทำงานของ ศปป.ตามแผนการใน “โรดแมป” ขั้นที่ 1 ของ คสช.ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช.ได้แถลงเอาไว้นั้น ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในกรอบระยะเวลา 2-3 เดือน จะทำให้คนไทยตื่นจากฝันร้ายแห่งความขัดแย้งเสียที หลังจากต้องประสพมาตลอด 9 ปีที่ผ่านมา

แผนการปฏิบัติของ ศปป.มีอยู่ทั้งหมด 3 ขั้นตอนคือ

ขั้นที่หนึ่ง เตรียมความพร้อม โดย ศปป.ได้เชิญผู้แทนส่วนที่เกี่ยวข้องจัดตั้งคณะทำงานเพื่อหารือถึงกำหนดกรอบแนวทางในการดำเนินการ โดยมีกอ.รมน.ภาค 1-4 รับหน้าที่จัดตั้ง ศปป. จากนั้นก็กำหนดรวบรวมข้อมูลและแผนการปฏิบัติเพื่อดำเนินการในพื้นที่ที่รับผิดชอบ

ขั้นที่สอง ช่วงเดือนมิถุนายน 2557 ดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายของ ศปป. โดยคณะทำงานส่วนกลางรวบรวมความเห็นในส่วนกลางและจัดทำเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการ ส่วน ศปป.กอ.รมน.ภาค 1-4 รวบรวมความเห็นจากระดับครอบครัว หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัดเพื่อเสนอให้ ศปป.รับทราบ

และขั้นที่สาม เดือนกรกฎาคม 2557 มีการประมวลข้อมูลที่ได้รับนำไปสู่การเสนอแนวทางการปฏิบัติเพื่อประกอบการพิจารณาการแก้ไขปัญหาในภาพรวมต่อไป

ทั้งสามขั้นตอนนี้ เป็นการฟื้นฟูรากฐานความคิดของคนในประเทศชาติให้กลับมามีบรรยากาศของความสามัคคี ทำให้ปรากฏภาพคนไทยรักกัน แตกต่างแต่ไม่แตกแยก คนไทยยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน พลเรือน ตำรวจ ทหารจะช่วยกันสร้างความเข้าใจให้คนไทยยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ช่วยกันจัดกิจกรรมปรองดองสมานฉันท์

รูปธรรมของการ “ปรองดอง” คือการที่แกนนำกลุ่มคนต่างสีมาจับไม้จับมือแสดงความสมานฉันท์ต่อกัน ขณะที่หน่วยราชการนำโดยทหารก็ออกไปจัดแสดงดนตรีคืนความสุขให้คนในชาติตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ นี่คือกิจกรรมสร้างความปรองดองที่ปรากฏให้เห็นในช่วงหลังการรัฐประหาร ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามเป้าประสงค์ของ ศปป. ความสงบสุขที่แท้จริงน่าจะกลับคืนสู่สังคมไทยได้ในไม่ช้า

แต่ภายหลังจากเวลาผ่านไป 5 เดือนเศษ ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “คลื่นใต้น้ำ” ก็ยังคงอยู่

กระแสต่อต้าน คสช.ยังคงมีอยู่ทั่วไปตามสถาบันการศึกษาต่างๆ แกนนำพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงหลายคนยังออกไปเคลื่อนไหวทำลายภาพลักษณ์ของ คสช.อยู่ต่างประเทศ

บรรยากาศในงานศพของ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยและแกนนำคนเสื้อแดง น่าจะเตือนสติ คสช.ได้ดีว่า การป่าวประกาศให้คนในชาติปรองดองกันในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมานั้น ได้ผลเพียงไหน

ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ผู้หลบหนีอาญาแผ่นดินและเป็นต้นตอปัญหาความขัดแย้งทั้งหลายทั้งมวล ยังคงชิงพื้นที่สื่อออกข่าวปลอบประโลมใจคนเสื้อแดงได้อย่างต่อเนื่อง

นี่จึงเป็นสาเหตุให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ต้องปรารภในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 พ.ย.เรื่องการใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อเตรียมรับมือความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช.

มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว พ.ศ.2557 นั้น ระบุว่า “ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักรให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทําการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหารหรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่งหรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดําเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว”

วันที่ 5 พ.ย.นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ปรารภว่าหากมีความไม่สงบเรียบร้อยจะมีมาตรการอะไรรับมือได้บ้าง โดยมีกฎหมายสารพัดที่มีอยู่อย่างกฎอัยการศึก แต่หากไปจนถึงที่สุดจริงๆ ยังมีมาตรา 44 อยู่ มาตราดังกล่าวหัวหน้า คสช.สามารถใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการได้ ถือเป็นการใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์เต็มตัว โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องกระทบกับความมั่นคง แต่ในยุคนี้สามารถใช้ในทางสร้างสรรค์ได้เหมือนกันเพื่อให้เกิดความปรองดอง

ส่วนนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวว่า เนื่องจากหน่วยงานความมั่นคงได้รายงานพบการเคลื่อนไหวกลุ่มต่างๆ ที่มีลักษณะนัดชุมนุม เผยแพร่ข้อมูลลักษณะยุยงให้เกิดความเข้าใจผิด เกลียดชัง ทั้งเรื่องการเมือง และสถาบัน รวมถึงช่วงนี้เข้าสู่ขั้นตอนการปฏิรูป ต้องจัดตั้งกลุ่มต่างๆ นัดพูดคุย รวมถึงการชุมนุมของประชาชนจากความเดือดร้อนต่างๆ 

นายสุวพันธุ์ บอกอีกว่า ด้วยเหตุนี้ทำให้นายกรัฐมนตรีกังวล ได้สั่งให้ติดตามสถานการณ์ เร่งทำความเข้าใจ โดยเฉพาะความไม่สงบที่เกิดจากการแสวงหาผลประโยชน์จากการชุมนุมที่บริสุทธิ์ใจ นี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่อยากให้เกิดขึ้น ไม่ใช่ใช้มาตรา 44 เลยทันที ตีความแรงไปกันเอง จะเริ่มจากเบาไปหาหนักตามกรอบกฎอัยการศึก ทำความเข้าใจกันก่อน ถ้าต้องทำอะไรมากไปกว่านั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในอนาคต มุมมองที่ทำงานข่าวกรองมาก่อน ต้องติดตาม ประเมินในลักษณะระมัดระวัง และสถานการณ์ขณะนี้ทุกการเคลื่อนไหวน่าเป็นห่วงหมด โยงไปหลายเรื่องได้รวมถึงสถาบันหลัก

คำพูดของนายสุวพันธ์เป็นใบเสร็จที่แสดงให้เห็นว่า การดำเนินงานของ ศปป.ในการสร้างความปรองดองลดความขัดแย้งของคนในชาตินั้น ไม่ได้ผลเท่าที่ควร จนสุดท้าย คสช.จะต้องเตรียมมาตรการขั้นเด็ดขาดออกมาใช้

แต่นี่ก็ไม่ใช่การทำงานที่ล้มเหลวของ ศปป. เพราะหากจะเรียกว่าเป็นความล้มเหลว ก็ต้องเป็นความล้มเหลวของ คสช.ทั้งหมด

เป็นความล้มเหลวที่เกิดจากความไม่เข้าใจรากเหง้าที่แท้จริงของปัญหาความขัดแย้ง คสช.จึงแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเพียงแค่ให้ฝ่ายต่างๆ มาทำพิธีกรรมสร้างภาพความสมานฉันท์ซึ่งกันและกัน แต่ไมได้ลงลึกไปถึงแก่นความคิดของแต่ละฝ่ายที่ยังบรรจุด้วยชุดข้อมูลคนละชุด หาก คสช.จะสลายขั้ว สลายสีเสื้อ ลดความขัดแย้งลงอย่างสิ้นเชิง ก็จะต้องทำให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายได้รับข้อมูลอย่างทั่วถึงกัน และต้องกล้าฟันธงความถูกผิด

ความผิดพลาดอย่างร้ายแรงของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็คือการป่าวประกาศ หลังจากรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหมาดๆ ว่า“เราไม่ปิดกั้นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือต้องการกำจัดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทั้งสิ้น”

เพราะคำพูดนี้เอง ที่ทำให้ “คลื่นใต้น้ำ” เกิดอาการได้ใจ เตรียมตัวรอวันฟื้นการเคลื่อนไหวขึ้นมาใหม่

คำพูดที่ดูเท่ของ พล.อ.ประยุทธ์คำนี้ อาจจะดูเหมือนว่าช่วยสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติได้ แต่ความจริงแล้ว มันผิดหลักการที่ว่า ถูกต้องเป็นถูก ผิดต้องเป็นผิด คนที่กระทำผิดและเป็นตัวสร้างปัญหาจะต้องถูกกำจัดออกไป

เมื่อไม่คิดกำจัดใคร ผลสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ต้องเตรียมงัด ม.44 ออกมาใช้ ซึ่งก็เข้าเนื้อตัวเองอีก เพราะถูกตราหน้าว่าเป็นเผด็จการ


กำลังโหลดความคิดเห็น