xs
xsm
sm
md
lg

ร่างรธน.เน้นขจัดคอร์รัปชัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 10.00 น.วานนี้ (6 พ.ย.) มีการประชุมกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม
ทั้งนี้ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสปช. ในฐานะโฆษกกมธ.ยกร่างฯ แถลงหลังการประชุมว่า ได้มีมติรับรองตำแหน่งผู้ที่ผ่านการพิจารณา จากที่ประชุมกมธ. เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ให้มาปฏิบัติหน้าที่รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ จำนวน 6 คน มีทั้งตำแหน่งที่ปรึกษา เลขานุการ และโฆษกฯ รวมทั้งมีมติรับรอง อนุกมธ.ในด้านกระบวนการการทำงาน จำนวน 3 คณะ คือ 1. คณะอนุ กมธ.บันทึกเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และจัดทำจดหมายเหตุ 2. อนุ กมธ.การมีส่วนร่วม และรับฟังความเห็นของประชาชน 3.อนุ กมธ.ประสานเพื่อรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจาก สมาชิกสปช. รวมถึงองค์กรต่างๆ
นอกจากนนี้ ยังได้หารือถึงแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญว่าจะใช้รูปแบบ หรือวิธีการใด ซึ่งโดยเบื้องต้น นายบวรศักดิ์ ได้เสนอแนวทางการยกร่างฯ เป็น 2 ลักษณะ คือ
1. เอารธน.ปี40 และปี 50 มาไล่เรียงทีละหมวด และทีละมาตรา ว่าถ้าส่วนใดไม่มีปัญหา ก็ให้ผ่านไป เหมือนกับการเอารถคันเก่ามาซ่อม มาพ่นสี ยกเครื่อง ให้ได้รถยนต์คันใหม่
2. เริ่มต้นจากศูนย์ ไล่เรียงลำดับความสำคัญในแต่ละหมวด ตั้งแต่หมวดพระมหากษัตริย์ การปกครอง รัฐสภา ครม. องค์กรศาล องค์กรตรวจสอบและสิทธิพลเมือง และ ศาล โดยหยิบประเด็นที่มีปัญหา มาหาแนวทางแก้ไข เพื่อลดความขัดแย้ง นำไปสู่ความปรองดอง ลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ การเมือง สิทธิประชาชน และนโยบายในการบริหารประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องมียาดำสอดแทรกในทุกหมวด ที่เป็นการขจัดการทุจริต คอร์รัปชัน และการประพฤติมิชอบ รวมทั้งต้องมี 10 กลไก ที่กรรมาธิการต้องสร้างขึ้นให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความสมบูรณะ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว (2557 ) มาตรา 35 กำหนดไว้ โดยทั้งหมดนี้ จะนำไปหารือ เวลา 13.30 น. ของวันที่ 11 พ.ย. ไปจนถึงวันที่ 14 พ.ย. โดยหวังว่าในเวลา 3 วันครึ่ง กมธ.จะสามารถออกแบบแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญได้แล้วเสร็จ หากไม่แล้วเสร็จ ก็จะมีการหารือต่อในวันที่ 15 และ 16 พ.ย.
ส่วนข้อเรียกร้องให้มีการทำประชามติ ขอความเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น มองว่า ถ้าหากจะทำประชามติ ต้องใช้เวลา 3-4 เดือน งบประมาณ 3 พันกว่าล้านบาท และต้องขออนุมัติความเห็นชอบจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. และต้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ออกคำสั่งในการทำประชามติ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารัฐบาลต้องการให้ทำประชามติ หากต้องการให้รธน. มีความชอบธรรม เพื่อเป็นเกราะป้องกัน และยันต์กันผี ไม่ให้มีการแก้ไขโดยอ้างเสียงของประชาชน เหมือนรธน.ปี 50
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การยกร่างรัฐธรรมนูญว่า หลักการเขียนกฎหมายที่ดี คือการเขียนสั้นดีกว่าเขียนยาว เนื่องจากอะไรก็ตาม ยิ่งเขียนยาว ความหมายจะยิ่งสั้น เพราะจะนึกว่าจบแค่นั้น บางทีเขียนสั้นๆ แต่ปล่อยให้ตีความ หรือให้เกิดความเข้าใจในกฎหมายลูกจะดีกว่า
"แต่ปัญหาการเขียนกฎหมายแบบสั้น จะก่อให้เกิดปัญหาการทะเลาะกัน เหมือนกับในอดีตที่ผ่านมา ดังนั้นต้องมีกลไกแก้ปัญหาเหล่านี้ไว้ด้วย ผมเคยพูดหลายครั้งแล้วว่า ในเวลาที่ผ่านมาเราไปเขียนลักษณะถ้ามีเรื่องสงสัย หรือตีความ จะต้องเกิดเรื่องก่อน แล้วจึงส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นทางดีควรเขียนเรื่องสั้นๆ แต่ต้องเขียนด้วยว่า ถ้ามีปัญหาสงสัยสามารถส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญก่อนได้ โดยไม่ต้องมีเรื่อง เช่น เรื่องนายกฯ มาตรา 7 มีได้หรือไม่ได้ ก็เกิดความท้ายทายว่า แน่จริงก็ตั้งนายกฯ มาตรา 7 มาก่อน แล้วจะบอกว่าตั้งได้ ไม่ได้ ซึ่งถ้าตั้งขึ้นมาแล้ว ตั้งไม่ได้ คนตั้งก็ต้องถูกถอดถอน เหมือนกรณีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาฯ ขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้น ต้องมีกลไกมาแก้ปัญหา ส่วนองค์กรที่จะมาตีความ และช่วย จะเป็นศาลหรืออะไรก็ตาม ต้องเป็นองค์กรที่ไว้วางใจว่ามีความเป็นธรรม และตัดสินออกมาได้ดีถูกต้อง" นายวิษณุ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่รัฐธรรมนูญต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ขณะเดียวกัน ยังมีกฎอัยการศึกอยู่ จะแก้ปัญหาอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า อยากให้เข้าใจว่า สถานการณ์ยังไม่เรียบร้อย และยังมีเวลาที่จะดำเนินการ เชื่อว่าเมื่อไปถึงจุดหนึ่ง คนที่เกี่ยวข้องคงมาคิดว่า ถ้าต้องการสร้างบรรยากาศปฏิรูป และการปรองดอง จะมีอะไรบ้างที่จะมาช่วยบรรยากาศตรงนี้
เมื่อถามว่า ถ้ามีกลุ่มผู้เห็นต่าง ทั้งกลุ่ม กปปส. หรือกลุ่มเสื้อแดง จัดเวทีระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอการยกร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาล หรือ คสช. พร้อมจะรับฟังหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โดยสิทธิและเสรีภาพ สามารถทำได้ และอยากสนับสนุนให้ทำ แต่อยากเตือนให้ระมัดระวังด้วย เพราะหลายอย่างที่เราคิดว่าทำได้ แต่เนื่องจากเรามีประกาศกฎอัยการศึกอยู่ โดยประกาศไม่ให้มีการชุมนุมทางการเมือง จึงต้องระวังตรงนี้ แต่ถ้าทำกันแบบเข้าตามตรอก ออกตามประตู ขออนุญาตแจ้งให้ทราบ และไม่ทำอะไรที่ถูกตีความเป็นอย่างอื่นได้ ก็น่าจะทำได้
กำลังโหลดความคิดเห็น