ประชุม สปช.ถกแนวทางรับฟัง ปชช. การทำงานสื่อภายใต้อัยการศึก “เสรี” สงสัยประสาน คสช.ก่อนเปิดเวทีรับฟังความเห็นหรือไม่ ประธาน สปช. แจง อยู่ระหว่างประสาน ย้ำต้องระมัดระวัง ก่อนที่ประชุมพิจารณาตั้ง กมธ.วิสามัญ 5 ชุด ตั้งวิสัยทัศน์ออกแบบประเทศ สร้างภาพลักษณ์เชิงบวก ส่วน กมธ.ยกร่างฯนัดหารือพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองฟังความเห็น
วันนี้ (17 พ.ย.) ในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายเทียนฉาย กีระนันทนท์ ประธาน สปช.เป็นประธานการประชุม ได้มีการหารือของสมาชิกต่อประเด็นแนวทางการรับฟังความเห็นของประชาชนในรูปแบบของเวทีรับฟัง หรือการทำงานของสื่อมวลชนต่อการปฏิรูปในรูปแบบรายการต่างๆ ภายใต้การประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง
น.ส.อรพินท์ สพโชคชัย สมาชิก สปช.อภิปรายว่า การรับฟังความเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อาจมีปัญหาข้อขัดแย้งเกิดขึ้นได้ ดังนั้นสิ่งที่คณะทำงานเพื่อรับฟังความเห็นควรดำเนินการคือกำหนดแนวทางเลือกผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือคู่ขัดแย้ง ที่จะเข้ามารับฟังความเห็นและต้องกำหนดวิธีการสื่อสารกลับไปยังผู้ที่ถูกคัดเลือกให้เข้ามาแสดงความเห็นด้วยโดยเฉพาะประเด็นผลตอบรับ
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปช.ได้สอบถามนายเทียนฉายว่าก่อนที่สปช.จะดำเนินการรับฟังความเห็น ได้ประสานไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือรัฐบาลต่อการพิจารณาแก้ปัญหาที่เกิดจากประกาศ คสช. หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงหรือไม่
ด้านนายเทียนฉายชี้แจงว่า อยู่ระหว่างการประสานไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การทำงานของ สปช.ตามหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดเป็นไปตามกลไกของตนเอง อย่างไรก็ตาม การประสานดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุป จึงไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดใดๆ ได้ตนเข้าใจว่าการทำงานของ สปช.ต่อประเด็นการรับฟังความเห็นดำเนินการไปเร็วกว่าที่ สปช.ตั้ง กมธ.วิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ดังนั้นสปช.ที่ไปจัดเวทีรับฟังความเห็นต้องใช้ความระมัดระวัง
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ตามข้อบังคับการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. 2557ข้อ 84 ได้แก่ 1. คณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่รวบรวมสังเคราะห์ความเห็นต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ จากกรรมาธิการประจำ สปช. 18 คณะ พร้อมประสานงานติดตามความก้าวหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญ รวบรวมประเด็นข้อสังเกตเสนอ สปช. โดยมี กมธ.12 คน แบ่งเป็น สปช.11 คนและ เลขาธิการ สปช.1 คน 2. คณะกรรมาธิการวิสามัญจัดทำวิสัยทัศน์และออกแบบอนาคตประเทศไทย มีหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์เพื่อจัดทำวิสัยทัศน์อนาคตประเทศเสนอต่อ สปช. พัฒนายุทธศาสตร์และแนวทางปฏิรูปด้านต่างๆ มี กมธ.12 คน แบ่งเป็น สปช.7 คน และคนนอก 5 คน
3. คณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มีอำนาจหน้าที่ออกแบบระบบกลไก วิธีการรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนต่อการปฏิรูปและยกร่างรัฐธรรมนูญมีกมธ.ไม่เกิน 30 คน แบ่งเป็น ผู้แทน กมธ.วิสามัญประจำ สปช. 18 คณะๆละ 1 คน ภูมิภาค 4 ภาคๆ ละ 1 คน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เกิน 8 คน 4. คณะกรรมาธิการวิสามัญประชาสัมพันธ์เพื่อการปฏิรูป มีอำนาจหน้าที่สื่อสารทั้งภายในและภายนอกผ่านสื่อบูรณาการเพื่อสร้างภาพลักษณ์บวกและความมั่นใจ พร้อมกำหนดทิศทางการเสนอข่าวความเคลื่อนไหวของ สปช. มี กมธ. 12 คน แบ่งเป็น สปช.(เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชน) 8 คน และคนนอก(เชื่ยวชาญด้านสื่อมวลชน) 4 คน และ 5. คณะกรรมาธิการวิสามัญจัดทำจดหมายเหตุและเจตนารมณ์ในการปฏิรูปของสภา มีอำนาจหน้าที่จัดทำจดหมายเหตุความเป็นมาของการปฏิรูปและบันทึกเจตนารมณ์ในการปฏิรูปของ สปช. ดำเนินการประสานงานติดตามข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญ มี กมธ.จำนวน 10 คน แบ่งเป็น สปช.3 คน ผู้เชี่ยวชาญ5 คน
ภายหลังสมาชิกเสนอความเห็นหลากหลาย นายเทียนฉายให้แต่ละคณะไปหารืออีกครั้ง และสั่งพักการประชุมเวลา 11.10 น. ก่อนประชุมอีกครั้งเวลา 13.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในส่วนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีการนัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญจากพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง โดยวันที่ 18 พ.ย. รับฟังความเห็นจากพรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา วันที่ 19 พ.ย. พรรคชาติพัฒนาและพรรคพลังชล วันที่ 20 พ.ย. พรรคมาตุภูมิ และพรรครักประเทศไทย วันที่ 21 พ.ย. กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) วันที่ 24 พ.ย. พรรคประชาธิปัตย์ โดยทุกพรรคการเมืองเริ่มเวลา 09.30 น. ส่วนวันที่ 25 พ.ย. กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) (09.30 น.) และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (13.30 น.)