โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เผยที่ประชุมสรุปกรอบแนวทางยกร่างทั้งหมดแล้ว ยันยังไม่มีพรรคไหนปฏิเสธคุย แต่เพื่อไทยอาจเลื่อนไปต้น ธ.ค. ส่วนภท.-พลังชลตอบรับแล้ว ด้าน ปชป.มา 24 พ.ย. แย้มอาจให้อนุกมธ.ไปคุย ปัดทำหนังสือให้ คสช.ผ่อนปรนคำสั่ง ชี้สถานการณ์ปัจจุบันต้องปฏิรูปประเทศด้วยการแก้ความเหลื่อมล้ำ
วันนี้ (14 พ.ย.) ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีการแสดงความเห็นในการวางกรอบแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญภาคที่ 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง ในหมวด 1 ระบบผู้แทนที่ดี และผู้นำการเมืองที่ดี หมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หมวด 5 การคลังและการงบประมาณรัฐ หมวด 6ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมืองและประชาชน หมวด 7 การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น และภาค 3 นิติธรรม ศาลและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนกรอบแนวทางการยกร่างภาคที่ 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง กรรมาธิการมีมติยกให้เป็นเรื่องของอนุกรรมการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญคณะที่ 9 และคณะที่10 ที่จะทำการศึกษาเกี่ยวกับการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมและการสร้างความปรองดองไปพิจารณาแล้วนำมาเสนอกรรมาธิการต่อไป ดังนั้นจึงถือว่าขณะนี้กมธ.ยกร่างได้ข้อสรุปถึงกรอบแนวทางการยกร่างทั้งหมดแล้ว อย่างไรก็ตามสำหรับคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ 10 คณะ ขณะนี้ได้ตั้งบุคคลที่จะเป็นอนุกรรมาธิการในแต่ละคณะอย่างไม่เป็นทางการแล้วเหลือเพียงแต่การจัดทำคำสั่งคาดว่าอย่างช้าจะออกมาในวันที่ 17 พ.ย.นี้
นายคำนูณ กล่าวถึงความคืบหน้าในการเชิญพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองมาให้ข้อมูลกับกรรมาธิการฯ ว่า ยังไม่มีพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดปฏิเสธ โดยอยู่ระหว่างการประสานซึ่งอาจมีการเลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงวันเวลาได้ เช่นเดิมในวันจันทร์ 17 พ.ย.ที่จะมีการนัดหารือกับพรรคเพื่อไทยก็จะมีการเลื่อนออกไปก่อน โดยมีแนวโน้มว่าจะเลื่อนเป็นต้นเดือนธันวาคม ยืนยันว่าจากการประสานภายในแม้จะพรรคจะยังไม่มีท่าทีตอบรับหรือปฏิเสธแต่ก็เป็นไปในเชิงบวก ซึ่งทางพรรคอาจมีปัญหาในทางเทคนิคบางประการ โดยอยากจะหารือหรือประชุมเป็นการภายในก่อน รวมทั้งผู้ใหญ่ของพรรคติดภารกิจ จึงจำเป็นต้องเลื่อนการให้ข้อเสนออกไป ส่วนพรรคที่ตอบรับเป็นหนังสือมาแล้วคือ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังชล ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์การประสานเป็นการภายในว่าจะมาให้ความเห็นกับกรรมาธิการฯในวันที่ 24 พ.ย.นี้
“การที่พรรคเพื่อไทยจะเลื่อนไปให้ความเห็นเดือนธันวาคมก็ไม่กระทบต่อตารางเวลาที่เรากำหนดไว้ว่าจะรับฟังความคิดเห็นระหว่างวันที่17 - 25 พ.ย. เพราะเราก็เห็นใจและเข้าใจ เขาอาจติดปัญหาภายในบางประการ ซึ่งถ้าพรรคเพื่อไทยมาให้ข้อเสนอในช่วงต้นเดือนธันวาคมก็ยังอยู่ในกำหนดของตารางงานเพราะเรากำหนดไว้ว่าวันที่ 19 ธ.ค.จะเป็นการสรุปความเห็นกรอบเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอให้กรรมาธิการฯเพื่อเริ่มดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 20 ธ.ค. เป็นต้นไป ฉะนั้นหากพรรคเพื่อไทยมาให้ความเห็นก่อนวันที่19 ธ.ค. ก็จะเป็นเรื่องดีแต่หลังจากนั้นเราก็ไม่ได้ปิดกั้นหรือแม้ถ้าเขาไม่มาให้ข้อเสนอแนะเราก็อาจจะใช้วิธีติดตามความเห็นที่ผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งส่วนตัวเห็นว่าอนุกรรมาธิการฯ รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญก็อาจจะไปพบหารือกับกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่ไม่สะดวกมาพบกับกรรมาธิการฯก็ได้" นายคำนูณ กล่าว
เมื่อถามว่าการที่พรรคเพื่อไทยเลื่อนการให้ข้อมูลถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสัญญาณร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ราบรื่นหรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า กรรมาธิการคิดเชิงบวกและต้องยอมรับว่า สถานการณ์ปัจจุบันเป็นความยากลำบากเพราะการยกร่างทำขึ้นหลังมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งมีกลุ่มการเมืองที่ไม่เห็นด้วย แต่กรรมาธิการทุกคนไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วได้ จึงพยายามพูดคุยกับทุกฝ่าย อย่างกปปส.แม้จะยังไม่มีหนังสือตอบรับมาอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการให้สัมภาษณ์ในทำนองตอบรับยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองใด และกลุ่มใดปฏิเสธอย่างเป็นทางการ
นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า แม้ทางกรรมาธิการอยากจะรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มการเมืองต่างๆ แต่ก็คงจะไม่ทำหนังสือไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อให้ผ่อนปรนประกาศคสช.ที่ห้ามพรรคการเมืองชุมนุมทางการเมือง หรือจัดกิจกรรมทางการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองมีการประชุม เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้กรรมาธิการมีหน้าที่เพียงยกร่างรัฐธรรมนูญ และกำหนดให้กรรมาธิการฯ ต้องรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ประชาชน ซึ่งเราเข้าใจดีว่าบางครั้งก็มีอุปสรรคติดขัด แต่ท่าทีของผู้ใหญ่ในคสช.เกี่ยวกับการเชิญกลุ่มการเมืองมาให้ความเห็นก็ระบุว่าเป็นสิ่งที่กระทำได้ รวมทั้งหากไม่แน่ใจพรรคการเมืองก็สามารถหารือไปยังคสช.ได้ จึงเห็นว่าไม่ใช่อำนาจของกรรมาธิการที่จะไปทำหนังสือให้คสช.ผ่อนปรน
“จากการอภิปรายเกี่ยวกับกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญของกรรมาธิการในช่วง 2 - 3 วันที่ผ่านมาทั้งหมดเห็นร่วมกันว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องการปฏิรูปทางเมืองเท่านั้น แต่อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเห็นว่าประเด็นสำคัญที่จะตอบโจทย์นี้ได้ก็คือ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม การเมือง เราจึงได้มีการกำหนดไว้ในภาค 4 เรื่องความเหลื่อมล้ำ และการสร้างความเป็นธรรม และความปรองดองไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะมีการยกร่าง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้”นายคำนูญ กล่าวย้ำ