xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.วาง 2 แนวทางร่าง รธน.ปะผุ ยกเครื่องปี 40 และ 50 หรือทำใหม่ทั้งฉบับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.เลิศรัตน์  รัตนวานิช (แฟ้มภาพ)
คณะกรรมาธิการยกร่าง รธน.ประชุมนัดแรก ตั้งอนุ กมธ.3 คณะทำหน้าที่ประสาน คสช.-ครม.-สปช.-สนช. พร้อมวางแนวทางร่าง รธน. “บวรศักดิ์” เสนอ 2 ลักษณะ เอา รธน.ปี 40 และ 50 มาซ่อมปะผุ ยกเครื่องให้ได้รถคันใหม่ หรือเริ่มจากศูนย์-ร่าง รธน.ขึ้นใหม่ หยิบประเด็นที่มีปัญหามาแก้ไขลดความขัดแย้ง นำสู่ความปรองดอง ขจัดคอร์รัปชัน สร้าง 10 กลไกให้ รธน.มีความสมบูรณ์ เสร็จแล้วทำประชามติเพื่อเป็นเกราะป้องกันไม่ให้มีการรื้อในภายหลัง

ที่อาคารรัฐสภา วันนี้ (6 พ.ย.) มีการประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม จากนั้น เวลา 12.00 น. พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีมติรับรองตำแหน่งผู้ที่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุม กมธ.เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ให้มาปฏิบัติหน้าที่รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ จำนวน 6 คน มีทั้งตำแหน่งที่ปรึกษา เลขานุการ และโฆษก กมธ. รวมทั้งมีมติรับรองอนุ กมธ.ในด้านกระบวนการการทำงาน จำนวน 3 คณะ คือ 1. คณะอนุ กมธ.บันทึกเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และจัดทำจดหมายเหตุ 2. อนุ กมธ.การมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นของประชาชน และ 3. อนุ กมธ.ประสานเพื่อรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจาก สมาชิก สปช.รวมถึงองค์กรต่างๆ โดยอนุ กมธ.ทั้ง 3 ชุดจะทำหน้าที่ประสานงาน กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สปช. คณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยตลอด ในช่วงที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทางอนุ กมธ.จะเปิดให้องค์กรทั้ง 4 ได้เสนอข้อมูล และเมื่อทำการยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ทาง กมธ.จะส่งร่างนั้น ให้องค์กรข้างต้นพิจารณาซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า สำหรับการประชุม กมธ.ยกร่างฯ นัดแรกในวันนี้ ที่ประชุมได้พูดคุยและถกแถลงถึงแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญว่าจะใช้รูปแบบหรือวิธีการใด ซึ่งโดยเบื้องต้น นายบวรศักดิ์ ได้เสนอแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญออกเป็นสองลักษณะ คือ 1. เอารัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 มาไล่เรียงทีละหมวดและทีละมาตราว่า ถ้าส่วนใดไม่มีปัญหาก็ให้ผ่านไป เหมือนกับการเอารถคันเก่ามาซ่อม เปลี่ยนเครื่องยนต์ มาพ่นสี ยกเครื่อง ให้ได้รถยนต์คันใหม่

2. เริ่มต้นจากศูนย์ ไล่เรียงลำดับความสำคัญในแต่ละหมวด ตั้งแต่หมวดพระมหากษัตริย์ การปกครอง รัฐสภา ครม. องค์กรศาล องค์กรตรวจสอบ และสิทธิพลเมือง และศาล โดยหยิบประเด็นที่มีปัญหามาหาแนวทางแก้ไข เพื่อลดความขัดแย้ง นำไปสู่ความปรองดอง ลดความเลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ การเมือง สิทธิประชาชน และนโยบายในการบริหารประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมียาดำสอดแทรกในทุกหมด ที่เป็นการขจัดการทุจริต คอร์รัปชัน และการประพฤติมิชอบ รวมทั้งต้องมี 10 กลไกที่กรรมาธิการฯ ต้องสร้างขึ้นให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความสมบูรณ์ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว (2557) มาตรา 35 กำหนดไว้ โดยทั้งหมดนี้จะนำไปหารือเวลา 13.30 น.ของวันที่ 11 พ.ย.ไปจนถึงวันที่ 14 พ.ย. โดยหวังว่าใน 3 วันครึ่ง กมธ.จะสามารถออกแบบแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญได้แล้วเสร็จ หากไม่แล้วเสร็จก็จะมีการหารือต่อในวันที่ 15 และ 16 พ.ย.

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า หลังจากที่ได้แนวทางในการร่างรัฐธรรมนูญแล้วว่ารัฐธรรมนูญมีกี่หมวด ก็จะให้มีการตั้งอนุ กมธ.ขึ้นมารับผิดชอบในแต่ละเรื่อง ซึ่งอาจมี 10 ถึง 15 อนุ กมธ. อย่างไรก็ตาม ระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นควบคู่ทุกฝ่าย รวมถึงกรณีพรรคการเมือง และกลุ่มการเมือง ก็จะมีการไปพบ หรือให้เสนอข้อมูลกลับมายัง กมธ. คาดว่าจะมีการหารือ 2-3 ครั้ง

ส่วนข้อเรียกร้องให้มีการทำประชามติขอความเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มองว่า ถ้าหากจะทำประชามติต้องมีการใช้ระยะเวลา ในการดำเนินการ 3-4 เดือน งบประมาณ 3 พันกว่าล้านบาท และต้องขออนุมัติ ความเห็นชอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช.และต้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ออกคำสั่งในการทำประชามติ และเชื่อว่ารัฐบาลต้องการให้ทำประชามติ หากต้องการให้รัฐธรรมนูญมีความชอบธรรม เพื่อเป็น เกราะป้องกัน และยันต์กันผี ไม่ให้มีการแก้ไขโดยอ้างเสียงของประชาชนเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2550


กำลังโหลดความคิดเห็น