xs
xsm
sm
md
lg

ตร.เมินชี้แจงซ้อมผู้ต้องหา กสม.เตรียมใช้กม.เรียกตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 3 พ.ย.) คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง ในสำนักงานคณะกรรมการการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มี น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) เป็นประธาน ได้มีการประชุมนัดที่ 4 เพื่อพิจารณากรณี มีการร้องเรียนให้ตรวจสอบว่า 2 ผู้ต้องหาฆ่านักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ถูกซ้อมทรมานให้รับสารภาพ โดยการประชุมครั้งนี้ ชุดสืบสวนสอบสวนที่เข้าทำคดีนี้ และทางอนุกรรมการได้มีหนังสือไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอให้มาให้ข้อมูล ยังคงไม่เดินทางมาชี้แจง แต่ทางสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาร์ ประจำประเทศไทย ได้ส่งเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยนายโท โท ไทด์ นางเม เต้น บิดา-มารดา ของนายวินซอทู และนาง พิว เฉ นุ มารดาของ นายซอลิน 2 ผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมสองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี และ นายสุรพงษ์ กองจันทึก หัวหน้าคณะทำงานช่วยเหลือผู้ต้องหาคดีเกาะเต่า ของสภาทนายความ ได้เข้าให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมการ
นพ.นิรันดร์ กล่าวภายหลังการประชุมอนุกรรมการ ว่า ได้รับการยืนยันจากตัวแทนสถานทูต และพ่อ แม่ ผู้ต้องหาว่า ผู้ต้องหาถูกใช้
ความรุนแรง บังคับขู่เข็ญ และซ้อมทรมาน เพื่อให้รับสารภาพ ซึ่งที่ผ่านมาได้พยายามประสานกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาตลอด ขอให้มาชี้แจง
ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 โดยพล.ต.ท.วัฒนา สักกวัตร จเรตำรวจแห่งชาติ ได้มีหนังสือชี้แจงมาว่า ขณะนี้การสืบสวนสอบสวนในคดีเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการและศาล หากมาให้ข้อเท็จจริงกับหน่วยงานอื่น อาจมีผลต่อรูปคดี และอาจมีผลกับผู้เสียหายได้ ประกอบกับอนุกรรมการฯ มีหนังสือไปถึง เมื่อวันที่ 29 ต.ค.เพื่อให้มาชี้แจงในวันดังกล่าว จึงเป็นระยะเวลากระชั้นชิด ไม่สามารถเตรียมข้อเท็จจริงมาชี้แจงได้ จึงขอเลื่อนการชี้แจง ซึ่งทางอนุกรรมการฯ เห็นว่าข้ออ้างเรื่องความกกระชั้นชิดนั้น ฟังไม่ขึ้น และที่อ้างว่าการมาให้ข้อมูลอาจมีผลต่อรูปคดี ยืนยันว่า อนุกรรมการฯ ตรวจสอบแค่เรื่องการซ้อมทรมาน การใช้อำนาจรัฐที่เกินเลย ไม่ได้ต้องการรู้ดีเอ็นเอ สภาพศพ ไม่ได้ตรวจสอบว่าใครถูก ใครผิด ถ้าตำรวจมาแล้วบอกว่าเรื่องนี้ตอบไม่ได้ อนุกรรมการก็จะไม่ถามต่อ ดังนั้นการที่เชิญมาให้ข้อมูล จึงไม่เกี่ยวกับสำนวนคดีแต่อย่างใด แต่การซ้อมทรมาน ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และตามหลักกฎหมาย ตราบใดที่ศาลฎีกายังไม่พิพากษา ก็ยังต้องถือว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งหลักการสอบสวนแนวใหม่ มีหลายวิธีที่ทำให้ผู้ต้องหาสารภาพได้ ไม่จำเป็นต้องซ้อมทรมาน อีกทั้งยังมีอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือ ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ที่รองรับโดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 4 ว่าด้วยการรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของชาวไทย ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาดังกล่าว แล้วก็ต้องปฏิบัติตาม
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า หากตำรวจมาให้ข้อมูลต่ออนุกรรมการ จะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของตำรวจมากกว่า เพราะจะทำให้สังคมรู้ว่า ตำรวจไทยทำงานอย่างเปิดเผย ตรวจสอบได้
" เรื่องนี้มีคนร้องมาที่กรรมการสิทธิฯ ก็ต้องตรวจสอบตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ถ้าไม่ทำ ผมก็โดน ม.157 ได้ ผมไม่ใช่คนละอ่อน ไม่ใช่เด็ก ป.4 แต่อายุ 64 แล้ว เป็นข้าราชการก็เกษียณแล้ว เคยเป็นส.ว.มา 4 ปี เป็น กสม.มา 5 ปีแล้ว รู้ดีว่าอะไรควร ไม่ควร ซึ่งเราต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แรงงานต่างด้าวก็ด้วย ไม่เช่นนั้นหากบ้านเมืองเราไม่เป็นธรรม ก็ไม่มีใครเข้ามาทำงาน กสม. ก็ไม่ได้มองว่าตำรวจเป็นจำเลย หรือจะเรียกมากล่าวหา เพียงแต่อยากรู้ข้อเท็จจริง" นพ.นิรันดร์ กล่าว
เมื่อถามว่า สตช.ให้เหตุผลอย่างไรที่ไม่เข้ามาชี้แจง นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ในครั้งแรกสตช.ระบุเหตุผลว่า ตรงกับวันตำรวจแห่งชาติ จึงไม่สามารถเข้ามาให้ข้อมูลได้ และครั้งต่อมาได้เชิญรองผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค 8 เข้ามาชี้แจง ก็ชี้แจงว่า รู้ข้อมูลเฉพาะบนฝั่งไม่ได้ทราบข้อมูลการสอบสวนในพื้นที่เกาะพะงัน ครั้งที่ 3 จึงได้เชิญผู้กำกับ สภ.เกาะพะงัน มาชี้แจง ก็ได้รับการยืนยันว่า หากเป็นชุดสืบสวนของ สภ.เกาะพะงัน นั้นไม่มีการซ้อมผู้ต้องหา แต่ไม่สามารถรับรองได้ว่า หน่วยงานอื่นมีการซ้อมผู้ต้องหาหรือไม่ เนื่องจากสตช.ได้ส่งชุดสืบสวนหลายหน่วยงานมาสอบสวน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล
นอกจากนี้ ตนก็จะนำกรณีที่ตำรวจไม่มาชี้แจงเข้าหารือในที่ประชุมของคณะกรรมการ กสม. ในวันที่ 12 พ.ย.นี้ เพื่อฟังความเห็นจาก กสม.ทั้ง 7 คน ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.กสม. มาตรา 34 หากบุคคลใดไม่ยอมมาชี้แจง กสม.ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามกฎหมายอาญา ก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้
ด้านนายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ในวันเดียวกันนี้ จะนำพ่อ แม่ ของผู้ต้องหาไปร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอให้รับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ เนื่องจากเป็นดดีที่มีความสำคัญ และอาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งจะขอให้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษตำรวจชุดสืบสวน ชุดจับกุม และล่ามแปลภาษา ที่มีการซ้อมทรมานให้ผู้ต้องรับสารภาพในข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกาย เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วย กฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น