xs
xsm
sm
md
lg

“หมอนิรันดร์” เอือมตำรวจเมินแจงผู้ต้องหาพม่าถูกซ้อมทรมาน ไม่แปลกใจผลเอกซเรย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ภาพจากแฟ้ม)
ตำรวจเมินแจงกรรมการสิทธิฯ กรณีผู้ต้องหาพม่าคดีเกาะเต่าถูกซ้อมทรมาน อ้างต้องรออัยการเห็นชอบ “หมอนิรันดร์” ซัดเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะไม่เกี่ยวกับเนื้อหาคดี ไม่ได้สอบว่าใครเป็นคนร้าย มองมุมกลับถือว่าองค์กรไม่ปกป้องคนผิด ไม่อยากใช้อำนาจแจ้งความเอาผิดเกียร์ว่าง เตรียมเชิญอีกครั้ง 3 พ.ย. อีกด้านไม่แปลกใจผลเอกซเรย์ เพราะล่วงเลยมาสิบกว่าวัน ไม่หวั่นข้อเสนอยุบ กสม. ชี้คนไม่พอใจมีปกติ อีกทั้งคนละหน้าที่กับผู้ตรวจการแผ่นดิน

วันนี้ (27 ต.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ให้สัมภาษณ์ว่า จากการที่อนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองฯ ได้เชิญสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้ามาชี้แจงกรณีที่มีการซ้อมทรมานผู้ต้องหาในคดีฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี นั้นแต่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ประสานมาว่ายังไม่พร้อมที่จะชี้แจงข้อเท็จจริง โดยให้เหตุผลว่าการสืบสวนสอบสวนได้ดำเนินการแล้วซึ่งอยู่ในชั้นอัยการ การที่จะมาชี้แจงต่อหน่วยงานอื่นจำเป็นต้องให้ได้รับการเห็นชอบจากอัยการก่อน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้กระทบสิทธิต่อผู้ต้องหา

อย่างไรก็ตาม การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เหตุผลในลักษณะนี้ ถือว่าเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน กสม. ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการซ้อมทรมานของเจ้าหน้าที่รัฐถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นหน้าที่ของ กสม. ที่ต้องตรวจสอบ และถือว่าไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในคดีแต่อย่างใด อีกทั้งตามกฎหมายของ กสม. ได้ให้อำนาจกรรมการหรืออนุกรรมการ เป็นพนักงานและเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ โดยไม่เกี่ยวกับคดีในชั้นอัยการ เพราะตามกฎหมายหากเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการไต่สวนในชั้นศาลเมื่อนั้น กสม. จึงจะไม่สามารถเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงได้เพราะจะกลายเป็นการแทรกแซงศาล

“เราไม่ได้สอบว่าใครเป็นผู้ร้าย เราแค่ตรวจสอบว่าในกรณีนี้มีการซ้อมทรมานผู้ต้องหา และเป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่ เพื่อให้กระบวนการตรวจสอบเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย อีกทั้งเพื่อเป็นการยืนยันว่า การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจไทยเป็นที่เปิดเผย โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพราะสังคมไทยมักไม่เข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบ ชอบคิดว่าจะไปจับผิดหรือไปเปิดเผยข้อมูล แต่เรื่องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิไม่ได้เกี่ยวข้องกับศักดิ์ศรีขององค์กรแต่อย่างใด หากเรื่องนี้มีผู้กระทำผิดจริง ถือว่าองค์กรไม่ปกป้องคนผิด จะทำให้มีศักดิ์ศรีแก่องค์กรมากกว่า” นพ.นิรันดร์ กล่าว

นพ.นิรันดร์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ ทางอนุกรรมการจะทำหนังสือชี้แจงไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยระบุว่า กสม. มีอำนาจในการตรวจสอบเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ โดยไม่เกี่ยวกับเนื้อหาคดีของชั้นอัยการ เนื่องจากเรื่องนี้ยังไม่เข้าข่าย พ.ร.บ. กสม. มาตรา 22 ที่ระบุว่า กสม. จะไม่มีอำนาจในการตรวจสอบคดีเมื่อเข้าสู่ในชั้นศาล นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมาให้ข้อเท็จจริงไม่อยากให้เป็นการฟังความข้างเดียว โดยเราจะเชิญตำรวจมาอีกครั้งในวันที่ 3 พ.ย. เวลา 13.30 น. เพื่อให้การตรวจสอบของอนุกรรมการฯ เสร็จโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ. กสม. มาตรา 34 หากบุคคลใดไม่ยอมมาชี้แจงต่อ กสม.​ กสม. ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ผุ้ปฏิบัติงานตามกฎหมายอาญาก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ แต่เราไม่อยากใช้อำนาจในส่วนนี้ อีกทั้งอาจถูกมองว่าเป็นการข่มขู่ได้ เพราะอยากให้ภาพออกมาเป็นการทำงานร่วมกันมากกว่า เพื่อให้เกิดการยอมรับ

เมื่อถามว่าจากการที่ กสม. ส่งหนังสือไปที่ ผู้บัญชาการเรือนจำ เพื่อขอให้เอกซ์เรย์ ผลการตรวจร่างกายของผู้ต้องหา มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ผลของเอกซ์เรย์พบว่าไม่มีความผิดปกติของกระดูกและปอดที่รุนแรง ซึ่งเราก็คาดการณ์ว่าผลออกมาเป็นเช่นนี้ แต่ในฐานะที่เป็นแพทย์พอได้ยินว่า มีจุดกดเจ็บ เราก็ต้องเอกซ์เรย์เพื่อตรวจสอบความผิดปกติต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาถูกจับกุมในวันที่ 1 ต.ค. และนำไปตรวจร่างกายตามปกติในวันที่ 13 ต.ค. และนำตัวมาเอกเซ์เรย์ในวันที่ 20 ต.ค. ซึ่งจะเห็นว่าระยะเวลาห่างถึง 10 กว่าวันจึงจะพบความผิดปกติได้ยาก

นพ.นิรันดร์ ยังกล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวที่จะมีการยุบองค์กร กสม. เพราะเห็นว่าที่ผ่านมาทำผลงานได้ไม่เป็นที่น่าพอใจ ว่า ต้องถามกลับว่าที่มีคนบอกว่าผลงานที่ไม่เป็นที่น่าพอใจนั้นไม่พอใจใคร ต้องดูที่คนพูดและดูที่เนื้อหา ในฐานะที่เราเป็นองค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชน เราไม่ได้ทำตามความพอใจของใครอยู่แล้ว เพราะเรามีหน้าที่ปกป้องประชาชน การที่จะมีคนที่ไม่พอใจถือว่าเป็นเรื่องปกติ ยิ่งภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองเช่นนี้ย่อมมีคนพอใจและไม่พอใจ อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกต่างให้การยอมรับในการที่จะมีองค์กรมาปกป้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนกรณีที่จะยุบ กสม. ไปรวมกับผู้ตรวจการแผ่นดินเพราะเห็นว่าทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกันนั้น ตนเห็นว่า กสม. และผู้ตรวจการแผ่นดิน มีอำนาจหน้าที่คนละส่วนกัน เพราะ กสม. ทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่ตรวจสอบจริยธรรมต่อเจ้าหน้าที่รัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น